อินเดีย โตไม่หยุด “ลอตเต้-ยูนิโคล่” ปักธงชิงตลาด

คอลัมน์ Market Move

ศักยภาพการเติบโตของอินเดียยังคงเป็นที่สนใจของธุรกิจต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็งที่นอกจากฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ซึ่งเป็นล้วนคนรุ่นใหม่กำลังซื้อสูง และการเติบโตของเศรษฐกิจประมาณ 7% ต่อเนื่อง 3 ปีแล้ว ยังมีโอกาสต่อยอดไปยังกลุ่มประเทศเอเชียใต้ทั้งบังกลาเทศ และปากีสถาน พร้อมสิทธิภาษีส่งออก 0% อีกด้วย

ล่าสุด ยักษ์ธุรกิจเกาหลีและญี่ปุ่นต่างเดินหน้าแผนลงทุนในอินเดียอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มเม็ดเงินซื้อกิจการผู้เล่นท้องถิ่นรายใหญ่หวังนำทรัพยากรมาต่อยอดธุรกิจของตนแบบก้าวกระโดด หรือเดินสายหาทำเลทองเพื่อเตรียมปักธงสาขาใหม่ พร้อมซุ่มออกแบบสินค้าสำหรับตลาดนี้โดยเฉพาะเตรียมไว้

สำนักข่าว “นิกเคอิ” รายงานว่า “ลอตเต้” ผู้ผลิตขนมรายใหญ่ของเกาหลีได้ทุ่มเงิน 151.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อกิจการ “แฮฟมอร์ไอศกรีม” (Havmor Ice Cream) ผู้ผลิตไอศกรีมอันดับ 2 และเติบโตเร็วที่สุดของอินเดีย ครองส่วนแบ่ง 3.5-4% ในตลาดมูลค่า 1.54 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยโรงงาน 3 แห่งผลิตสินค้า 150 เอสเคยู และดีลเลอร์กว่า 30,000 รายใน 8 รัฐทางตะวันตกเฉียงเหนือ รวมถึงคาเฟ่-ร้านอาหารกว่า 100 แห่ง โดยปี 2559 มียอดขาย 64.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

การซื้อกิจการครั้งนี้ถือเป็นสปริงบอร์ดช่วยให้ลอตเต้กระโดดเข้าร่วมตลาดไอศกรีมของอินเดียในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ สอดคล้องกับแถลงการของบริษัทที่ระบุว่า จากนี้จะผนึกโนว์ฮาวของแฮฟมอร์กับเครือข่ายจัดจำหน่ายของลอตเต้เพื่อขยายฐานลูกค้าออกไปทั่วอินเดีย

ทั้งนี้ “ลอตเต้” เข้าสู่ตลาดอินเดียเมื่อปี 2547 ด้วยวิธีการคล้ายกัน คือ เข้าถือหุ้นใหญ่ในแพรีส์คอนเฟกชั่นนารี่ (Parry”s Confectionery) ผู้ผลิตขนมท้องถิ่น และปัจจุบันลอตเต้มีโรงงานผลิตขนม 2 แห่ง ที่เมืองเชนไนและเดลี

ขณะเดียวกัน “จีเอส กรุ๊ป” (GS Group) หนึ่งในเครือบริษัทใหญ่หรือแชโบลด้านรีเทลก่อสร้างและพลังงานของเกาหลีใต้ ซึ่งมีธุรกิจออกแบบอาคารและร่วมบริหาร “โฮมช็อป 18” (Home Shop 18) โฮมช็อปปิ้งรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย ได้เพิ่มการลงทุนในอินเดียเช่นกัน

โดยเตรียมปรับกลยุทธ์ด้านสินค้าและการบริหาร อาทิ การโลคอลไลซ์สินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าท้องถิ่น รวมถึงจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวอินเดียเข้ามาทำงานมากขึ้นเช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของ “ฟาสต์รีเทลลิ่ง” (Fast Retailing) บริษัทแม่ของเชนร้านแฟชั่น “ยูนิโคล่” ที่ตั้งเป้าปักธงสาขาแรกในอินเดียภายในปีหน้า โดยได้ยื่นขออนุญาตเปิดกิจการต่อกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดียไปเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างหาทำเลที่เหมาะสม

“ทาดาชิ ยานาอิ” ซีอีโอของฟาสต์รีเทลลิ่งย้ำว่า กลยุทธ์สำคัญในการพิชิตตลาดนี้คือ ต้องใกล้ชิดกับผู้บริโภคท้องถิ่นทุกกลุ่ม โดยร้านสาขาอินเดียจะมีไลน์อัพสินค้าพิเศษที่ออกแบบให้เหมาะสมกับทั้งสภาพอากาศ ศาสนา วัฒนธรรม รวมถึงรสนิยมของชาวอินเดีย เพื่อตอบโจทย์

ตลาดที่นับว่ามีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมสูงนี้ รวมถึงรับมือการแข่งขันกับอินเตอร์แบรนด์ที่เข้ามาปักฐานในอินเดียก่อนหน้าแล้วหลายราย อาทิ ซาร่า และเฮชแอนด์เอ็ม

“การขยายธุรกิจในเอเชียให้ประสบความสำเร็จนั้นจะขาดตลาดสำคัญอย่างอินเดียและจีนไปไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีฐานในจีนแล้ว ขาดแต่เพียงอินเดียเท่านั้น” ทาดาชิ ยานาอิ กล่าวทิ้งท้าย

ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนความสำคัญของตลาดแดนภารต รวมถึงฉายเค้าลางถึงการแข่งขันที่จะดุเดือดยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งน่าจะยังมีผู้เล่นต่างชาติเตรียมตบเท้าเข้าสู่ตลาดอีกหลายราย