เทรนด์แคมปิ้งแรงต่อเนื่อง ต้นทุนพุ่งร้านค้าสุดยื้อจ่อขึ้นราคา

เทรนด์แคมปิ้งแรงต่อเนื่อง ต้นทุนพุ่งร้านค้าสุดยื้อจ่อขึ้นราคา

กระแสแคมปิ้งยังบูมข้ามปีทั้งลูกค้าใหม่-เก่าจับจ่ายคึกคัก จับตาราคาสินค้าขยับขึ้น หลังวิกฤตซัพพลายเชนลามต่อเนื่องทำต้นทุนสินค้าลอตปี 2565 พุ่งทุกแบรนด์ ด้านร้านค้า-ผู้นำเข้ารับอาจต้องปรับราคาตามหลังยื้อนานกว่า 1 ปี แต่เชื่อไม่เกิดสินค้าขาด หลังแบรนด์ใหม่ไทย-เทศตบเท้าเข้ารับดีมานด์

ในขณะที่ความนิยมการท่องเที่ยวกับกางเต็นท์หรือแคมปิ้งยังคงร้อนแรง จนลานกางเต็นท์หลายแห่งเต็มต่อเนื่องทุกสุดสัปดาห์แม้จะเลยปีใหม่มาแล้ว แต่บรรดานักตั้งแคมป์ทั้งมือเก่าและใหม่อาจต้องควักกระเป๋ามากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากมีแนวโน้มสูงที่อุปกรณ์ต่าง ๆ จะปรับขึ้นราคาอย่างน้อย 10% เนื่องจากปัญหาซัพพลายเชน

เทรนด์แคมปิ้งแรงต่อเนื่อง ต้นทุนพุ่งร้านค้าสุดยื้อจ่อขึ้นราคา

อุปกรณ์แคมปิ้งปรับราคา 10%

นายธัชรวี หาริกุล ผู้ก่อตั้งเชนร้านอุปกรณ์ตั้งแคมป์เดินป่า “ไทยแลนด์เอาท์ดอร์” บริษัท เอาท์ดอร์ เฮเว่น จำกัด และเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์แคมปิ้งรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

ปัจจุบันตลาดสินค้าแคมปิ้งยังคงคึกคักแม้จะเลยช่วงหยุดยาวปีใหม่มาแล้ว เชื่อว่าเป็นผลจากนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งต้องการเลี่ยงความแออัดจึงหันมาเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.แทน

ในขณะที่ผู้ประกอบการลานกางเต็นท์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้่นจึงสามารถรองรับดีมานด์ได้ทั่วถึง เช่นเดียวกับความต้องการสินค้าซึ่งมีทั้งผู้บริโภคหน้าใหม่ และนักตั้งแคมป์ที่ต้องการอัพเกรดอุปกรณ์ที่มีอยู่

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 นี้วงการแคมปิ้งจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตต้นทุนสินค้าและการขนส่งพุ่งสูง รวมถึงความล่าช้าในการขนส่งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกอย่างชัดเจน และจะส่งผลให้ราคาสินค้าเฉลี่ยในตลาดอาจขยับขึ้นอีกอย่างน้อย 10% และสินค้าบางส่วนอาจขาดตลาดเป็นบางจังหวะ

เนื่องจากแบรนด์สินค้าประสบปัญหาด้านต้นทุนวัตถุดิบและกำลังผลิตเพราะผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในฐานการผลิตสำคัญอย่างเวียดนาม และค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่ยังสูงกว่าปกติ สวนทางกับดีมานด์ที่ยังคงสูงต่อเนื่องหลังการแคมปิ้งกลายเป็นเทรนด์ฮิตในไทยและทั่วโลก

