คราฟต์เบียร์ทุนน้อยสายป่านสั้น ทยอยโบกมือลาในปี 2565

ภาพจาก Pixabay

พิษโควิดลากยาว ทุบยอดขายร่วงระนาว กลุ่มคราฟต์เบียร์ทุนน้อยสายป่านสั้นทยอยโบกมือลา

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ กรรมการ บริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเบียร์ไทย-ต่างประเทศ เจ้าของคราฟต์เบียร์แบรนด์ไลเกอร์ และอัลเลมองท์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากโควิดตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการขนาดเล็ก-กลางขาดทุนยับเยิน เนื่องจากไม่สามารถประเมินสถานการณ์การขายได้ ประกอบกับกลุ่มคราฟต์เบียร์มีอายุจำกัด ทำให้สินค้าที่ผลิตสต๊อกไว้ต้องนำออกมาระบาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับราคาลงเพื่อระบายสต๊อกต่าง ๆ ในระดับราคา 40-60 บาท

จากเดิมที่คราฟต์เบียร์มีราคาหลักร้อยกว่าบาท ทำให้ที่ผ่านมาได้เห็นคราฟต์เบียร์แบรนด์ต่าง ๆ มีการปรับลดราคาในช่องทางการจำหน่ายต่าง ๆ

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคาดว่า ปี 2565 ผู้ประกอบการเบียร์รายเล็กอาจจะล้มหายตายจากไปจำนวนมาก ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการนำเข้า (เบียร์) แม้จะยังอยู่ได้ แต่ก็บอบช้ำหนัก ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ แม้ยอดขายอาจจะลดลงไปบ้าง แต่ในแง่ของธุรกิจก็ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากมีเงินทุนที่หนา สายป่านยาว

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือสถานการณ์การระบาดของโอไมครอนหลังปีใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าสถานการณ์จะออกมารูปแบบไหน และจะส่งผลกระทบต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไร โดยขณะนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการทำได้คือการจำหน่ายสินค้าที่มีอยู่เพื่อประคองตัวเองต่อไปเท่านั้น เพราะหากมีการล็อกดาวน์อีกรอบในปีหน้า กระสุนนัดสุดท้ายของผู้ประกอบการหลายรายก็จะหมดไป

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวประเมินว่าตลาดเบียร์จะกลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้ง หากการระบาดของโอไมครอนหายไป และมีมาตรการควบคุมได้ในระยะยาว โดยต้องรอประเมินทิศทางอีกครั้งหลังเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน้าขายสำคัญว่าจะเป็นอย่างไร”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมูลค่าตลาดเบียร์ในเมืองไทยที่ผ่านมามีมูลค่าราว 1.8 แสนล้านบาท (ก่อนการระบาดของโควิด-19) ซึ่งหลังจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ภาพรวมตลาดชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องราว 20% ต่อปี ทั้งนี้เป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ ปิดผับบาร์ ร้านอาหารซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายหลักในตลาด