“โตชิบา” ชู “ไอโอที” เขย่าตลาด ตรึงราคาสู้กำลังซื้อซบ-ลั่นโตดับเบิลดิจิต

‘โตชิบา’ชู‘ไอโอที’เขย่าตลาด ตรึงราคาสู้กำลังซื้อซบ-ลั่นโตดับเบิลดิจิต

“โตชิบา” มั่นใจภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าโตตามจีดีพี ผู้ประกอบการเบนเข็มบุกตลาดสินค้าระดับกลาง-ไฮเอนด์ หนีกำลังซื้อซบ ประกาศตรึงราคาสู้-มุ่งโฟกัสสินค้าไอโอทีเต็มตัวเดินหน้าขยายไลน์อัพสินค้า-ฟอร์มทีมเฉพาะกิจ พร้อมเพิ่มงบฯการตลาดสร้างรับรู้ ย้ำแคมเปญ DetailsMatter นวัตกรรมล้ำใส่ใจทุกรายละเอียด มั่นใจปีนี้รายได้เติบโตสองหลัก

ผลพวงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคโดยตรงแล้ว อีกด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้ายังต้องเผชิญกับ 2 ปัญหาใหญ่

ทั้งวิกฤตชิปเซมิคอนดักเตอร์ขาดตลาด ที่กระทบต่อไลน์ผลิตสินค้า และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ การปรับขึ้นค่าระวางของสายการเดินเรือ ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานและการบริหารการจัดการที่สูงขึ้น

เทรนด์ตลาด “กลาง-สูง” คึกคัก

นายฮิโรยูกิ ทากาเสะ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายขายและการตลาด บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากความผันผวนของสถานการณ์ในปัจจุบัน

ทำให้คาดการณ์ภาพรวมของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2565 นี้ได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเชื่อว่าตลาดยังมีโอกาสจะเติบโตประมาณ 2-6% ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี)

โดยจะมีปัจจัยบวกต่าง ๆ สนับสนุน เช่น นโยบายกระตุ้นจับจ่ายของรัฐที่มีออกมาเป็นระยะ ๆ รวมถึงทิศทางการทำการตลาดที่ผู้ประกอบการต่าง ๆ หันมาเน้นกลุ่มสินค้าราคาระดับกลาง-สูง

เพื่อชดเชยความท้าทายด้านต้นทุนต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว และหากการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายหรือลดความรุนแรงลงและสถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าในแง่ของความต้องการสินค้าและกำลังซื้อจะเริ่มฟื้นตัวผู้บริโภคจะค่อย ๆ กลับมาจับจ่ายได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าครั้งนี้อาจไม่เห็นภาพดีมานด์ดีดกลับชัดเจนเหมือนช่วงคลายล็อกดาวน์เมื่อปี 2563 และ 2564 ที่ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งหันมาซื้อตู้เย็นหรือตู้แช่เพื่อเก็บอาหารมากขึ้น

และทำให้ตลาดดังกล่าวมีการเติบโตที่ดี ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากขณะนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังพลิกสลับไป-มา ระหว่างการฟื้นตัวและการระบาดของสายพันธุ์ใหม่หลายครั้งตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจึงทำให้ผู้บริโภคยังไม่วางใจในสถานการณ์

และระมัดระวังการจับจ่ายมากขึ้น แม้ในช่วงสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะช่วงต้นปีที่มักมีข่าวค้นพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

“ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและสถานการณ์การระบาดยังเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดว่าตลาดในภาพรวมจะฟื้นตัวได้เร็วมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำมาก

ดังนั้น การฟื้นตัวอาจทำให้ต้องใช้เวลานานกว่าปกติ จากเดิมจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน”

ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายขายและการตลาด บริษัท โตชิบา ยังระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ปัญหาซัพพลายเชน อาทิ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งทำให้การขนส่งระหว่างประเทศล่าช้าและมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

และสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนในทุกอุตสาหกรรมรวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังคงเป็นปัจจัยท้าทายหลักที่ส่งผลต่อตลาดและผู้ประกอบการทุกค่ายในปีนี้

ตรึงราคาสู้-ตั้งเป้าโตดับเบิลดิจิต

นายฮิโรยูกิ ทากาเสะ กล่าวต่อไปว่า สำหรับทิศทางและนโยบายของโตชิบาในปี 2565 นี้ แนวทางหลัก ๆ จะพยายามตรึงราคาสินค้าเอาไว้ เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภค พร้อมกับสร้างการเติบโตในระดับตัวเลขสองหลักต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

โดยบริษัทจะมีการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการปรับไลน์อัพสินค้า กลยุทธ์การทำตลาดที่จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงจะมีการจัดสรรช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์-ออฟไลน์ ให้มีความเหมาะสมไปจนถึงสัดส่วนรายได้ เป็นต้น