นายธัชรวีกล่าวว่า ที่ผ่านมาหลาย ๆแบรนด์แจ้งปรับขึ้นราคาสินค้าลอตปี 2565 บ้างแล้ว ซึ่งเมื่อรวมกับสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าทำให้ตั้งแต่เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ส่วนค่าขนส่งแพงขึ้น 2 เท่า จึงเชื่อว่าผู้นำเข้าจะไม่สามารถแบกรับต้นทุนต่อไปได้

“สถานการณ์นี้สะท้อนได้ชัดจากสต๊อกสินค้าปี 2565 ที่กำลังทยอยเข้ามานั้น แม้บริษัทจะสั่งเพิ่มมากกว่าปีก่อนไว้ประมาณ 10% แล้ว แต่ปัจจุบันสินค้าหลายรายการหมดอยู่ตลอด เพราะดีมานด์สูงมากและไม่สามารถสั่งเพิ่มได้เร็วพอ

เนื่องจากปกติคนไทยนิยมท่องเที่ยวตลอดทั้งปีอยู่แล้ว และปีนี้ผู้คนจำนวนหนึ่งเลี่ยงความแออัดช่วงปีใหม่ หันมาท่องเที่ยวเดือน ม.ค.-ก.พ.แทน”

สำหรับทิศทางของไทยแลนด์ เอาท์ดอร์นั้น นายธัชรวีกล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทจะต้องปรับราคาสินค้าขึ้นตามสภาวะตลาดเช่นกัน เพราะปี 2564 สามารถตรึงราคาไว้ได้โดยอาศัยการสั่งสินค้าล่วงหน้า 1 ปีทำให้ได้ราคาก่อนปัญหาซัพพลายเชน ร่วมกับการบริหารค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในองค์กร

เช่น การเวิร์กฟรอมโฮม แต่สำหรับสินค้าลอตปี 2565 นี้ แต่ละแบรนด์ต่างปรับราคาตามต้นทุนแล้ว จึงอาจต้องปรับราคาให้สะท้อนต้นทุนในปัจจุบันด้วยเช่นกัน

นายธัชรวีกล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันบริษัทพยายามเจรจากับซัพพลายเออร์จัดหาสินค้าเพิ่มเติมมากระจายให้กับดีลเลอร์จำนวน 40 รายให้ได้ตามดีมานด์ พร้อมจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เพื่อประเมินดีมานด์สำหรับสั่งสินค้าลอตปี 2566 ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ โดยยังคงเน้นอุปกรณ์คุณภาพดีในราคาจับต้องได้รวมถึงนโยบายราคาเดียวในทุกช่องทาง และการรับประกันด้วยศูนย์ซ่อมของบริษัท ควบคู่กับการให้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งแคมป์ผ่านสื่อออนไลน์

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะไม่เกิดการขาดแคลนสินค้าเหมือนช่วงกลางปี 2564 อีก เนื่องจากดีมานด์ที่สูงและความต้องการที่หลากหลายมากขึ้นนี้ได้ช่วยดึงดูดให้มีแบรนด์ใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นแบรนด์จีน

ตามด้วยเกาหลีใต้และไทย หลังแบรนด์หลักทยอยเข้ามาในไทยตั้งแต่ปี 2560-2561 ทำให้ตัวเลือกสินค้าเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากช่วงปลายปี 2564 เริ่มมีสินค้าให้เลือกหลากหลายมากขึ้น

สินค้าแบรนด์ใหม่ทยอยบุกตลาด

นายนิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทรคกิ้งไทย จำกัด ผู้บริหารร้านสินค้าแคมปิ้ง-เดินป่า เทรคกิ้งไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ 1-2 ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบันมีแบรนด์สินค้าแคมปิ้ง-เดินป่าหน้าใหม่ทยอยเปิดตัวเข้าสู่ตลาดหลายราย

ซึ่งนอกจากแบรนด์ต่างชาติแล้ว ยังมีแบรนด์ไทย อาทิ K2, สนามเดินป่า รวมถึง TRS ซึ่งเดิมผลิตกระเป๋าก่อนจะหันมาผลิตอุปกรณ์แคมปิ้ง รวมถึงรายอื่น ๆ ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากความนิยมแพร่หลายและมีผู้บริโภคกำลังซื้อสูงหันมาสนใจแคมปิ้งมากขึ้นจนหลายแบรนด์ผลิตสินค้าไม่ทัน

