3 ห้างใหญ่กางแผน ลงทุนปลุกออนไลน์

จับตาเทรนด์ค้าปลีกปีเสือดุ 3 ยักษ์ค้าปลีกเดินหน้าลงทุน ออนไลน์-ออฟไลน์ รับเทรนด์โลก “เดอะมอลล์” เปิดกลยุทธ์ phygital บาลานซ์ออนไลน์-ออฟไลน์ “สยามพิวรรธน์” ทุ่มสร้างระบบนิเวศดิจิทัลภายใน เชื่อมคู่ค้าสองขั้วเข้าด้วยกัน ขณะที่ “เซ็นทรัล” ย้ำแผนลงทุนแสนล้าน ส่งบริษัทในเครือสยายปีกสู่โลกค้าปลีกไทย-เทศเต็มสูบ

ปี 2564 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมค้าปลีกเมืองไทย ต้องเผชิญปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้าน ทั้งการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ภาพรวมของธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิม ขณะที่การเข้ามาของเทคโนโลยีตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และการเติบโตแบบก้าวกระโดดของสินทรัพย์ดิจิทัล กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ค่ายค้าปลีกก้าวสู่ยุคใหม่ “นิวนอร์มอล”

โดยทุกค่ายได้เพิ่มแผนการลงทุนในส่วนของดิจิทัลสโตร์ ควบคู่ไปกับการขยายการลงทุนในส่วนของฟิสิคัลสโตร์ (หน้าร้าน) ที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง หรือการสร้าง “omnichannel” ที่การผสานระหว่างออฟไลน์และออนไลน์อย่างไร้รอยต่อ

เดอะมอลล์เดินหน้าดิจิทัลรีเทล

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนงานต่อจากนี้ว่า ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของโลกดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาดิสรัปต์ฟิสิคัลสโตร์ในรีเทลจะมีสเกลลดลง ขณะที่โลกดิจิทัลจะกว้างขึ้น ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องทำนับจากนี้คือการทรานส์ฟอร์มองค์กร ด้วยการเดินหน้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านอีคอมเมิร์ซ, สินทรัพย์ดิจิทัล ที่เป็นโอกาสสำคัญของการสร้างการเติบโตระยะยาว

นโยบายสำคัญจากนี้คือ การบาลานซ์การทำธุรกิจทั้งในส่วนของออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กันไป เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้ายุคใหม่ พร้อมปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ค้าปลีกโลกในอนาคต ด้วยการก้าวสู่ดิจิทัลรีเทล

โดยยุทธศาสตร์ด้านออนไลน์ ได้มีการเดินหน้า digital commerce retail เต็มรูปแบบ ด้วยการทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล 5.0 ดึง AI-analytics ขั้นสูงมาใช้ในโลกรีเทล เพื่อพัฒนาช่องทางการตลาดแบบบูรณาการ omnichannel retail ผ่านโมเดลธุรกิจ O2O ที่ผสานจุดเด่นของ offline retail กับแพลตฟอร์ม online เพื่อสร้างประสบการณ์ช็อปปิ้งแบบไร้รอยต่อผ่านทั้งเว็บไซต์และ Monline โดย 3 ปีแรกจะใช้เงินลงทุนดิจิทัล 15% ก่อนจะเพิ่มเป็น 25% ของยอดขายทั้งกรุ๊ปใน 5 ปี

“แผนงานด้านออนไลน์และระบบต่าง ๆ จำเป็นต้องพัฒนาและปรับปรุงตลอดเวลา แต่งบฯลงทุนจะน้อยกว่าสาขาออฟไลน์ ที่มีการลงทุนหลักหมื่นล้านบาท แต่จะยังคงบาลานซ์การดำเนินงานทั้งในส่วนของ physical store ผสานกับ digital เป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า phygital”

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนเพื่อมองหาการเติบโตในธุรกิจใหม่อย่างสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยการประกาศความร่วมมือกับ “บิทคับ” ในการขยายฐานและดึงกำลังซื้อจากคนที่เป็น new rich, new wealth คือกลุ่มคนที่เป็นนักลงทุนในดิจิทัลแอสเซต โดยมีการเปิด BITKUB M SOCIAL ขึ้นมานำร่อง เพื่อต่อยอดสู่การใช้สกุลเงินดิจิทัลในอนาคต

ซีอีโอเดอะมอลล์ กรุ๊ป ย้ำว่า ไม่เพียงด้านดิจิทัลเท่านั้น แต่แผนงานด้านออฟไลน์ของเดอะมอลล์ก็ถูกวางแผนระยะยาว 5 ปี ด้วยการทุ่มงบฯกว่า 2 หมื่นล้านบาท เดินหน้ารีแบรนดิ้งสาขาบางแค บางกะปิ อย่างต่อเนื่องในคอนเซ็ปต์ “ไลฟ์สโตร์” หลังก่อนหน้านี้รีแบรนด์ในสาขางามวงศ์วานและท่าพระ นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในศูนย์การค้า Bangkok Mall มิกซ์ยูสหรูมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ที่เตรียมปักหมุดยึดพื้นที่กรุงเทพฯตะวันออก รีจินอลมอลล์ขนาดใหญ่ พื้นที่ 100 ไร่ และจะเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567

สยามพิวรรธน์ ช็อปปิ้งไร้รอยต่อ

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันโลกดิจิทัลไปไกลมาก การลงทุนในส่วนของธุรกิจศูนย์การค้ายังไปได้อีกไกล ซึ่งการก้าวสู่การลงทุนในรูปแบบดิจิทัลคือสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินงานเพื่อรับเทรนด์ค้าปลีกยุคใหม่ เพราะหากไม่ทำแล้วก็จะเป็นได้แค่เพียงศูนย์การค้าที่ไม่ตอบโจทย์อะไรเลย จึงทำให้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ทุ่มเม็ดเงินมหาศาล เดินหน้าสร้าง “ระบบนิเวศดิจิทัล” ที่จะเชื่อมร้านค้า คู่ค้า กับพันธมิตรค้าปลีกทั่วโลกเป็นของตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนไอเดียกับคู่ค้า การเปิดบริการศูนย์รูปแบบต่าง ๆ เพื่อรับมือกับเทรนด์ค้าปลีกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการจับมือกับพันธมิตรเพื่อนำร่องด้านสินทรัพย์ดิจิทัล

โดยปีที่ผ่านมามีการสร้าง ONESIAM SupperApp ขึ้นภายใต้โจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรจึงจะเอาประสบการณ์ด้านรีเทลของบริษัทขึ้นมาอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่ต้องไม่เหมือนคนอื่น และไม่ใช่แอปพลิเคชั่นขายของเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีทั้ง S-commerce และ E-S-commerce ภายใต้งบฯกว่า 300 ล้านบาท เพื่อสร้างระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่และแอปนี้ขึ้นมา

ทั้งนี้มุ่งเน้นให้ส่งเสริมธุรกิจของร้านค้าใน 4 ศูนย์ฯในเครือ รวมถึงพันธมิตรกว่า 1,000 แบรนด์ เชื่อมโยงกว่า 13 อุตสาหกรรม 50 พาร์ตเนอร์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้ามาร่วมใน global ecosystem ตอบโจทย์ลูกค้าที่ทั้งลูกค้าทั่วไป (B2C) และลูกค้าองค์กร (B2B) ตั้งแต่แฟชั่น-บริการ-ร้านอาหาร ไปจนถึงเรื่องของสกุลเงินดิจิทัล

“ที่ทำอยู่ตรงนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น ในต้นปีหน้าจะสามารถใช้ซูเปอร์แอปในการทำธุรกรรมดิจิทัลในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับ “สินทรัพย์ดิจิทัล” (digital assets) ดิจิทัลยูทิลิตี้ (digital utility) และอื่น ๆ อีกมากมายที่เราจะเข้าไปลงทุนในอนาคต นั่นคือเทรนด์ค้าปลีกนับจากนี้”

