ธุรกิจเฮ ! คลายล็อกรับปีใหม่ ปลุกมู้ดจับจ่ายเงินสะพัด 5 หมื่นล้าน

Photo by Jack TAYLOR / AFP

โค้งสุดท้ายปีวัว 2564 ใกล้เข้ามา จากนี้ไปแค่สองสัปดาห์ เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะมาถึง แม้ยังต้องตั้งการ์ดสูงป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะไวรัสกลายพันธุ์ “โอไมครอน” ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 73 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย แต่ภาคธุรกิจ ประชาชนทั่วไปต่างคาดหวังว่า ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองจะเป็นไปด้วยความราบรื่น

ขณะเดียวกันก็ต้องการให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการ ควบคู่กับการออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่าย การท่องเที่ยว ล่าสุดวันที่ 13 ธันวาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) เป็นประธานการประชุม ศบค.

โดยที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการความปลอดภัยในการจัดงานช่วงเทศกาลปีใหม่ แบ่งตามระดับพื้นที่ดังนี้

ให้ดื่มเหล้า-เบียร์รับปีใหม่

ปรับมาตรการในการจัดงานช่วงเทศกาลปีใหม่ ให้การบริโภคสุราทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ สามารถบริโภคสุราในร้านอาหารได้ เฉพาะวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ถึง 1 มกราคม 2565 ไม่เกิน 01.00 น. เฉพาะร้านที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวกเท่านั้น และให้เคร่งครัดตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่สาธารณสุขกำหนด (COVID free setting)

จากเดิมกำหนดมาตรการให้ร้านอาหารทั้งในและนอกศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่อื่นใดที่มีร้านอาหาร บริโภคในร้านได้ เปิดได้ตามปกติ (ห้ามการบริโภคสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน) และให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด-กทม. กำหนดมาตรการ และเวลาเพิ่มเติมได้ตามสถานการณ์ของพื้นที่

ได้แก่ พื้นที่ควบคุม 39 จังหวัด คือ ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชุมพร เชียงใหม่ เชียงราย ตรัง ตราด ตาก นครนายก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ยะลา ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน สตูล สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี อุดรธานี และอุบลราชธานี

พื้นที่เฝ้าระวังสูง 30 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ชัยนาท ชัยภูมิ นครปฐม นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ พิจิตร พะเยา แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สุโขทัย สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี อ่างทอง และอำนาจเจริญ และ พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา ภูเก็ต

โดยมีมาตรการความปลอดภัยในการจัดงานช่วงเทศกาลปีใหม่ กรณีมีผู้ร่วมงานตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป อาทิ ยกระดับ COVID free personnel ผู้จัด พนักงาน นักร้อง นักดนตรี ยกระดับ COVID free customer ผู้เข้าร่วมงาน ยกระดับควบคุมการเข้าออกพื้นที่ปิด และในที่โล่งแจ้ง เป็นต้น

เอกชนขานรับเงินสะพัด 5 หมื่นล้าน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการปีใหม่ของ ศบค. ค่อนข้างชัดเจนและเป็นสัญญาณดีสำหรับกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศของจังหวัดต่าง ๆ

รวมถึงยกเลิกจังหวัดที่มีการควบคุมสูงสุด จะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและผู้ประกอบการว่าไทยจัดการสถานการณ์ได้ดีขึ้น ต่อไปต้องเร่งการกระจายวัคซีนในจังหวัดต่าง ๆ และกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน รับมือหากมีการระบาดซ้ำ โดยเฉพาะโควิดโอไมครอน รวมทั้งระบบการคัดกรองคนเข้าประเทศลดความเสี่ยง

สถานการณ์เศรษฐกิจปลายปี หากรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม มอบของขวัญให้ประชาชน เช่น ช้อปดีมีคืน ที่เอกชนเสนอให้เพิ่มวงเงินจากที่เคยให้คนละ 30,000 บาท เป็น 50,000 บาท เบื้องต้นหากสามารถใช้ได้ช่วง 10 วันสุดท้ายตั้งแต่ 21-31 ธันวาคม 2564 จะกระตุ้นการจับจ่ายได้ 50,000 ล้านบาท

