แน่นอก…โละศิลปินยกค่าย RS โฟกัสธุรกิจครีม เติมพอร์ตรายได้

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

เมื่อธุรกิจเพลงที่เคยเป็นสัดส่วนรายได้หลักของ อาร์เอส ลดน้อยถอยลงไปตามสถานการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แม้คนไม่ได้ฟังเพลงน้อยลง แต่เปลี่ยนช่องทางการฟังเพลง ทำให้ อาร์เอส ต้อง ปรับโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างรายได้ สร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจอีกครั้ง

“สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจปี 2561 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการดำเนินธุรกิจของอาร์เอส ที่มีธุรกิจเพลงเป็นธุรกิจหลักมากว่า 35 ปี ด้วยการเริ่มต้นโมเดลธุรกิจใหม่ ตอบโจทย์การทำธุรกิจจากสถานการณ์การแข่งขันและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่บริษัทในระยะยาว

โมเดลธุรกิจใหม่นี้จะเริ่มแข็งแกร่งและมีรายได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2561 โดยธุรกิจสุขภาพ ความงาม ประกอบด้วย 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ มาจีค รีไวฟ์ และ เอส.โอ.เอ็ม จะกลายมาเป็นหัวหอกหลักในการสร้างรายได้ หลังจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทพยายามปลุกปั้นธุรกิจนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตามด้วยธุรกิจสื่อ ประกอบด้วย ช่อง 8 ช่องทีวีดาวเทียม 4 ช่อง และคลื่นวิทยุ คูลฟาเรนไฮต์

“ก่อนจะเริ่มทำธุรกิจใหม่ก็ศึกษา พิจารณาอยู่นานเพราะการเริ่มต้นธุรกิจใหม่มีความเสี่ยง แต่ถ้ายังอยู่ในธุรกิจเดิม ๆ พื้นที่เดิม ๆ ทั้งที่สถานการณ์ทุกอย่างเปลี่ยน น่าจะเป็นความเสี่ยงมากกว่า”

ขณะที่ธุรกิจเพลงที่เคยเป็นรายได้หลักของบริษัท ก็ต้องปรับเปลี่ยนโมเดลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“สุรชัย” ย้ำว่า ธุรกิจเพลงยังเป็นธุรกิจสำคัญของอาร์เอส แต่ต้องปรับตัว จากนี้ไปธุรกิจเพลงของอาร์เอสอาจจะไม่เน้นเรื่องการเติบโตของรายได้ แต่จะเน้นการปรับรูปแบบการบริหารจัดการให้คล่องตัวมากขึ้น

“ธุรกิจเพลงของอาร์เอส ไม่มีอะไรซับซ้อน โดยที่ผ่านมาบริษัทก็พิสูจน์แล้วว่า ธุรกิจเพลง สามารถยืนอยู่ได้ด้วยการนำธุรกิจเพลงมาต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ล่าสุดเตรียมปรับโลโก้ อาร์สยาม ใหม่ เริ่ม 1 ธ.ค.นี้”

ทั้งนี้ อาร์สยาม โฉมใหม่ จะถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “ดนตรีไร้ขอบ” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การสร้างเพลงลูกทุ่งเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นค่ายเพลงที่มีความหลากหลายในทุกแนวเพลง ทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง โดยจะเริ่มคัดเลือกศิลปินเดิมที่อยู่ในค่ายอาร์เอสกว่า 100 ราย ให้เหลือเพียง 30 ราย ซึ่งมีทั้งศิลปินหน้าใหม่ และหน้าเก่า ซึ่งปีหน้าจะเริ่มออกผลงานเพลงใหม่ 40 ซิงเกิล ซึ่งจำนวนผลงานที่ได้ก็ใกล้เคียงกับโมเดลเดิม มีรายได้เท่าเดิมแต่ต้นทุนลดลง เพราะมีการบริหารจัดการที่ดี คล่องตัวขึ้น

“ส่วนศิลปินในสังกัดเดิมที่ไม่ตรงกับแนวทางและนโยบายใหม่ จะเริ่มคืนสัญญา หรือปล่อยให้ศิลปินเป็นอิสระตั้งแต่ปลายปีนี้ ซึ่งมีจำนวนเกือบ 100 คน ส่วนเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินเริ่มงานตามนโยบายใหม่ก็จะเน้นเฉพาะศิลปินที่มีศักยภาพ คือต้องมีสไตล์ชัดเจน ทำได้ทุกอย่าง โดยการปรับธุรกิจเพลงครั้งนี้เรียกว่าเปลี่ยนแค่กลยุทธ์เท่านั้น แต่ธุรกิจเพลงของอาร์เอสยังคงอยู่”

สำหรับปี 2561 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้รวม 5,300 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจสุขภาพความงาม 2,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 47% ธุรกิจสื่อ 2,450 ล้านบาท คิดเป็น 46% ธุรกิจเพลง 250 ล้านบาท คิดเป็น 5% และธุรกิจรับจ้างและจัดกิจกรรม 100 ล้านบาท คิดเป็น 2% ของรายได้รวม

แม้ไม่ได้ปิดฉากธุรกิจเพลงลงเหมือนค่ายเพลงในต่างประเทศ แต่การปรับโมเดลครั้งนี้ก็ทำให้นิยามการเป็นค่ายเพลง ของ อาร์เอส ค่อย ๆ ลดหายไปด้วย