ซีคอนสู้ศึกค้าปลีกตะวันออก ปั้นชุมชนคนรุ่นใหม่เพิ่มทราฟฟิกในศูนย์

ซีคอนเดอะมูน

ซีคอนฯกางแผนสู้ศึกค้าปลีกตะวันออก เปิดโซน MUNx2 (มัน มัน) ปักหมุดซีคอน ศรีนครินทร์ บนพื้นที่กว่า 27,000 ตร.ม. แหล่งรวมคอมมิวนิตี้คนรุ่นใหม่ อาหาร ภาพถ่าย ดนตรี กีฬา ชูไฮไลต์ The Moon Crypto & NFT Cafe รับกระแสโลก NFT ก่อนต่อยอดเพิ่มเติมในอนาคต หวังดึงทราฟฟิกคนรุ่นใหม่เพิ่มรับการแข่งขันในย่านสุดระอุ

หลัง “ซีพีเอ็น” ทุ่มเม็ดเงินจำนวนมาก เข้าซื้อ SF พร้อมประกาศชู “เมกาบางนา” สปริงบอร์ดใหม่ยึดพื้นที่ค้าปลีกตะวันออก อีกฟากการลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์ระดับโลกของเดอะมอลล์ กรุ๊ป อย่างโครงการ “Bangkok Mall” มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท โครงการระดับ flagship project บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ย่านบางนา ก็สร้างแรงกระเพื่อมให้ค้าปลีกในย่านกรุงเทพฯตะวันออกกลายเป็นทำเลทองทันที

ขณะที่การระบาดของโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่เข้ามาดิสรัปต์ ทำให้รูปแบบการแข่งขันเปลี่ยนไป ทำให้ผู้เล่นเดิมในย่านที่ต้องมองหากิจกรรมแม็กเนตใหม่ ๆ ในการตอบโจทย์ความต้องการพร้อมรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้น

นายจักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยการบริหารโครงการ มัน มัน บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกมีความเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายผู้ประกอบการเริ่มมองหาทำเลใหม่ ๆ รูปแบบการบริการใหม่ ๆ เพื่อรองรับการแข่งขัน โดยในส่วนของซีคอนฯเองที่ผ่านมาก็จุดท่องเที่ยว (attraction) ใหม่ ๆ ให้กับศูนย์

จากอดีตที่แม็กเนตหลังในศูนย์การค้าเป็นโรงภาพยนตร์ สวนสนุก หรือซูเปอร์สโตร์ต่าง ๆ แต่ว่าปัจจุบันเปลี่ยนไป พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากการดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีเข้ามามีผลต่อพฤติกรรมลูกค้าที่ไมได้ต้องการมาช็อปปิ้งเป็นหลัก แต่มองว่าการมาศูนย์การค้าเรื่องของประสบการณ์คือเรื่องสำคัญ และทางซีคอนฯจึงมองว่าคอมมิวนี้ต่าง ๆ น่าจะเป็นตัวสำคัญที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์สมัยใหม่

โดยกลยุทธ์ของโครงการ มัน มัน น่าสนใจในเชิงของการเจาะกลุ่มคนทำงานความคิดสร้างสรรค์ แม้คนกลุ่มนี้จะไม่ใหญ่มาก แต่การรวมตัวอย่างเหนียวแน่นจะทำให้พื้นที่มีสีสัน รวมถึงเป็นการดึงทราฟฟิกให้เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ และเป็นการปลุกพื้นที่กิจกรรมของคนรุ่นใหม่ในโซนกรุงเทพฯตะวันออกให้คึกคักเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

สำหรับโซน MUNx2 (มัน มัน) บนพื้นที่กว่า 27,000 ตร.ม. บริเวณชั้น 1-3 หรือคิดเป็นพื้นที่ 1 ใน 5 ของซีคอน ศรีนครินทร์ โดยจะถูกนำมาใช้ทำเรื่องของคอมมิวนิตี้เรื่องเดียว สร้างปรากฏการณ์ใหม่ของศูนย์การค้าในเมืองไทยที่จะไม่ใช่แหล่งจับจ่ายใช้สอยเพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นแหล่งรวม communities ของคนรุ่นใหม่ที่อินเทรนด์อย่างมีสไตล์ ได้แก่ food, photo, coffee, crypto, music & dance, skate, art และอีกหลากหลายที่จะเกิดขึ้นใน MUNx2 ที่ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์

