สามย่านมิตรทาวน์แก้เกมโควิด เปิดแนวคิด 4Rs ปั้นศูนย์กลางไลฟ์สไตล์

สามย่านมิตรทาวน์

“สามย่านมิตรทาวน์” เปิดเกมแก้โจทย์โควิด-19 ชูกลยุทธ์ “Fluid approach” ไหลตามทิศทางการตลาดพลิกวิกฤตสู่โอกาสรับมือธุรกิจรีเทลสุดเดือด พร้อมชูแนวคิด 4Rs ผสาน กิจกรรมการตลาดแบบ real time-เป็นพาร์ตเนอร์กับคู่ค้า-ใช้พื้นที่สร้างประโยชน์-ครีเอตพื้นที่ให้เป็นเดสติเนชั่น-เปิดตัว e-Catalogue with KBTG ก่อนเตรียมกิจกรรมอัดแน่นโค้งท้ายรับเทศกาลปีใหม่ ปั้นศูนย์กลางรองรับลูกค้าหลากไลฟ์สไตล์ในอนาคต

กว่า 2 ปีของศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ที่ต้องเผชิญสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หลังเปิดบริการได้เพียงไม่กี่เดือน ทำให้ทางศูนย์ต้องมีการปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน พร้อมรับมือวิกฤตทั้งจากโควิดและการแข่งขันในธุรกิจรีเทลที่รุนแรงขึ้น

นางสาวธีรนันท์ กรศรีทิพา รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจรีเทล เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) เจ้าของโครงการและผู้บริหารศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมลูกค้าให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมต่าง ๆ ทำให้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สามย่านมิตรทาวน์ต้องเผชิญกับมรสุมเหมือนกับทุก ๆ ผู้ประกอบการ จากการระบาดของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ทำให้ทราฟฟิกหายไป ก็ต้องเข้าใจและยอมรับให้เร็วที่สุด และปรับตัวเพื่อให้ศูนย์สามารถกลับมาได้

“ในช่วงที่วิกฤตโควิดระบาดระลอกแรก สามย่านมิตรทาวน์เพิ่งเปิดให้บริการเพียง 5 เดือน ถือว่าเป็นน้องใหม่ในวงการ และต้องเผชิญวิกฤตในทันที โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมาของสามย่านฯ ถือว่าเจอวิกฤตมาแล้วชนิดที่เรียกว่าแทบครบทุกวิกฤต ไม่ว่าจะเป็น การระบาดของโควิด-19, สถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ทำให้แผนงานในช่วงแรกที่วางไว้จากการทำการตลาด เพื่อดึงทราฟฟิกเข้าห้างที่กำลังไปได้สวย แต่ก็ต้องปิดลงจากการล็อกดาวน์ ซึ่งทุกอย่างก็เหนือความคาดหมายไปหมด ทำให้ต้องมาปรับเปลี่ยนแผนงานใหม่ทั้งหมด”

4rs สามย่านมิตรทาวน์

ชู 4Rs รับมือโควิด

โดยอย่างแรกที่ต้องทำคือ การวิเคราะห์ ตั้งตัวให้ได้ และจะไปได้ก่อน ซึ่งหลังสถานการณ์เริ่มลากยาวไป 2-3 เดือนก็ต้องอยู่ให้ได้ อะไรที่ไม่เคยทำก็ต้องลองทำให้หมดในแง่ของการบริหารศูนย์ ดังนั้นมาร์เก็ตติ้งในศูนย์จะใช้คำว่า flexible หรือยืดหยุ่นไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องปรับวิธีการทำงานแบบกลยุทธ์ “Fluid approach” แบบไหลเป็นน้ำ อะไรเกิดขึ้นใครไปทางไหน บริษัทก็ต้องพร้อมไหลตามทิศทางตลาด เพราะภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ

เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจรีเทล และปรับเปลี่ยนระหว่างช่วงสถานการณ์โควิดพร้อมที่จะเดินหน้าธุรกิจที่อยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง โดยมีแนวคิด 4Rs ที่ประกอบไปด้วย

1.real-time activities การจับเทรนด์ที่น่าสนใจมาพัฒนาเป็นกิจกรรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มผู้ใช้บริการอย่างรวดเร็วเพื่อตอบโจทย์นักช็อป (shopper) จึงนำมาสู่เรื่องของ real-time activities คือ การอิงกระแสต่าง ๆ เช่น กระแสลิซ่ามา, กระแสซีรีส์สควีซเกม ก็จะมีการนำมาทำการตลาดภายในศูนย์ ภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวด

ดังนั้น real-time marketing คือสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของสามย่านฯเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ดังนั้น รูปแบบดังกล่าวคือสิ่งที่ตอบโจทย์ได้ตรงจุดมากที่สุด เป็นการจับกระแสออนไลน์ ลงมาโลกออฟไลน์ ทำให้ขณะนี้ทราฟฟิกกลับมาที่ 70%

