ความเชื่อที่แตกต่าง

คอลัมน์ Market-think โดย สรกล อดุลยานนท์

คลิปการบรรยายของ “ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” แห่ง “ไทยซัมมิท โอโตพาร์ทฯ” ที่พูดในงานเสวนาของ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อวันก่อนเป็นที่ฮือฮาและมีการแชร์ออกไปอย่างกว้างขวาง

วันนั้นคุณชนาพรรณพูดชัดเจนว่ารถยนต์ไฟฟ้าต้องมาแน่นอนและผลสะเทือนที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง

วันนั้น เธอโชว์แผนผังต่าง ๆ มากมายบนจอ

มีอยู่ภาพหนึ่งที่ผมจำได้ คือ ภาพของเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของแต่ละค่ายรถยนต์

บางยี่ห้อก็ตั้งเป้าหมายปี 2020 บางค่าย 2025 และบางรายก็เป็นแผนระยะยาวถึง 2030

คุณชนาพรรณสรุปว่าถ้าทุกบริษัทรถยนต์ตั้งเป้าขนาดนี้ เงินลงทุนจะมหาศาลแค่ไหน

“แล้วแบบนี้รถยนต์ไฟฟ้าจะไม่มาได้อย่างไร”

แต่วันก่อนผมอ่านบทสัมภาษณ์ของ “ทาเกชิ อุชิยานาดะ” ประธานโตโยต้าใหญ่ หรือที่คนเรียกเขาว่า “มิสเตอร์พริอุส”

เพราะเป็นคนผลักดันรถยนต์โตโยต้า พริอุส ที่เป็นระบบไฮบริดมาโดยตลอด

เขามองสวนทางครับ

เขาไม่เชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมาเร็ว

“ทาเกชิ อุชิยานาดะ” บอกว่าปัจจุบันโตโยต้าขายรถยนต์ได้ 9 ล้านคันต่อปี

เป็นรถยนต์ไฮบริด 1.4 ล้านคันหรือ 15%

“ไฮบริด” เป็นระบบที่ผสมผสานระหว่างการใช้แบตเตอรี่กับน้ำมันที่ “โตโยต้า” ภูมิใจมาก

“เราใช้เวลาตั้ง 20 ปีกว่าจะมาถึงจุดนี้”

20 ปี ไฮบริดยังได้แค่ 15%

ดังนั้น เขาจึงมองว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่รถยนต์ไฟฟ้าจะครองตลาดได้ถึง 30% ภายในปี 2030

หรือ 13 ปีนับจากนี้

เรื่องนี้น่าตกใจมากครับ

เพราะเหมือนกับว่า “โตโยต้า” คิดเปรียบเทียบแบบบัญญัติไตรยางค์20 ปี ได้ 15%13 ปี จะได้ 30% ได้อย่างไร

ฟังแล้วตกใจมาก

ใครที่ติดตาม “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่าเส้นกราฟของ “สิ่งใหม่” ที่ทำลายล้าง “สิ่งเก่า”

ไม่ใช่เส้นกราฟแบบเดิมแล้วครับ

มันไม่ได้ค่อย ๆ ไต่ระดับในอัตราเร่งแบบเดิม

แต่เป็นแบบเอ็กซ์โพเนนเชียลชันเร็วมาก

ตอนนี้ประเทศต่าง ๆ ก็ตั้งเป้ากันแล้วว่าจะใช้เวลากี่ปีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

ค่ายรถยนต์อื่น ๆ ก็ตั้งเป้าเหมือนกัน

ทุกคนเชื่อเหมือนกันหมด

แต่ “โตโยต้า” ไม่เชื่อ

ผมไม่แน่ใจว่าเป็นกลยุทธ์สับขาหลอก

แกล้งบอกว่าไม่เชื่อ

จริง ๆ แล้วซุ่มอยู่

หรือ “ทาเกชิ อุชิยานาดะ” เสียดาย

ระบบไฮบริดที่ “โตโยต้า” คิดค้นขึ้นมาจริง ๆ

และอยากขายแบบเดิมไปนาน ๆ

เขาบอกว่าถ้ารถยนต์ไฟฟ้ามาเร็วไป ผู้ผลิตรถยนต์จะเจ๊งกันหลายราย ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า

ประเด็นนี้น่าสนใจครับ

เหมือนเป็นการสะกิดเพื่อน ๆ ในวงการรถยนต์ว่าอย่ารีบ อย่ารีบ

เพราะถ้ายักษ์ใหญ่รถยนต์ไม่ผลิตรถไฟฟ้าก็ไม่เกิด

ไม่แปลกที่ภาพที่คุณชนาพรรณโชว์บนเวทีว่ารถยนต์ค่ายไหนตั้งเป้าเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าไว้เท่าไร ปีไหน

ไม่มี “โตโยต้า” ครับ

น่าสนใจนะครับว่ามุมคิดของ “ทาเกชิ” จะถูกต้องหรือไม่

ถ้าถูก “โตโยต้า” กินยาว

แต่ในมุมของคนที่เชื่อในวิสัยทัศน์ของ “อีลอน มัสก์”

เขาจะมองว่าวิธีคิดของ “ทาเกชิ” เป็นมุมมองของ “เจ้าตลาด”

ไม่อยากให้ “สิ่งใหม่” เข้ามา

ไม่ใช่มุมของผู้บริโภค

และที่สำคัญเขาลืมไปว่ารถไฟฟ้าที่เป็นกระแสของโลกในวันนี้ไม่ได้เกิดจากค่ายรถยนต์ด้วยกัน

แต่เป็นฝีมือของ “ผู้มาใหม่” ที่ไม่เคยทำรถยนต์มาก่อน

อย่าง “เทสลา” ของ “อีลอน มัสก์”

หรือบริษัทรถยนต์หน้าใหม่ในเมืองจีน

โลกธุรกิจวันนี้ไม่เหมือนเดิมแล้วครับ

เรื่องราวของ “โกดัก” และ “โนเกีย”

ยังเป็นตำนานธุรกิจที่คลาสสิกจนถึงทุกวันนี้

การข้ามสายพันธุ์ทางธุรกิจเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก

ถ้ารายเก่าไม่ทำ รายใหม่มาแน่นอน