ซูเปอร์มาร์เก็ตเวียดนาม เดือด ‘อิออน-ฟูจิ มาร์ท’ กางแผนปูพรมสาขา

ซูเปอร์มาร์เก็ต
Market move

 

ปี 2565 ที่จะถึงนี้เวียดนามยังคงครองตำแหน่งเป้าหมายยอดฮิตของบรรดายักษ์ค้าปลีกข้ามชาติ โดยเฉพาะผู้เล่นจากแดนปลาดิบอย่าง “อิออน” เจ้าของเชนค้าปลีกแมกซ์แวลู, อิออน มอลล์ และ “ซูมิโตโม” ผู้บริหารเชนฟูจิ มาร์ทที่ต่างประกาศแผนขยายสาขาในเวียดนาม เริ่มตั้งแต่ปีหน้าไปจนถึงปี 2568 ในระดับ 100 สาขา ทั้งโมเดลซูเปอร์มาร์เก็ตและช็อปปิ้งมอลล์

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานถึงการรุกตลาดครั้งนี้ว่า “อิออน” ประกาศแผนขยายสาขาซูเปอร์มาร์เก็ตแมกซ์แวลูในเวียดนามเพิ่มอีก 100 สาขา ภายในปี 2568 หรือเฉลี่ยปีละ 25 สาขา และในจำนวนนี้จะมีสาขาขนาดใหญ่ 500 ตร.ม. หรือมากกว่าอยู่ด้วย จากปัจจุบันที่มีเพียง 4 สาขาในย่านกรุงฮานอย

ขณะเดียวกัน อิออน มอลล์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือและผู้บริหารห้างสรรพสินค้าอิออน มอลล์ ประกาศขยายสาขาในเวียดนามเพิ่มเช่นเดียวกัน โดยจะเพิ่มจาก 6 สาขาในปัจจุบันเป็น 16 สาขาภายในปี 2568

“โซอิจิ โอคาซากิ” ผู้บริหารอิออนซึ่งรับผิดชอบธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า ตอนนี้เวียดนามเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดในแผนธุรกิจต่างประเทศของบริษัท

การปูพรมสาขาระดับร้อยแห่งตามแผนนี้จะทำให้อิออนสามารถก้าวขึ้นมาแข่งขันกับผู้ค้าปลีกระดับเจ้าตลาดอย่าง “มาซาน กรุ๊ป” ค้าปลีกสัญชาติเวียดนามผู้บริหารเชนซูเปอร์มาร์เก็ต “วินมาร์ท” (Winmart) ที่เป็นเบอร์ 1 และเครือเซ็นทรัลของไทยที่มีซูเปอร์มาร์เก็ต 230 แห่งในเวียดนาม

นอกจากเครืออิออนแล้ว ซูมิโตโมผู้บริหารเชนซูเปอร์มาร์เก็ตฟูจิ มาร์ทเตรียมขยายสาขาในเวียดนามเพิ่มจากปัจจุบันที่มี 3 สาขาในกรุงฮานอยเช่นกัน โดยอาศัยความร่วมมือกับยักษ์ธุรกิจสัญชาติเวียดนามบีอาร์จี กรุ๊ป ตั้งบริษัทร่วมทุนเข้ามาดำเนินการ

การตัดสินใจขยายสาขาครั้งใหญ่นี้เป็นผลจาก 2 ปัจจัย โดยปัจจัยแรกคือการที่เวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ในระยะเวลาอันใกล้เวียดนามจะยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้า อาทิ ผู้ค้าปลีกต่างชาติที่จะตั้งร้านค้าขนาดตั้งแต่ 500 ตร.ม.ขึ้นไปจะต้องขออนุญาตหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ก่อน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติไม่กล้าลงทุนขยายสาขาในระยะยาวเนื่องจากกังวลกับความไม่แน่นอน

อีกปัจจัยคือพฤติกรรมการจับจ่ายของชาวเวียดนามเปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคจำนวนมากหันไปจับจ่ายของสดทั้งเนื้อสัตว์-ผักผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ตแทนตลาดสดที่เดิมเป็นแหล่งช็อปปิ้งหลัก เนื่องจากความกังวลเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 ตัวอย่างเช่น “เหงียน ทิลาน” หนึ่งในชาวฮานอยที่เปลี่ยนมาช็อปในซูเปอร์มาร์เก็ตให้ความเห็นว่า แม้ราคาสินค้าจะแพงกว่า แต่สถานที่ที่กว้างและสะอาดทำให้รู้สึกปลอดภัยมากกว่าตลาดสดซึ่งมักแออัดและชื้นแฉะ ปัจจุบันจึงมาซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ตบ่อยกว่าเดิมถึงเท่าตัว

สอดคล้องกับความเห็นของ “เคซูเกะ ฮิโตสึมัตสึ” ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทร่วมทุนซูมิโตโม-บีอาร์จี กรุ๊ปที่ระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคสนใจเรื่องความสะอาดมากขึ้น และมองว่าซูเปอร์มาร์เก็ตสะอาดและปลอดภัยกว่าตลาดสด

ไม่เพียงเวียดนามแต่ผู้ค้าปลีกญี่ปุ่นยังเพิ่มความเข้มข้นของการรุกตลาดประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนด้วยเช่นกัน โดยอิออนเตรียมขยายสาขาซูเปอร์มาร์เก็ตในอินโดนีเซีย กัมพูชา และประเทศอื่น ๆ ด้วย ตามเป้าปีงบประมาณ 2568 (เม.ย. 68-มี.ค. 69) ที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศให้เป็น 25% หรือเกือบ 2 เท่าจากปัจจุบัน พร้อมเพิ่มกำไรจากตลาดเอเชียยกเว้นญี่ปุ่นให้มากกว่า 1 แสนล้านเยน หรือประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท

ส่วน “แพน แปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิงส์” ผู้บริหารเชนร้านค้าปลีกดอง ดอง ดองกิ วางแผนเปิดสาขาเพิ่มอีกประมาณ 10 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปีงบประมาณ 2564 (ก.ค. 64-มิ.ย. 65) เพื่อให้มีสาขารวม 20 แห่ง พร้อมวางเป้าเพิ่มยอดขายในต่างประเทศให้ถึง 1 ล้านล้านเยน หรือ 6 เท่าของยอดขายปีงบประมาณที่แล้วให้ได้ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. 2573


ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้ปี 2565 ที่จะถึงนี้วงการค้าปลีกในเวียดนามและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะคึกคักขึ้นมาก หลังจากผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 มานานถึง 2 ปี