กลุ่มเซ็นทรัลเดินหน้าลงทุน

ด้านความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มเซ็นทรัล” ที่ยังมองหาการเติบโตใหม่ ๆ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดได้ร่วมมือกับซิกน่า หนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจห้างสรรพสินค้าและอสังหาริมทรัพย์ของยุโรป ด้วยการทุ่มเม็ดเงินกว่า 1.8 แสนล้านบาท หรือราว 4 พันล้านปอนด์ ซื้อห้าง “เซลฟริดจ์ส” คว้าสิทธิห้างสรรพสินค้ารวมทั้งหมด 18 แห่งในยุโรป โดยการร่วมทุนครั้งนี้เป็นการลงทุนทั้งในธุรกิจห้างสรรพสินค้า อสังหาริมทรัพย์ และกิจการด้านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

นอกจากนี้ในส่วนของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ได้ย้ำแผนการลงทุนและเป้าหมายธุรกิจในระยะ 5 ปี (ปี 2564-2568) ภายใต้กรอบการลงทุน 116,000 ล้านบาท สำหรับพัฒนาโครงการใหม่ ทั้งโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม โครงการที่พักอาศัย รวมถึงการซื้อกิจการและการลงทุนในต่างประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ มาเลเซียและเวียดนาม รวมถึงศึกษาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพเพื่อขยายช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่ และการลงทุนในช่องทางออนไลน์ สอดคล้องกับแผนการเติบโตตามเป้าหมายในอนาคต

ส่วนที่เหลือจะใช้ในการลงทุนโครงการต่อเนื่อง และปรับปรุงโครงการเดิม รวมถึงโครงการลงทุนใหม่ ๆ ในต่างประเทศ เช่น ประเทศเวียดนาม รวมถึงยังเดินหน้าศึกษาการพัฒนาโครงการศูนย์การค้าใหม่ ๆ เช่น โครงการมิกซ์ยูส เพื่อสร้างรายได้ให้เติบโตต่อไป หลังเปิดตัวโครงการใหม่ ทั้งเซ็นทรัลพลาซา ศรีราชา และเซ็นทรัล อยุธยา ในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ก่อนจะเตรียมเปิดตัวเซ็นทรัล วิลเลจ เฟส 2 ภายใต้งบฯทั้งหมดของโปรเจ็กต์กว่า 5,000 ล้านบาท ในวันที่ 28 ม.ค.นี้ นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาโครงการใหม่อีกมากกว่า 10 โครงการ

ขณะที่บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ที่มีการบาลานซ์แผนงานทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ New Central New Retail ภายใต้งบฯลงทุนกว่า 31,000 ล้านบาท ในการพัฒนา Central Retail Ecosystem และแพลตฟอร์มออมนิแชนเนลที่สมบูรณ์แบบ เชื่อมทั้งออนไลน์และออฟไลน์อย่างไร้รอยต่อ โดยมีการขยาย ปรับปรุง และเสริมเทคโนโลยี เช่น ระบบโรโบติกส์, AI รองรับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ พร้อมสร้างระบบ smart cashless payment ที่ครบวงจร โดยมีหัวหอกหลักของแผนงานคือการนำเสนอสินค้าหลากหลายประเภท (multicategory) ผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย (multiformat) ที่มีสินค้าครอบคลุมทั้งกลุ่มแฟชั่น ฮาร์ดไลน์ และฟู้ด ในหลากหลายรูปแบบค้าปลีก ไปสู่โมเดล “omnichannel” ด้วยการผนึกทั้ง 3 ส่วน ทั้งออนไลน์, หน้าร้าน และช่องทางการขายใหม่ เข้าด้วยกัน

ปัจจุบันซีอาร์ซีมียอดขายจากออมนิแชนเนล 20% ของยอดขายรวม จากช่วงแรกเมื่อปี 2562 ที่มียอดขายจากช่องทางนี้เพียง 3% และเพิ่มเป็น 10% ในปี 2563