“วีฟู้ดส์” ชูแผนรับวิกฤตไวรัส ผุดเมนูสุขภาพเจาะดีลิเวอรี่

วีฟู้ดส์

 

“วี ฟู้ดส์” จัดทัพตั้งรับวิกฤตโควิด ระมัดระวังค่าใช้จ่าย เดินหน้าดีเวลอปโปรดักต์ใหม่ ส่งแบรนด์วีฟาร์ม มอร์มีทปูพรมทุกช่องทางขาย ก่อนนำเมนูเข้าจอยต์เวนเจอร์กับร้าน “วีแกนเนอรี-โดมิโน่ส์ พิซซ่า” หวังขยายฐานลูกค้าใหม่ พร้อมเพิ่มน้ำหนักการทำตลาด โฟกัสดีลิเวอรี่ครบวงจร

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ข้าวโพด น้ำนมข้าวโพดแบรนด์วีคอร์น ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแบรนด์วีฟาร์ม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย จากอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น แต่ทุกธุรกิจยังอยู่บนสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความซับซ้อน ดังนั้นผู้ประกอบการไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับช่องทางขายต่าง ๆ

เช่นเดียวกับ “วี ฟู้ดส์” ที่ผ่านมาภาพรวมธุรกิจได้รับผลกระทบจากระบบซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ และมาตรการล็อกดาวน์ทำให้คนออกจากบ้านลดลง กระทบต่อยอดขายลดลงกว่า 30-40% แต่ปัจจุบันทุกอย่างคลายล็อก เริ่มมีการผ่อนปรนให้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ผู้คนออกมาใช้ชีวิตมากขึ้น ทำให้รายได้เริ่มกลับมาเติบโต 12% ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคอย่างหลากหลาย

โดยปัจจุบันบริษัทมีกลุ่มโปรดักต์ ทั้งเรดี้ทูคุก (ready to cook) ภายใต้แบรนด์มอร์มีท แพลนต์เบสฟู้ด หรือโปรตีนจากพืช สามารถนำไปประกอบอาหารเองได้ และกลุ่มเรดี้ทูอีต อาทิ ข้าวโพด, น้ำนมข้าวโพด, ข้าวโพดฝัก, ข้าวโพดคัพ, แห้วพร้อมทาน วางจำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรด ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ คอนวีเนี่ยนสโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ

“แม้สถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้นในช่วงนี้ แต่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในต่างประเทศ ทำให้วิถีชีวิตอยู่บนความเสี่ยง บริษัทต้องหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา แม้ยอดขายเราโตขึ้น 12% ก็จริง แต่อย่าลืมว่าหากมีการระบาดอีกรอบ ก็จะทำให้สินค้าบางรายการ และช่องทางขายกระทบหนักเช่นกัน”

นายอภิรักษ์กล่าวต่อถึงกลยุทธ์และทิศทางปี 2565 ว่า บริษัทต้องระมัดระวังค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม และมุ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาโปรดักต์ใหม่อย่างน้อย 3-5 รายการต่อปี ทั้งแบรนด์วีฟาร์มและมอร์มีท โดย-การออกสินค้าใหม่ หลัก ๆ จะมาจากการวิจัยรีเสิร์ชดูเรื่องคอนซูเมอร์เทรนด์ คอนซูเมอร์อินไซต์ และเทรนด์อาหารโลก

สำหรับการดีเวลอปสินค้าค่อนข้างใช้เวลา หากเป็นกลุ่มสุขภาพ อย่างมอร์มีท ที่ใช้โปรตีนจากพืชเป็นหลักต้องใช้เวลาพัฒนา ให้ความสำคัญในแง่ของสูตร รสชาติและเท็กเจอร์ ทานแล้วต้องคล้ายกับอาหารปกติ อีกด้านต้องเจอกับความท้าทายจากพฤติกรรมผู้คนส่วนใหญ่จะนิยมปรุงอาหาร จึงดูแนวทางการพัฒนาเพื่อให้ผู้บริโภคนำไปปรุงอาหารให้ได้รสชาติลงตัว ตลอดจนต้องมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ ซึ่งบริษัทได้ไปส่งเสริมการปลูกเห็ดแคลงกับเกษตรกรในภาคใต้เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอ

ด้านผลิตภัณฑ์วีฟาร์ม น้ำนมข้าวโพด หลังจากได้รีแบรนด์ตราสินค้าน้ำนมข้าวโพดจากวีคอร์น มาเป็นวีฟาร์ม พร้อมปรับสูตรเพิ่มเนื้อข้าวโพดโดยยังคงจุดขายไม่ผสมแป้ง นมผง และไม่แต่งกลิ่น วางจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ 7-11 ทั่วประเทศ ซึ่งการเปิดตัวสูตรใหม่ทำให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งของบริษัทในตลาดน้ำนมธัญพืชและข้าวโพด ซึ่งปัจจุบันตลาดน้ำนมธัญพืชและข้าวโพดมีมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท ถือว่ายังน้อยเนื่องจากการบริโภคน้ำนมข้าวโพดในเมืองไทยยังไม่มาก เมื่อเทียบกับตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอื่น ๆ

สเต็ปถัดไป สิ่งสำคัญต้องโฟกัสการทำตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ในรูปแบบการผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับกระบวนการทำอาหาร เพื่อโปรโมตสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคให้กว้างขึ้น ล่าสุดได้นำเมนูอาหารเข้าไปจอยต์เวนเจอร์กับร้านวีแกนเนอรี ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายอาหารสุขภาพ โดยกลุ่มคนที่ทานมังสวิรัติและวีแกนจะรู้จักกันดี

อีกทั้งยังเข้าไปพัฒนาเมนูร่วมกับโดมิโน่ส์ พิซซ่า ที่อยู่ภายใต้วาว แฟคเตอร์ ในรูปแบบการลอนช์เมนูพิซซ่าที่ทำจากลาบทอด อาหารจากพืช ควบคู่กับการเพิ่มน้ำหนักช่องทางขายดีลิเวอรี่และอีคอมเมิร์ซ ผ่านไลน์@VFOODS บริการจัดส่งทั่วประเทศ สำหรับปี 2565 ตั้งเป้าเติบโตเพิ่มขึ้น 35% มีรายได้ 220 ล้านบาท

นอกจากการทำตลาดในประเทศแล้ว บริษัทยังได้ส่งออกสินค้าแบรนด์มอร์มีทและวีฟาร์มลาบทอด ไปจำหน่ายผ่านดิสทริบิวเตอร์ในอังกฤษและฮ่องกง ซึ่งอยู่ระหว่างติดต่อตัวแทนจำหน่ายในสิงคโปร์และอเมริกา แต่การทำธุรกิจส่งออกค่อนข้างมีข้อจำกัด จากสถานการณ์โควิด ทำให้ระบบขนส่งและปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์มีต้นทุนสูง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การขยายธุรกิจไปต่างประเทศอาจจะไม่เร็วเท่าที่เราเคยตั้งเป้าหมายไว้