ชี้หนุนบรรยากาศ-ปลุกมู้ดจับจ่าย

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ในฐานะนักวิชาการค้าปลีก กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการจะส่งผลดีต่ออารมณ์การจับจ่ายช่วงสิ้นปีให้มีความคึกคักและมีสีสันมากขึ้น ขณะที่การจัดงานเคานต์ดาวน์แต่ละแห่งมีการเตรียมพร้อมเรื่องมาตรการที่เข้มข้นอยู่แล้ว

แต่การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนบวกกับมาตรการรัฐทำให้ทุกที่ที่มีการจัดงานยกระดับความเข้มข้นด้านสุขอนามัยมากขึ้นเป็นเท่าตัว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยแก่ประชาชน ซึ่งมาตรการเข้มข้นไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดงานและอารมณ์การจับจ่าย

เพราะทุกอย่างคือ new normal นอกจากนี้จะช่วยปลุกบรรยากาศการท่องเที่ยวในต่างจังหวัดในคึกคักและมีสีสันด้วย

ห่วงโควิดระบาดรอบใหม่

ด้าน นายสุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการของรัฐบาล และการประกาศจัดงานเคานต์ดาวน์ในหลาย ๆ พื้นที่เป็นแนวทางที่ดี

หากมองในมุมการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าไทยพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนในประเทศกล้าเดินทางท่องเที่ยวและใช้ชีวิตปกติแล้ว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ควรมีแนวทางบริหารจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดด้วย

“ผมมองว่านโยบายการจัดงานที่รัฐบาลออกมาสวนทางนโยบายในภาพใหญ่ กังวลว่าการอนุญาตให้จัดเคานต์ดาวน์ปีใหม่จะเกิดคลัสเตอร์ใหม่เหมือนช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา”

เชียงใหม่ยอดจองพุ่ง 90%

ส่วน นางละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) มองว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่สัญญาณดีกว่าปีที่ผ่านมา ยอดจองห้องพักล่วงหน้าช่วง 31 ธันวาคม 2564 และ 1-3 มกราคม 2565 อัตราจองสูงถึง 90%

โดยเฉพาะ 31 ธันวาคม จองเต็มเกือบทุกโรงแรม ส่วนใหญ่จะจองห้องพักโรงแรมในตัวเมืองเชียงใหม่ 1-2 วัน จากนั้นจะเดินทางไปพักโรงแรม รีสอร์ตหรือโฮมสเตย์รอบนอก จ.เชียงใหม่ กลุ่มหลักคือ นักท่องเที่ยวคนไทย 95% อีก 5% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาจากภูเก็ต และสนามบินสุวรรณภูมิ

นายพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ภาครัฐและเอกชนในเชียงใหม่จะหารือเกี่ยวกับแผนและมาตรการรองรับมติ ศบค.ช่วงเทศกาลปีใหม่ วันที่ 16 ธันวาคมนี้

ภูเก็ตคาดเคานต์ดาวน์ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่ นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า กิจกรรมงานปีใหม่ จ.ภูเก็ต ปีนี้มี 2-3 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมเคานต์ดาวน์ จะมีนักร้องระดับโลก อาทิ แอนเดรีย โบเซลลี่ มาร่วมเคานต์ดาวน์ จัดขึ้นที่ปลายแหลมสะพานหิน

มีการแสดงจุดพลุยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย การแสดงคอนเสิร์ตเคานต์ดาวน์ที่หาดป่าตอง จะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมจุดพลุจะเป็นไฮไลต์ทำให้ภูเก็ตปรากฏบนแผนที่โลก

ส่วนการเข้ามาของนักท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วงภูเก็ตแซนด์บอกซ์ 1 ก.ค. 64 เฉลี่ยวันละ 500 คน ต่อมาหลังเปิดประเทศ 1 พ.ย. 64 เข้ามาเฉลี่ยวันละ 1,500 คน และได้ประชุมหารือกับท่าอากาศยานภูเก็ตได้รับการยืนยันว่า พร้อมรับนักท่องเที่ยววันละ 5,000 คน และมั่นใจว่าทุกคนได้รับการตรวจโควิด 100% ท่องเที่ยวปลอดภัย