บริหารความกลัว

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
Market-think
สรกล อดุลยานนท์

 

ข่าวใหญ่ของโลกช่วงนี้คงไม่พ้นเรื่องการแปลงกายของไวรัสโควิด เป็น “โอไมครอน” ที่แพร่เชื้อได้เร็วมาก

ทั่วโลกตื่นตระหนกกับการกลายพันธุ์ของ “โอไมครอน” มาก

เพราะเพิ่งฟื้นไข้จากเจ้าเดลต้าได้ไม่นาน

วันนี้มาเจอระลอกใหม่อีก

“ฝันร้าย” เมื่อครั้งก่อนที่หลายประเทศระบบสาธารณสุขล่ม ทำให้พอมีข่าวเจ้า “โอไมครอน” ขึ้นมา

รัฐบาลบางประเทศอย่างเช่น ญี่ปุ่น อิสราเอล ถึงขั้นปิดประเทศไม่ให้ต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเลย

แต่ส่วนใหญ่แค่ปิดประตูไม่รับคนจากประเทศแอฟริกาใต้ และประเทศข้างเคียง

เพราะเป็นต้นกำเนิด “โอไมครอน”

เป็นมาตรการตามหลัก “ปลอดภัยไว้ก่อน”

ผมเห็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นแล้ว นึกถึงคำพูดของ คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ซีอีโอของ “ซีพีเอฟ” ที่พูดในงานสัมมนาของ “ประชาชาติธุรกิจ”

เขาเล่าเรื่องการจัดการองค์กรในช่วงโควิดรุนแรง

คุณประสิทธิ์ใช้คำว่า “การบริหารความกลัว”

ต้องบริหารให้อยู่ในระดับพอดี

ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป

“ซีพีเอฟ” วางระบบการป้องกันในโรงงานอย่างเข้มงวด จนพนักงานรู้สึกว่ามาโรงงานปลอดภัยกว่าอยู่บ้าน

บริหารความกลัวให้พนักงาน “ไม่กลัว” ที่จะมาทำงานในโรงงาน

อย่างกรณีของ “โอไมครอน” ที่ข้อมูลยังไม่ชัดเจน การตัดสินใจ “กลัว” ไว้ก่อนเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

เพราะตอนนี้ผลทางการแพทย์ยังสรุปไม่ได้ว่า “โอไมครอน” นั้นรุนแรงขนาดไหน

วัคซีนที่ฉีดกันตอนนี้เอาอยู่หรือไม่

ที่รู้แน่ ๆ เรื่องเดียว คือการแพร่เชื้อเร็วมาก

เมื่อยังไม่รู้ก็ควรจะกลัวไว้ก่อน เพราะทุกคนยังจำถึงภาพที่เกิดขึ้นในช่วงกลางปีที่ผ่านมาได้ดีว่ามันเลวร้ายเพียงใด

แต่ต้องย้ำกับตัวเองว่าถึงจะกลัว แต่ไม่ควรจะกลัวจนมากเกินไป

เราต้องบริหาร “ความกลัว” ให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม

ระหว่างเรื่องสาธารณสุขกับเศรษฐกิจ

เพราะถ้ากลัวมากไปจนถึงขั้นล็อกดาวน์ เศรษฐกิจก็พังอย่างแน่นอน

ระหว่างที่ข้อมูลยังไม่แน่ชัด และเมืองไทยยังไม่เจอคนติดเชื้อ “โอไมครอน” เราคงต้องฟุตเวิร์กไปก่อน

แต่ต้องเตรียมแผนไว้เลยว่าถ้าเกิดเหตุเลวร้ายขึ้นมา

ระดับไหน จะขยับอย่างไร

อย่างเรื่องการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่งนับ 1 คงต้องประเมินดี ๆ ว่าถึงจุดไหนถึงต้องยอมถอย

เหมือนที่รัฐบาลสิงคโปร์ส่งสัญญาณว่าบางทีอาจต้องถอย 1 ก้าวเพื่อเดินหน้า 2 ก้าว

หรือจะฟุตเวิร์กต่อไปจนข้อมูลชัดเจนก่อน

รัฐบาลและภาคธุรกิจต้องสรุปบทเรียนจากการจัดการปัญหาโควิดในช่วงที่ผ่านมา

เราได้ผ่านจุดที่น่าจะเลวร้ายที่สุดมาแล้ว

เจ็บปวดกันมามาก

รู้ว่าอะไรผิดพลาด

อะไรถูกต้อง

อะไรที่เข้มเกินไปก็ต้องผ่อนลง

อะไรที่ช้าเกินไปก็ต้องเร็วขึ้น

อย่าลืมว่า “ความผิดพลาด” จะมีค่า ถ้าเราสรุปบทเรียนจากความผิดพลาดได้

และไม่ทำผิดอีก

มีคนเคยบอกว่าทำผิดครั้งแรกยังไม่ถือว่าผิด

แต่ถ้าทำผิดเรื่องเดิมเป็นครั้งที่ 2

นั่นคือ “ความผิด” ที่แท้จริง