“แม้เราจะบอกว่าทุกวันนี้มีออนไลน์ช็อปปิ้ง แต่ออนไลน์ช็อปปิ้งก็ไม่สามารถแทนที่รูปแบบการช็อปปิ้งได้ทุกอย่าง แต่คนก็ต้องปฏิสัมพันธ์กับคน จริง ๆ เทรนด์รีเทลเมืองไทยจะหันไปดึงร้านอาหารเข้ามาในศูนย์ เพื่อดึงทราฟฟิกได้เยอะขึ้น ซึ่งก็สังเกตได้จากช่วงของการคลายล็อกดาวน์ ร้านอาหารคือกลุ่มแรกที่มีคนเข้ามาใช้บริการเต็มแทบทุกร้านในห้าง ซึ่งหากพูดในแง่ของช็อปเปอร์แล้ว คนไม่ได้มองหาแค่ส่วนลด คนมองหาประสบการณ์ที่หายไป นั่นคือคีย์ที่เราจะนำมาใช้ตอบโจทย์นักช็อป”

2.relationship with tenants เน้นความเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้เช่า 2 ปีที่ผ่านมาศูนย์กับผู้เช่าเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ประสบชะตากรรมร่วมกันในการเผชิญมรสุม เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็นผู้เช่ากับลูกค้า ต้องกลายเป็นพาร์ตเนอร์ที่ไม่ใช่เพียงแค่การช่วยเรื่องการลดค่าเช่าเท่านั้น แต่ต้องกลับไปดูเรื่อง wealth being ที่ผู้เช่าของสามย่านมิตรทาวน์มี ตั้งแต่รูปแบบบริษัทขนาดใหญ่ ไปจนถึงร้านค้าผู้เช่าขนาดเล็ก SMEs โดยเข้าไปดูแลตั้งแต่ที่ตรวจวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ ไปจนถึงชุดตรวจ ATK

3.rethink of space utilization การเทิร์นพื้นที่เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน ตอกย้ำคอนเซ็ปต์ Placemaking เรื่องการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ โดยจะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ตามช่วงเวลาต่าง ๆ แบบครบวงจร

4.revamp attractions การให้ความสำคัญกับการครีเอตพื้นที่ให้เป็นเดสติเนชั่น ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการตกแต่งได้ตลอดเวลา ซึ่งจะมีการลงทุนด้านการตกแต่ง เพื่อสร้างความเป็นจุดหมายปลายทางที่ดีให้แก่ลูกค้า เช่น อุโมงค์เชื่อมมิตร ที่สามารถปรับเปลี่ยน ตกแต่งตามเทศกาลต่าง ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ กระตุ้นให้ลูกค้ารู้สึกถึงการต้อนรับจากทางศูนย์

และอีกส่วนหนึ่งคือการให้ความสำคัญกับเรื่องของการก้าวสู่ดิจิทัล โดยเร็ว ๆ นี้ได้เตรียมเปิดบริการรูปแบบใหม่ : e-Catalogue with KBTG ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับด้านการจัดซื้อแบบดิจิทัล ให้ผู้ประกอบการหาของราคาคุณภาพและราคาถูก โดยจะช่วยให้การจัดซื้อง่ายขึ้น ทั้งในส่วนของศูนย์และคู่ค้า

เปิดอีเวนต์ปลุกมู้ดโค้งท้าย

นางสาวธีรนันท์กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ช่วงปีใหม่ที่จะถึงนี้ คาดการณ์ประชาชนส่วนใหญ่จะยังคงจับจ่ายและเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็จะเลือกที่อยู่ในกรุงเทพฯแทน เนื่องจากสถานการณ์ของไวรัสโอไมครอนทำให้บริษัทมีการเตรียมความพร้อมด้านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงทราฟฟิกในช่วงเฉลิมฉลอง โดยในช่วงปลายปีจะมีการเปิดตัว “สามย่านมาร์เก็ตเพลส” เพื่อช่วยเหลือ

รวมถึงดึงร้านค้ายอดฮิตเข้ามาจำหน่ายสินค้า ควบคู่กับการจัดตกแต่งศูนย์ในรูปในบรรยากาศของคริสต์มาสและปีใหม่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการจัดโปรโมชั่นช่วยร้านค้า ผ่านเซลโปรโมชั่นรูปแบบต่าง ๆ ด้วยการจับมือกับร้านค้าทำโปรโมชั่นหม้อสุกี้กับเตาปิ้งย่าง โดยมีการคุยกับร้านอาหาร อาทิ บาร์บีคิวพลาซ่า, เอ็มเคฯ ให้ทางร้านค้าทำเซตพิเศษ เพื่อให้คู่ค้าขายของได้ด้วย ถือเป็นการดูแลคู่ค้าและกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงปีใหม่


ส่วนช่วงปลายปีในอาทิตย์สุดท้ายซึ่งถือเป็นช่วงเพรสทีจซีซั่น บริษัทมีแผนทำอีเวนต์ “ลานนม” ซึ่งเป็นอีเวนต์ที่เป็นจุดเด่นของทางศูนย์ เบื้องต้นขณะนี้อยู่ระหว่างการจับตาดูสถานการณ์และกฎระเบียบของภาครัฐ แต่อาจจะมีการปรับกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างทราฟฟิกภายในศูนย์ โดยก้าวต่อไปของสามย่านมิตรทาวน์มองว่ายังเป็นศูนย์กลางไลฟ์สไตล์อีกหนึ่งแห่งที่สามารถรองรับคนได้กลุ่มใหญ่มากกว่านี้ พอสถานการณ์เริ่มกลับมาปกติก็จะเดินหน้าทำการตลาดแบบเต็มที่ เพื่อรองรับความต้องการ