ยกตัวอย่าง สำหรับในด้านไลน์อัพสินค้า บริษัทจะเน้นการเพิ่มความหลากหลายของไลน์อัพให้มากขึ้น เช่น การเตรียมเปิดตัวสินค้าหมวดใหม่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ พร้อมกับทัพสินค้ารุ่นใหม่อื่น ๆ เพื่อให้ครอบคลุมดีมานด์และโอกาสการขายได้ครบถ้วนยิ่งขึ้น

ที่สำคัญคือ บริษัทจะเพิ่มสัดส่วนและโฟกัสทำตลาดสินค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างสินค้าระดับบน-ไฮเอนด์ อาศัยกลยุทธ์แวลูแอดเดด (value added) หรือการเพิ่มมูลค่าให้สินค้านั้น ๆ

ด้วยการใส่ฟังก์ชั่น-จุดขายพิเศษเพิ่มเข้าไปเพื่อจูงใจผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่า โดยเฉพาะฟังก์ชั่นไอโอที ที่สามารถเชื่อมต่อไวไฟและสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟน ที่จะเป็นไฮไลต์สำคัญของโตชิบา

นอกจากนี้ด้านโรงงานในประเทศไทยยังคงขยายกำลังผลิตต่อเนื่อง นับตั้งแต่ช่วงสงครามการค้าจีน-สหรัฐเมื่อปี 2562 ซึ่งบริษัทเพิ่มไลน์การผลิตสินค้าสำหรับส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา เพื่อรับมือความท้าทายดังกล่าว

ฟังก์ชั่นไอโอทีหัวหอกบุกตลาด

นายฮิโรยูกิ ทากาเสะ ย้ำว่า ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป บริษัทจะให้ความสำคัญกับสินค้าเซ็กเมนต์นี้อย่างเต็มที่ ทั้งเพิ่มจำนวนสินค้าที่มีฟังก์ชั่นไอโอทีให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พร้อมตั้งทีมงานด้านไอโอทีขึ้นมาสนับสนุนการรุกเข้าสู่เซ็กเมนต์นี้โดยเฉพาะอีกด้วย เสริมกับการเดินหน้าขยายพื้นที่โกดังสินค้าสำหรับสำรองสินค้าที่ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี2564 เพื่อรับมือผลกระทบจากสภาวะต้นทุนวัตถุดิบ-ขนส่ง ซึ่งยังสูงกว่าปกติ

“แม้บริษัทจะมีโรงงานในประเทศไทย แต่ชิ้นส่วนและสินค้าบางรายการโดยเฉพาะในกลุ่มระดับแมสยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน และอื่น ๆจึงได้รับผลกระทบสูง ทำให้ต้องเน้นการขายกลุ่มไฮเอนด์เพื่อมาเฉลี่ยรายได้-ต้นทุน” นายฮิโรยูกิ ทากาเสะ กล่าวและว่า

เช่นเดียวกับงบฯการตลาดที่เตรียมเอาไว้มากกว่าปี 2564 โดยจะเน้นการใช้งบฯอย่างยืดหยุ่นเป็นพิเศษ และมุ่งลงทุนกับการทำตลาดแบบดิจิทัลและใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น

อาทิ การจัดคอนเวนชั่นออนไลน์แทนออฟไลน์เพื่อรับมือการระบาดของโควิด รวมถึงซีซั่นนอลแคมเปญต่าง ๆ ที่จะมาในรูปแบบดิจิทัล-ออนไลน์ เริ่มตั้งแต่ช่วงหน้าร้อนที่จะมาถึงนี้

เนื่องจากเป็นเทรนด์ของตลาดและยังมีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง สามารถปรับใช้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วได้ จึงตอบโจทย์สภาพตลาดในช่วงระหว่างการระบาดของโควิด-19 นี้

โดยธีมของการทำตลาดยังคงมุ่งสร้างการรับรู้แบรนด์ ด้วยแคมเปญ “DetailsMatter” ที่ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อตอกย้ำการนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต ผ่านการดีไซน์ นวัตกรรมและความใส่ใจในทุกรายละเอียด

“ปีนี้บริษัทยังคงวางเป้าหมายการเติบโตไว้ระดับเลขสองหลักต่อเนื่องอีก 1 ปี หลังปีที่ผ่านมาสามารถเติบโตระดับเลขสองหลักได้แม้สภาพตลาดจะมีความท้าทายสูง

โดยเป็นผลจากการเพิ่มไลน์อัพสินค้า และผลตอบรับที่ดีในกลุ่มเครื่องซักผ้า” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายขายและการตลาด บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ ย้ำในตอนท้าย