“ไทยเบฟ” กำไรอู้ฟู่ 2.6 หมื่นล้านลุยซื้อกิจการเพิ่ม

“ไทยเบฟ” เผยผลประกอบการ”60 ไม่เติบโต “เหล้า-เบียร์” คงหัวหอกหลักปั้นรายได้ 1.8 แสนล้าน ส่วนน็อนแอลกอฮอล์-อาหาร ยังไม่เข้าเป้า ด้านกำไรสุทธิ 2.6 หมื่นล้าน ยังมาจากแอลกอฮอล์เป็นหลัก ก่อนเดินหน้าซื้อกิจการเสริมทัพต่อเนื่อง หลังปิดดีลเคเอฟซีสำเร็จ 252 สาขา พร้อมบริษัทที่ปรึกษา/ลงทุนในเวียดนามอีก 1 แห่ง

รายงานจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ผลประกอบการปี 2560 (1 ต.ค. 59-30 ก.ย. 60) บริษัทมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 189,997 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา 0.02% และมีกำไรสุทธิ (ไม่รวมรายได้จาก F&N) 26,184 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% โดยสัดส่วนหลักของรายได้ยังคงมาจากธุรกิจแอลกอฮอล์ อย่างเหล้าและเบียร์ถึง 87% ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ และอาหารมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 12% เช่นเดียวกับด้านของกำไรสุทธิ ที่มาจากเหล้าถึง 89.6% และเบียร์อีก 13.7% ขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ยังขาดทุนอยู่ 3.8% ส่วนกลุ่มอาหารเองก็มีกำไรสุทธิเพียง 0.5% อย่างไรก็ตาม ถือว่าการขาดทุนในกลุ่มน็อนแอลกอฮอล์มีการปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

ส่วนธุรกิจต่างประเทศ มีรายได้ทั้งสิ้น 5,200 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3% ของรายได้ทั้งหมด ลดลง 15.8% จากปีที่ผ่านมา จากยอดขายเบียร์ที่ลดลงของตลาดในอาเซียน รวมถึงธุรกิจสุราในต่างประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงิน ตลาดจีนที่มีการแข่งขันรุนแรง ทำให้การเติบโตหลัก ๆ มาจากกลุ่มวิสกี้ในสหราชอาณาจักร รัสเซีย ฝรั่งเศส และเอเชียเหนือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทิศทางการดำเนินงานของไทยเบฟในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ จะอยู่ภายใต้แผนของวิสัยทัศน์ 2020 ที่ต้องการเป็นผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรในเอเชีย โดยตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากต่างประเทศเป็น 50% และขยายพอร์ตโฟลิโอในกลุ่มของอาหาร และเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ให้มากขึ้นเป็น 50% ซึ่งกลยุทธ์ที่จะมาสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว นอกจากการเติบโตแบบออร์แกนิกแล้ว ไทยเบฟจะต้องพึ่งการเติบโตแบบอินออร์แกนิก เช่น การควบรวม หรือซื้อกิจการใหม่ ๆ เพื่อเร่งสปีดให้ทันภายใน 3 ปี

ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ว่า ได้บรรลุข้อตกลงในการซื้อกิจการของเคเอฟซี ประเทศไทย จากบริษัท ยัม เรสเตอรองท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำนวน 252 สาขา คิดเป็นมูลค่า 11,4000 ล้านบาท เพื่อเสริมทัพกลุ่มธุรกิจอาหาร และเป็นช่องทางต่อยอดให้กับธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่ม ตลอดจนการเข้าซื้อบริษัท Vietnam F&B Alliance Investment Joint Stock Company บริษัทที่ปรึกษาและลงทุนทางธุรกิจในเวียดนาม ผ่านบริษัทลูก BeerCo Limited โดยเข้าไปถือหุ้น 49% คิดเป็นมูลค่า 98 ล้านด่องเวียดนาม ในขณะที่ก่อนหน้า ไทยเบฟได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวแล้ว 51%


และในปีหน้าไทยเบฟยังมีแผนที่จะปรับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท F&N ธุรกิจเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์รายใหญ่ในมาเลเซียและสิงคโปร์ มีแบรนด์ อาทิ 100 พลัส, นิวทริซอย, แมกโนเลีย ฯลฯ ที่กลุ่ม TCC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เทกโอเวอร์เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา และถือหุ้นใหญ่ 59% ส่วนไทยเบฟถือในสัดส่วน 28.4% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ทำให้บริษัทรับรู้เพียงแค่กำไร/ขาดทุนเท่านั้น แต่หากไทยเบฟกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือมีสัดส่วนมากกว่า 50% รายได้ของ F&N ก็จะถูกนำมาคำนวณในพอร์ตทันที ถือเป็นการเพิ่มทั้งรายได้ในกลุ่มน็อนแอลกอฮอล์และต่างประเทศ