เจ้าของ “ฮาร์เบอร์แลนด์” วอนรัฐ เลิกสั่งปิดกิจการ ทำธุรกิจเสียหายยับ

“ปราการ นกหงษ์” เจ้าของสวนสนุก ฮาร์เบอร์แลนด์ 14 สาขาทั่วไทย วอนรัฐ เลิกสั่งปิดกิจการ สกัดโอไมครอน ทำธุรกิจเสียหายยับ แนะมาตรการ ล็อกคน ไม่ล็อกที่ โชว์ฝีมือด้านสาธารณสุขไทยยืน 1 ในเอเซีย

วันที่ 30 ธันวาคม 2564 นายปราการ นกหงษ์ กรรมการผู้จัดการกลุ่ม บริษัทฮาร์เบอร์ กรุ๊ป มีธุรกิจห้างสรรพสินค้า โรงแรม ในจังหวัดชลบุรี รวมไปถึง “ฮาร์เบอร์แลนด์” สนามเด็กเล่นในร่มขนาดใหญ่ ที่มี 14 สาขาทั่วประเทศ รวมถึงสาขาใหม่ที่ ไอคอนสยาม ที่เพิ่งเปิดไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาเปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ”ต่อกรณีสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ สายพันธุ์โอไมครอนที่มีแนวโน้มจะทำให้มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้รัฐอาจต้องนำมาตรการต่าง ๆ มาบังคับใช้อีกครั้ง รวมไปถึงมาตรการปิดสถานบริการต่าง ๆ

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจต่าง ๆ ในเครือฮาร์เบอร์ฯ ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งในส่วนของห้างสรพพสินค้า โรงแรม และสนามเด็กเล่น แม้ในปัจจุบันยังมีสาขาหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขตจ.สมุทรปราการก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการ

“ธุรกิจของฮาร์เบอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสนามเด็กเล่นในร่ม ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้เราเปิดให้บริการได้เป็นระยะเวลา รวมกันแค่ 11 เดือน ซึ่งใน 11 เดือนนั้น ก็เรียกว่าลูกค้าก็ยังกล้า ๆ กลัว ๆ จนมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมานี่เอง ที่ลูกค้าเริ่มกลับมาอย่างเห็นได้ชัด”

หากสถานการณ์โควิดกลับมาระบาดอีกครั้ง อยากให้รัฐบาลคิดให้ถี่ถ้วน ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมา ไตร่ตรองก่อนที่จะออกมาตรการใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจจนทำให้ผู้ประกอบการที่พยายามจะอยู่รอดมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ต้องล้มหายตายจากไปlll

ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนเข้าใจถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นที่รัฐต้องออกมาตรการคุมเข้ม ซึ่งทางกลุ่มฮาร์เบอร์ฯ เองก็ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด แต่ในครั้งนี้มองว่า ประเทศไทยมีความพร้อมและมีวิธีรับมือที่เพียงพอมากกว่าทุกครั้ง หากจะใช้มาตรการเข้มข้นแบบเดิม ๆ อีก ก็อาจสร้างความเสียหายเป็นอย่างมากต่อภาคธุรกิจ

“ล็อกคน ไม่ล็อกที่”

ประเทศไทยในตอนนี้มีประสบการณ์ ข้อมูล ความรู้ และมีทรัพยากรอย่าง วัคซีน ยารักษา ชุดตรวจ อุปกรณ์ป้องกัน เรียกได้ว่าเพียงพอต่อประชากรในประเทศ เมื่อเทียบกับรอบแรก หน้ากากเรายังมีไม่พอเลย

จากข้อมูล โอไมครอน ไม่ได้ส่งผลร้ายแรง คนที่เสียชีวิตมีน้อย และคนที่เสียชีวิตคือคนที่ปฏิเสธที่จะฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบโดส สิ่งที่ควรเปลี่ยนคือความคิดที่ว่า เราต้องไม่ติด เปลี่ยนเป็นเราติดได้ แต่อาการไม่หนัก ไม่สูญเสียชีวิต มองให้เป็นโรคประจำถิ่น เพราะเราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับโรคนี้ต่อไป อาจต้องฉีดวัคซีนกันทุก ๆ ปี

เลิกที่จะนำเสนอแต่จำนวนคนติดเชื้อ แต่ต้องรายงานเน้นคนที่อาการหนัก และคนที่เสียชีวิต ถือเป็น KPI ของสถานการณ์นี้แทน

“เราต้องกระตุ้นให้คนที่ฉีดวัคซีนมากขึ้น เพื่อให้คนที่ได้รับวัคซีนแล้วได้เดินหน้าดำเนินชีวิต ดำเนินธุรกิจต่อไปได้”

ความหมายของการล็อกคน คือ คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงที่เมื่อได้รับเชื้อแล้วอาจมีอาการหนักหรือเสียชีวิต จึงต้องล็อกให้คนกลุ่มนี้อยู่ในที่ที่จำกัด เพื่อความปลอดภัยของตนเอง

ไม่ล็อกสถานที่ แต่ไม่ใช่ปล่อยให้แต่ละที่ทำอะไรก็ได้ ก็ยังต้องคงมาตรการต่าง ๆ ไว้ เช่น การตรวจวัคซีนพาสสปอร์ต การวัดไข้ หรือ อาจต้องตรวจ ATK ตามแต่ความเสี่ยงของแต่ละกิจการ

เมื่อธุรกิจ การค้าขายเดินหน้าต่อไปได้ คนทำงานหาเช้ากินค่ำก็อยู่ได้ ครอบครัวเขาก็อยู่ได้ การใช้จ่ายก็ยังเป็นปกติ รัฐก็ไม่ต้องคอยเยียวยา ประเทศก็เดินหน้าต่อไปได้

อยากจะสื่อสารไปถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการ นักวิชาการ ที่อาจมองในเรื่องสุขภาพของคนในประเทศ จนอาจคิดว่าเอาให้คนมีชีวิตรอดก่อนแล้วค่อยลุกขึ้นสู้กันใหม่กันไปเรื่อย ๆ ต้องบอกว่าเราไม่ได้รับเงินเดือนประจำ เงินของพวกเราคือความพยายามดิ้นรนสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาจากธุรกิจของเรา เราไม่ได้คิดเห็นแก่ตัว แต่เราคิดในภาพรวมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และอนาคตของประเทศเรามากกว่า

“อยากฝากถึงท่านนายกฯ ว่าในวันนี้ ประเทศไทยมีความพร้อม และความมั่นคงด้านสาธารณสุข เราได้รับการยอมรับให้เป็นที่ 1 ในเอเชีย ขอให้ท่านทำให้ประเทศอื่นได้ดูเป็นตัวอย่างของการเป็นผู้นำตัวจริงในการรับมือกับสถานการณ์โควิดนี้”