โดยคอมมิวนิตี้โปรเจ็กต์มัน มันของซีคอนฯ นับเป็นการลงทุนขึ้นมาเอง โดยมีพันธมิตรชั้นนำเข้ามาร่วมมือ นอกจากนี้ยังมีคอมมิวนิตี้อื่น ๆ ที่อาจจะต่อยอดออกไปในอนาคต เป็นแม็กเนตใหม่ที่ศูนย์สร้างขึ้นมา เพื่อต้องการสร้างชุมชนคอมมิวนิตี้ รองรับการแข่งขันในย่านที่สูงขึ้น รวมถึงเป็นการปรับตัวเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

ปั้นแม็กเนตดึงทราฟฟิก

ล่าสุดได้เปิดให้บริการพื้นที่ใหม่ล่าสุดอย่าง The Moon Crypto & NFT Cafe อีกหนึ่งแม็กเนตใหม่ในโซนมัน มันที่ทางค่ายปลุกปั้นมาเพื่อเป็นชุมชนคนดิจิทัลรวมถึงรับมือศึกค้าปลีกของโลกอนาคต เพื่อรองรับกระแสของโลก crypto และเทคโนโลยี blockchain ที่กำลังมาแรงทั่วโลกในขณะนี้

นายพงศธร จันทวิมล ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร The Moon Crypto Cafe Space เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า The Moon : Crypto & NFT Cafe ใช้เวลาในการพัฒนานาน 4 เดือน เนื่องจากการ WFH ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความสนใจกับโลกดิจิทัลมากขึ้น ประกอบกับเทรนด์คริปโทที่พุ่งพรวดอย่างรวดเร็ว จึงเกิดเป็นแนวคิดการเปิดตัว The Moon ขึ้น ภายใต้โจทย์ในการดึงทราฟฟิกของคือการขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ ให้แก่ศูนย์

“ใน 100 คน อาจจะมีเพียง 5 คนที่เข้ามาอยู่ในโลกคริปโท ซึ่งเหลือกลุ่มลูกค้าอีก 95 คนที่เป็นคนทั่วไป อาจจะยังไม่ได้มาอยู่ในโลกดิจิทัล ซึ่งทำอย่างไรจะเปิดพื้นที่เพื่อดึงลูกค้าตรงนี้ให้เข้ามาใช้บริการได้นั่นคือสิ่งที่ต้องทำ”

ล่าสุดจึงเกิดเป็น The Moon : Crypto & NFT Cafe แห่งแรกที่สาขา “ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์” คาเฟ่ที่ใช้จ่ายผ่านสกุลเงินดิจิทัล หวังเปิดกว้างสำหรับผู้ที่ต้องการพบปะพูดคุยของคนคอเดียวกัน หรือชุมชนของคนคริปโท ก่อนจะต่อยอดไปยังสาขาอื่น ๆ และนำมาใช้ร่วมกับลอยัลตี้โปรแกรม แคมเปญ โปรโมชั่นต่าง ๆ ในอนาคต โดยใช้คอมมิวนิตี้ของเดอะมูนในการสื่อสาร ผ่านคนที่เล่นมาก่อน และกลุ่มคนที่คร่ำหวอดในวงการ ทั้งกูรูด้านการขุด กูรูด้านการเทรด

รวมถึง NFT รวมไปถึงเรื่องของเกม เป็นต้น ก่อนจะต่อยอดไปยังมีพาร์ตเนอร์ใหม่ที่แข็งแกร่งในเมตาเวิร์ส เพื่อมาร่วมกันพัฒนาในอนาคต เบื้องต้นขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งพันธมิตรแต่ละรายเป็นตัวท็อปในวงการ

สำหรับ The Moon : Crypto & NFT Cafe ถูกวางโพซิชั่นให้เป็นสะพานเชื่อม digital world กับ real world ให้มาบรรจบกัน ในการสร้างคอมมิวนิตี้ของคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาสัมผัสกับโลกคริปโทได้อย่างใกล้ชิด

