บุรีรัมย์ แชมป์ปลูกกัญชา มีใบอนุญาตมากสุดในประเทศ

กัญชา
Photo by Aphiwat chuangchoem

อย.เปิดตัวเลขใบอนุญาตปลูกกัญชา “บุรีรัมย์” แชมป์ มีพื้นที่รวม 13,447 ตร.ม. รวม 39,355 หมื่นต้น เฉือน “ร้อยเอ็ด” เฉียดฉิว

วันที่ 17 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการอัพเดทข้อมูลการของจำนวนใบอนุญาตเกี่ยวกับกัญชา จากเว็บไซต์ของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ล่าสุด พบว่า อย.ได้ออกใบอนุญาตไปแล้วทั้งหมด 2,782 รายการ แบ่งเป็น 1. ครอบครอง จำนวนใบอนุญาต 570 รายการ 2. นำเข้า มีใบอนุญาต 20 รายการ 3. จำหน่าย ใบอนุญาต 1,801 รายการ 4.ผลิต (ปลูก) ใบอนุญาตทั้งหมด 342 รายการ 5. ผลิต (ปรุง) 6 รายการ และ 6. ผลิต (แปรรูป/สกัด) 43 รายการ

หากโฟกัสเฉพาะใบอนุญาต ผลิต (ปลูก) ที่มี 342 รายการ ดังกล่าวรวมพื้นที่ขอปลูก 87,716 ตารางเมตร จำนวน 197,811 ต้น หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่าจังหวัดที่มีจำนวนใบอนุญาตมากที่สุด 10 อันดับแรกของประเทศ ประกอบด้วย

1.บุรีรัมย์ จำนวนใบอนุญาต 32 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 13,447 ตารางเมตร จำนวน 39,355 ต้น

2.ร้อยเอ็ด ใบอนุญาต 31 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 4,152ตารางเมตรจำนวน 4,226 ต้น

3.สกลนคร ใบอนุญาต 19 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 3,796 ตารางเมตร จำนวน 7,740 ต้น

4.นครราชสีมา ใบอนุญาต 15 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 5,737 ตารางเมตร จำนวน 13,433 ต้น

5.อุทัยธานี ใบอนุญาต 15 รายการรวมพื้นที่ขอปลูก 985 ตารางเมตร จำนวน 1,200 ต้น

6.มหาสารคาม ใบอนุญาตทั้งหมด 14 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 1,202 ตารางเมตร จำนวน 1,858 ต้น

7.นครสวรรค์ ใบอนุญาต 11 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 675 ตารางเมตร จำนวน 1,000 ต้น

8.นครพนม ใบอนุญาต 10 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 613 ตารางเมตร จำนวน 700 ต้น

9.กาญจนบุรี ใบอนุญาต 9 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 484 ตารางเมตร จำนวน 850 ต้น และอุดรธานี ใบอนุญาต 9 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 1,532 ตารางเมตร จำนวน 1,604 ต้น

และ 10. เชียงใหม่ ใบอนุญาต 8 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 5,915 ตารางเมตร จำนวน 53,780 ต้น เช่นเดียวกับ กาฬสินธุ์ ใบอนุญาต 8 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 384 ตารางเมตร จำนวน 800 ต้น

นอกจากนี้ ข้อมูลของ อย.ยังระบุว่า ขณะเดียวกันก็ยังมีจังหวัดที่ยังไม่ขออนุญาตปลูกกัญชาอีกจำนวนหนึ่ง อาทิ ตราด ยะลา ระนอง สุพรรณบุรี สุโขทัย สิงห์บุรี สมุทรสาคร นครปฐม นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ และพะเยา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่จะปลูกกัญชาได้ ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ระบุว่าผู้ที่สามารถปลูกกัญชาได้ ได้แก่ (1) หน่ายงานของรัฐ (2) สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีการสอน วิจัย ทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ (3) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น สหกรณ์การเกษตร, วิสาหกิจชุมชน, วิสาหกิจสังคม ที่อยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา (4) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (เภสัชกรรม ทันตกรรม การแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย) ทั้งนี้ระยะ 5 ปี แรก การขออนุญาตปลูกเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์


ส่วนขั้นตอนการปลูกนั้น ผู้ขออนุญาต ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น สัญชาติไทย มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ควรเตรียมสถานที่ปลูกให้เหมาะสม เช่น มีเลขที่ตั้งชัดเจน และต้องยื่นคำขอพร้อมด้วยเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด เช่น แผนการปลูก ที่สำนักงาน อย. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พิจารณาอนุญาตให้ปลูกกัญชาโดยความเห็นชอบของกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