ทำให้ดีมานด์ล้น กระตุ้นให้เกิดแบรนด์และสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ อาทิ เต็นท์ที่เน้นความสวยงามเพื่อถ่ายรูปลงโซเชียลเข้ามารองรับโอกาสในส่วนนี้

“เมื่อปี 2563 กลุ่มเต็นท์ราคาแพงสุดยังอยู่ที่ประมาณหลักหมื่นบาท แต่พอมาปี 2564 เต็นท์ราคา 2-3 หมื่นบาท กลายเป็นสินค้าขายดี มีคนซื้อจำนวนมาก ส่วนกลุ่มเต็นท์ราคาแพงขยับไปเป็นหลักแสนบาทแทน”

นายนิพัทธ์พงษ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับปีนี้ต้องจับตาดูความต่อเนื่องของกระแสนิยมการแคมปิ้ง เนื่องจากปกติช่วงอากาศร้อนประมาณ ก.พ.-ก.ค. จะเป็นโลว์ซีซั่น และดีมานด์สินค้าจะลดลง แต่เมื่อปี 2563-2564 นั้นกลับไม่มีโลว์ซีซั่น

โดยลานกางเต็นท์มีผู้ใช้บริการจำนวนมากต่อเนื่องตลอดปี เชื่อว่าเป็นเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศหรือสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้ ดีมานด์จึงสูงตลอดจนช่วงกลางปี 2564 เกิดปรากฏการณ์สินค้ามือสองยี่ห้อ-รุ่นยอดนิยมบางรายการถูกนำมาขายต่อในราคาแพงกว่ามือหนึ่ง

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของบริษัทจะยังเดินหน้าหาสินค้าจากแบรนด์ใหม่ ๆ มารองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น หลังช่วงเดือน ธ.ค. สต๊อกสินค้าลดลงไปมาก ร่วมกับการรักษาฐานลูกค้าปัจจุบัน

โดยเน้นย้ำบริการแบบเป็นกันเองและการให้ของแถม โปรโมชั่นต่าง ๆ แบบไม่ต้องต่อราคา ไปจนถึงการทำตลาดแบบเจาะลูกค้ารายคน-กลุ่ม พร้อมกับผลักดันธุรกิจเดินป่า

เนื่องจากตลาดนี้แม้จะเป็นเซ็กเมนต์ที่เล็กกว่าแคมปิ้ง แต่ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจเพิ่มขึ้น และคู่แข่งยังน้อย ประกอบกับบริษัทเองมีความชำนาญจากการจัดทริปเดินป่ามานานมากกว่า 20 ปี

อย่างไรก็ตาม นอกจากผู้ค้าอุปกรณ์จะต้องจับตาสถานการณ์แล้ว ผู้ประกอบการลานกางเต็นท์เองต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากดีมานด์อาจลดลงอย่างรวดเร็วเหมือนก่อนปี 2563 ซึ่งอาจจะกระทบธุรกิจได้

จากการสำรวจตลาดของผู้สื่อข่าวพบว่า เต็นท์และถุงนอนบางรุ่น-ยี่ห้อ มีการติดป้ายสินค้าหมดสต๊อก อาทิ Karana รุ่น Forester 3 Plus ราคา 2,600 บาท K2 SNIPER ราคา 4,600 บาท

Coleman Japan TOUGH DOME/3025 ASIA Dark Room ราคา 1.55 หมื่นบาท หรือถุงนอน MOBIGARDEN ราคา 890 บาท และ Forclaz Trek 500 ราคา 1,850 บาทเป็นต้น แต่ยังมีสินค้ารุ่นและยี่ห้ออื่น ๆที่มีสต๊อกอยู่