เสน่ห์ผ้า “ครามสกล” สร้างมูลค่าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น

คอลัมน์ Biz ว้าวว!

จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่เกิดจากความตั้งใจในการพัฒนาผ้าย้อมคราม สินค้าพื้นเมืองของจังหวัดสกลนครให้เป็นที่รู้จัก ด้วยการเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพชุมชนกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร แต่เมื่อโครงการดังกล่าวจบลง ทุกอย่างก็หยุดอยู่แค่นั้น ขณะที่โอกาสจากการต่อยอดผ้าย้อมครามสู่ธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ก็ยังถูกซ่อนอยู่

“สกุณา สาระนันท์” ผู้ก่อตั้งผ้าย้อมครามภายใต้แบรนด์ “ครามสกล” เล่าว่า ด้วยพื้นฐานครอบครัวที่ทำงานเกี่ยวกับชุมชนอยู่แล้ว จึงมีโอกาสได้เข้าร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ด้วยการหยิบผ้าย้อมคราม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านขึ้นมาศึกษา พัฒนาและทำการตลาดให้แก่ผ้าย้อมครามภายใต้แบรนด์ “ครามสกล” แต่เมื่อโครงการจบลง ก็ไม่มีใครนำโครงการนี้มาต่อยอดในเชิงธุรกิจ

ด้วยโอกาสที่เกิดขึ้น จึงได้หยิบแบรนด์ “ครามสกล” มาต่อยอดสร้างขึ้นเป็นธุรกิจอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2554 หรือประมาณ 6 ปีที่แล้ว

“ตอนแรกตั้งใจว่าจะหยิบผ้าครามสกลขึ้นมาทำการตลาด ทำให้คนรู้จักสินค้าพื้นเมืองของจังหวัดสกลนครเท่านั้น แต่เมื่อลองศึกษาตลาดไป พบว่าตลาดผ้าย้อมครามยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสนใจสินค้าจากธรรมชาติมากขึ้น ดังนั้นจึงเริ่มนำผ้าย้อมครามมาแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ สร้างความหลากหลาย ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวที่มาจังหวัดสกลนคร”

แม้แบรนด์ “ครามสกล” จะถูกสร้างขึ้นเพียงไม่กี่ปี แต่กว่าที่จะมาเป็นแบรนด์ “ครามสกล” ได้ “สกุณา” บอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อจุดเด่นของผ้าย้อมคราม คือเนื้อผ้าและคุณภาพที่ดี ดังนั้นการรักษาคุณภาพจึงสำคัญ ประกอบกับมีเครือข่ายชุมชนแม่บ้านผ้าย้อมครามจำนวนมากที่ผลิตงานให้กับเรา ซึ่งแต่ละชุมชนก็มีอัตลักษณ์ มีภูมิปัญญาการผลิต การทอผ้าที่แตกต่างกัน ทำให้การดึงเอาอัตลักษณ์ ความโดดเด่นของแต่ละชุมชนออกมานำเสนอก็ต้องคิดแล้วคิดอีก ว่าจะทำอย่างไร ให้คงอัตลักษณ์ผ้าย้อมครามของแต่ละชุมชนไว้ ขณะเดียวกันสินค้านั้นก็ต้องทำให้ถูกใจผู้บริโภคด้วย ดังนั้นจึงต้องทำงานร่วมกับชุมชน และหน่วยงานจากภาครัฐ มหาวิทยาลัยมากขึ้น ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านออกแบบ ผลิตภัณฑ์ เทรนด์สีที่กำลังได้รับความนิยม เป็นต้น เพื่อให้สินค้าที่ออกมาเป็นที่ต้องตา ต้องใจ ผู้บริโภค

“ที่ผ่านมาก็มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรฯเข้ามาช่วยออกแบบสินค้าให้ทันสมัยมากขึ้น ให้ดูเป็นแฟชั่น เช่น ต่างหู เป็นต้น เพื่อตอบไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่และเพิ่มความหลากหลายให้แก่สินค้า”

อย่างไรก็ตาม วันนี้ “ครามสกล” ถือว่ามีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น กระเป๋า เสื้อผ้า ต่างหู เครื่องประดับ หมอน ผ้าคลุมเตียง เป็นต้น จากเดิมที่มีแค่ผ้าคลุมไหล่ ผ้าผืนเท่านั้น ขณะที่ราคาก็มีความหลากหลายเช่นกัน มีราคาตั้งแต่หลักร้อย จนถึงหลักพัน เช่น ผ้าคลุมเตียงราคา 7,000 บาท เป็นต้น รองรับกลุ่มลูกค้าได้กว้างขึ้น

“สกุณา” บอกว่า เป้าหมายต่อไปคือการสร้างแบรนด์ “ครามสกล” ให้เป็นที่รู้จักทั้งตลาดในและต่างประเทศ ด้วยการชูคุณภาพของผ้าย้อมครามที่ได้คัดสรรเส้นใยที่ดีและมีทีมผลิตที่แข็งแรง จากเครือข่ายชุมชนแม่บ้านผ้าย้อมคราม

ขณะเดียวกันก็เตรียมจะแตกแบรนด์ย่อย ๆ ของ “ครามสกล” เพิ่มขึ้นมา เพื่อสร้างความชัดเจนให้แก่สินค้า โดยปีหน้าเตรียมจะเปิดตัวซับแบรนด์แรกในกลุ่มกระเป๋าแฟชั่น เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้ชัดเจน ว่าถ้าเป็นกระเป๋าก็ต้องเป็นแบรนด์นี้ และให้สามารถสื่อสารทางการตลาดได้และทำให้ผู้บริโภคจดจำ

นอกจากนี้ “ครามสกล” ก็เริ่มขยายตลาดไปต่างประเทศมากขึ้น ปัจจุบันมีบริษัทจากญี่ปุ่นเข้ามาจ้างผลิตผ้าย้อมคราม เพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าประเภทต่าง ๆ ส่วนอนาคตก็เปิดกว้างสำหรับการขยายตลาดไปยังต่างประเทศทุกรูปแบบ แต่หลัก ๆ แล้ว “สกุณา” บอกว่า เมื่อมีทุนไม่มาก การรุกออกไปต่างประเทศอาจจะเริ่มด้วยการออกงานแสดงสินค้าร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลก่อน เพื่อให้เป็นที่รู้จักในตลาดมากขึ้น

ด้วยจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาสินค้าชุมชนให้เป็นที่รู้จัก ทำให้วันนี้ “ครามสกล” ก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้น และกำลังยกระดับผ้าพื้นเมืองอย่างผ้าย้อมครามให้เป็นที่รู้จักในตลาดไทยและต่างประเทศมากขึ้น