ประกอบไปด้วย เป็นแหล่งเรียนรู้โลกคริปโทแบบจับมือทำกับผู้รู้ตัวเป็น ๆ, cotrading Space มีข้อมูลเกี่ยวกับเหรียญต่าง ๆ ให้เลือกเทรดมากมาย, แกลลอรี่งานศิลปะที่ลอกเลียนแบบไม่ได้ (NFT Gallery), ลงทุนในการขุดเหรียญคริปโท จาก EVO Project, Cafe รูปแบบคริปโท จาก I Learn A Lot, ฉากถ่ายรูปตามแบบฉบับของ BitToon, Event เปิดตัว Crypto Project ต่าง ๆ, class สอนในหัวข้อ cryptocurrency มากมายเป็นต้น

“ตอนนี้เรามี young wealth จำนวนหลายคนที่ประสบความสำเร็จจากการเทรดคริปโท แต่ก็อย่าลืมว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงอยากให้มองเรื่องของความเสี่ยงด้วย นั่นคือคีย์หลักของเราในการสื่อสาร แน่นอนว่านี่คือโลกใหม่จริง ๆ ไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง ดังนั้นจึงเกิดการรวมตัวกันและมีกูรูด้านคริปโทเข้ามา ขณะที่ในอนาคตโลกดิจิทัลอาจจะมีเมตาเวิร์สเข้ามาเชื่อมโลกออนไลน์ ซึ่งจากตรงนี้เองยังมีช่องว่างในการสร้างชุมชนต่าง ๆ ขึ้นภายในศูนย์รวมถึงเดอะมูนคาเฟ่แห่งนี้ขึ้น”

ส่ง The Moon ลุยโลกดิจิทัล

อย่างไรก็ดี แม้เทรนด์คริปโทเคอร์เรนซีจะมาแรง แต่มองว่าปัจจุบันยังเป็นเพียงแค่กิมมิกของผู้ประกอบการอยู่ เพราะมีสัดส่วนผู้ที่มีวอลเลต (มีเหรียญคริปโท) เพียงแค่ 5% แต่ในระยะยาวอีก 3-5 ปีข้างหน้าประเมินว่าสัดส่วนผู้ที่มีวอลเลต (มีเหรียญคริปโท) มีสัดส่วนตั้งแต่ 30% ขึ้นไป เมื่อนั้นจะได้เห็นเหรียญคริปโทออกมาแทนสกุลเงินที่ใช้กันในปัจจุบันอย่างแน่นอน

“ซีคอนฯเองเรามองว่าตัวเราเป็นแลนด์ลอร์ด ไม่ใช่นักพัฒนาซอฟต์แวร์หากในอนาคตเทรนด์มาแรง เราก็ยังไม่มีแผนในการทำเหรียญเป็นของตัวเองแต่อย่างใด เนื่องจากไม่ได้มีสาขาจำนวนมากเพียงพอที่จะสร้างอีโคซิสเต็มการใช้งาน ดังนั้น เราก็จะใช้จุดแข็งความเป็นแลนด์ลอร์ดของตัวเองให้ลูกค้าเขามาใช้พื้นที่มากกว่า

ซึ่งการพัฒนาขึ้นมาเองไม่มีความเป็น เพราะ ณ วันนี้มีคนที่พัฒนาสำเร็จรูปมาแล้ว มีอีโคซิสเต็มที่สมบูรณ์แล้ว เราเพียงจับมือกันมาต่อยอดในสิ่งที่มีอยู่แล้วจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า โดยการใช้เหรียญในการแลกสินค้าหรือแลกส่วนลด โดยในอนาคตจะดึงเข้ามาใช้ในศูนย์ต่าง ๆ ของบริษัท หรือนำเหรียญมาเป็นส่วนลดต่าง ๆ เป็นต้น”

โดยวางเป้าหมายเดอะมูนให้เป็นสภากาแฟของคนในชุมชนคริปโท ที่มาแลกเปลี่ยนความรู้ สื่อสาร และเกิดเป็นชุมชนดิจิทัลขึ้น แลกเปลี่ยนคอนเน็กชั่นกัน พร้อม ๆ กับการดึงทราฟฟิกเข้าศูนย์ควบคู่กันไป