“เฟมเทค” ตลาดใหม่มาแรง ทุนใหญ่บุก…ตอบโจทย์สุขภาพสตรี

สินค้าผู้หญิง
MARKET MOVE

 

เฟมเทค (Femtech) หรือสินค้าบริการที่มุ่งแก้ปัญหาสุขภาพของผู้หญิงโดยเฉพาะ เช่น ชั้นในที่ซึมซับประจำเดือนได้โดยไม่ต้องใช้ผ้าอนามัย บริการให้คำปรึกษาและรักษาปัญหาสุขภาพของผู้หญิงอย่างภาวะหมดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ การมีบุตรยาก และอื่น ๆ กำลังเป็นเทรนด์ใหม่มาแรงในวงการธุรกิจของเอเชียไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ รวมถึงมีแนวโน้มที่จะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น ไทย และฟิลิปปินส์อีกด้วย

โดยบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน คาดว่าภายในปี 2568 หรืออีก 4 ปีตลาดสินค้าและบริการเฟมเทคทั่วโลกจะเติบโตต่อเนื่องจนมีมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.68 ล้านล้านบาท สอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์ที่มองว่า การเติบโตนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในวงการธุรกิจมากขึ้นทั้งในฐานะผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของกิจการ

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานถึงกระแสนี้ว่า แนวโน้มการเติบโตได้ดึงดูดให้บรรดายักษ์ธุรกิจ อาทิ ยูนิโคล่ รวมไปถึงสตาร์ตอัพอีกหลายรายพากันเข้ามาร่วมกระแสหวังชิงเม็ดเงิน

ที่ผ่านมา ฟาสต์ รีเทลลิ่ง บริษัทแม่ของยูนิโคล่ เริ่มนำชั้นในซึมซับประจำเดือนที่สามารถใช้แทนผ้าอนามัยและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ภายใต้แบรนด์ จียู (GU) มาทดลองทำตลาดในญี่ปุ่นเมื่อกลางปีก่อนที่จะนำมาจำหน่ายในแบรนด์ยูนิโคล่ในเดือนกันยายนด้วยราคาไม่ถึง 2,000 เยน หรือไม่ถึง 600 บาท ขณะเดียวกัน ยังเปิด จียู บอดี้แล็บ เพื่อโฟกัสการพัฒนาสินค้าเฟมเทคโดยเฉพาะอีกด้วย

โฆษกของฟาสต์ รีเทลลิ่งระบุว่า ตลอดช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 บริษัทได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้าว่าต้องการสินค้าสำหรับผู้หญิงมากขึ้น

ไปในทิศทางเดียวกับบี-เอ เจแปน (Be-A Japan) สตาร์ตอัพสัญชาติญี่ปุ่นผู้พัฒนาสินค้าเฟมเทค ซึ่งทำยอดจำหน่ายชั้นในซึมซับประจำเดือนราคาถึงตัวละ 7,590 เยน (2,250 บาท) ไปแล้ว 6 แสนตัวในระยะเวลาประมาณ 1 ปี และเมื่อเดือนพฤษภาคมยังสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้ถึง 200 ล้านเยน หรือประมาณ 59 ล้านบาท สะท้อนถึงความต้องการของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นของนักลงทุนในธุรกิจนี้

“ฮารุกะ โมโตฮาระ” ตัวแทนของกลุ่มทุน NOW หนึ่งในผู้ลงทุนในบี-เอ เจแปนกล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจเฟมเทคมาจากการสร้างตลาดใหม่ด้วยสินค้าและบริการที่ผลิตออกมา รวมถึงการดิสรัปต์สินค้าเกี่ยวกับสุขอนามัย เช่น ผ้าอนามัย ขณะเดียวกัน การมีผู้หญิงในตำแหน่งบริหารระดับสูงในภาครัฐและเอกชนมากขึ้น ช่วยสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้ผู้หญิงกล้าออกมาสะท้อนดีมานด์สินค้า-บริการเฟมเทคอีกด้วย

ไม่เพียงสินค้าแต่บริการด้านเฟมเทคก็เป็นที่ต้องการสะท้อนจาก “ยูนิ-ชาร์ม” บริษัทผู้ผลิตสินค้าของใช้ส่วนบุคคล อาทิ ผ้าอนามัย และผ้าอ้อม ที่เริ่มให้บริการจัดสัมมนาเกี่ยวกับสุขภาพของผู้หญิงแก่บริษัทต่าง ๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งปี 2563 ที่เป็นปีแรกมีบริษัทประมาณ 20 แห่งแสดงความสนใจก่อนจะเพิ่มเป็นมากกว่า 50 บริษัทในปีนี้

นอกจากญี่ปุ่นแล้วสิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีธุรกิจเกี่ยวกับเฟมเทคผุดขึ้นและได้รับผลตอบรับที่ดีจนอาจเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของธุรกิจเฟมเทค ตัวอย่างเช่น ฟาร์เน เฮลท์ (Ferne Health) ผู้ให้บริการปรึกษาและคัดกรองปัญหาสุขภาพ ซึ่งรวมถึงภาวะมีบุตรยาก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ฮอร์โมนไม่สมดุล และอื่น ๆ ผ่านทางออนไลน์ ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการกว่า 5,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในวัย 20-40 ปี อีกทั้งยังเตรียมขยายฐานสู่ประเทศไทยและฟิลิปปินส์อีกด้วย

เช่นเดียวกับ “อีส เฮลท์แคร์” (Ease Healthcare) ผู้ให้บริการด้านเทเลเมดิซีนอีกราย ซึ่งเน้นบริการด้านคุมกำเนิด ตรวจการตั้งครรภ์ทั้งการให้คำปรึกษาและการตรวจโดยมีที่ผู้จ่ายเงินใช้บริการแล้วกว่า 10,000 ราย โดย “กัวดาลูเป ลาซาโร” ผู้ร่วมก่อตั้งอีส เฮลท์แคร์ อธิบายถึงสาเหตุของความนิยมนี้ว่า เป็นผลจากอุปสรรคในการเข้าถึงสินค้าและบริการเกี่ยวกับการคุมกำเนิดในสิงคโปร์ ที่แม้แต่จะหาแพทย์ที่สามารถให้คำปรึกษาด้านนี้ได้ก็ยังนับว่ายากมาก โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้หลายคลินิกยกเลิกบริการเกี่ยวกับการคุมกำเนิด เนื่องจากไม่ถือเป็นบริการที่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของกระแสเฟมเทคในแต่ละประเทศอาจช้าเร็วแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายจัดประเภทสินค้าเฟมเทคไว้อยู่ในหมวดใดบ้าง และแต่ละหมวดมีข้อจำกัดในการทำตลาดอย่างไร เช่น ในญี่ปุ่นซึ่งสินค้าเฟมเทคอยู่ในโซนสีเทา ซึ่งยังไม่มีใครชี้ชัดลงไปได้ว่าจะเป็นเครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง หรือยากันแน่ ทำให้มีความยุ่งยากในการทำธุรกิจและทำการตลาด รวมถึงการหาทุน ทั้งนี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีงบประมาณ 2565 หรือเดือนเมษายน 2565