ร้านมือสองโตสวนกระแส ยักษ์ค้าปลีกจ่อโดดร่วมวง

ร้านมือสองโตสวนกระแส ยักษ์ค้าปลีกจ่อโดดร่วมวง
คอลัมน์ : Market-move

ในขณะที่วิกฤตซัพพลายเชน เช่น วัตถุดิบ-ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ทำให้ราคาสินค้าเกือบทุกชนิดพุ่งสูงและยังขาดสต๊อกบ่อยครั้ง จนทั้งแบรนด์สินค้าและผู้ค้าปลีกต้องวิ่งวุ่นหาทางแก้เพื่อพยุงธุรกิจ แต่ยังมีผู้ค้าปลีกอีกกลุ่มที่ไม่เพียงแทบไม่ได้รับผลกระทบ แต่ยังกลายเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของผู้บริโภคอีกด้วย

นั่นคือ กลุ่มผู้ค้าสินค้ามือสอง และกลุ่มรีเซลเลอร์ หรือผู้ที่ซื้อสินค้ามาในจำนวนมากเพื่อแบ่งขายต่อ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เนื่องจากทั้งราคาจับต้องได้ การมีสต๊อกสินค้า ไปจนถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” รายงานถึงปรากฏการณ์นี้ว่า ท่ามกลางวิกฤตซัพพลายเชนที่ทำให้ค้าปลีกรายใหญ่ อาทิ เมซีส์ (Mecy’s) และโคลส์ (Kohl’s) ต้องขึ้นราคาสินค้า ส่วนวอลมาร์ต (Walmart) และทาร์เก็ต (Target) ต้องทนแบกส่วนต่างคงราคาสินค้านั้น

ผู้บริโภคชาวอเมริกันต่างหันไปช็อปในร้านสินค้ามือสอง และรีเซลเลอร์ อาทิ เดอะ เรียลเรียล (The RealReal) และเทรดอัพ (ThredUp) แทน มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สะท้อนจากรายงานผลประกอบการของเทรดอัพซึ่งระบุว่า บริษัททำรายได้ในไตรมาส 3 ได้ถึง 63.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 35% จากปีก่อน พร้อมทำสถิติมีจำนวนลูกค้าสูงถึง 1.4 ล้านรายและยอดสั่งซื้อ 1.3 ล้านออร์เดอร์ เติบโต 14% และ 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ

โดยเป็นผลจากยุทธศาสตร์การลดราคาสินค้าลงในระดับ 15% สวนทางกับกระแสการปรับขึ้นราคาในตลาด

“เจมส์ ไรน์ฮาร์ท” ซีอีโอของเทรดอัพ อธิบายว่า ในขณะที่ผู้ค้าปลีกทั่วไปต้องกัดฟันแบกส่วนต่างเพื่อตรึงราคาสินค้า หรือเสี่ยงปรับขึ้นราคาเพราะปัญหาซัพพลายเชน แต่ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว บริษัทกลับสามารถลดราคาทั้งพอร์ตลงได้อีกเฉลี่ย 15% เทียบกับปี 2563

เพราะการขายสินค้ามือสองนั้น แหล่งสินค้าคือบรรดาผู้บริโภคในสหรัฐเอง ไม่ใช่โรงงานในต่างแดน จึงแทบไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขนส่งข้ามประเทศและราคาวัตถุดิบ โดยบริษัทจะใช้ความได้เปรียบนี้เดินหน้าคงระดับราคาสินค้าเอาไว้ต่อไป

“การลดราคานี้เป็นยุทธศาสตร์ที่ใช้จุดเด่นของโมเดลมือสองให้เป็นประโยชน์สูงสุด โดยดึงดูดฐานลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาด้วยการลดราคาลง ในขณะที่ผู้บริโภคกำลังถูกห้อมล้อมด้วยปัญหาค่าครองชีพและสินค้าราคาแพง”

ไปในทิศทางเดียวกับ เดอะ เรียลเรียลซึ่ง “จูลี่ เวนไรท์” ซีอีโอ กล่าวว่า ช่วงเทศกาลช็อปปิ้งสิ้นปีที่ผ่านมานั้น บริษัทมีความพร้อมรับดีมานด์เต็มที่มาก โดยมีสต๊อกสินค้ามากกว่าก่อนโรคโควิด-19 จะเริ่มระบาดเสียอีก

ในขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 3 บริษัทมีรายได้ 119 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 53% เทียบกับปีก่อน จากออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้น 38% เป็น 7.57 แสนออร์เดอร์

จากการเติบโตนี้ เทรดอัพคาดการณ์ว่าในปี 2566 ตลาดสินค้ามือสองของสหรัฐจะมีมูลค่า 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.75 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกันกลุ่มรีเซลเลอร์ หรือผู้ที่ซื้อสินค้ามาเพื่อขายต่อโดยเฉพาะนั้นเป็นอีกกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตสูง โดย “แคโรรีน ทอมป์สัน” ซีอีโอของ อราเวนด้า บริษัทผู้จำหน่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปแบบฝากขาย

อธิบายว่า กลุ่มรีเซลเลอร์เติบโตสูงกว่าตลาดมือสองถึง 11 เท่า เพราะนอกจากปัญหาซัพพลายเชนแล้ว ยังมีแรงหนุนจากความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภครุ่นใหม่รวมถึงความสะดวกในการค้นหาสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามาช่วยผลักดันอีกแรง

สอดคล้องกับความเห็นของ “ทิม เซซี” ประธานของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจทิม เซซี ที่ระบุว่า แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับขายสินค้าช่วยให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องวุ่นวายเดินหาสินค้าตามโรงรับจำนำ

หรือตลาดนัดแบกะดินอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มดีป็อป ที่มีผู้ใช้ 30 ล้านคนใน 150 ประเทศ และยังมีสต็อกเอ็กซ์ (StockX) ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายรองเท้าสนีกเกอร์ระหว่างผู้ใช้ทั่วไป

ความนิยมนี้ทำให้ผู้ค้าปลีกรายใหญ่เริ่มหันมาให้ความสนใจ และพยายามโดดเข้ามาร่วมวง อาทิ เมซีส์ ซึ่งจับมือเป็นพันธมิตรกับเทรดอัพ เพื่อนำเสื้อผ้ามือสองมาวางขายใน 40 สาขา ส่วนเจซี เพนนี นำเสื้อผ้าสตรีและกระเป๋าถือไปวางขายใน 30 สาขา ส่วนลูลูเลมอน ผู้ผลิตสินค้ากีฬา เปิดตัวโครงการขายสินค้ามือสองของตนเองเช่นกัน


เหล่านี้เป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวของวงการค้าปลีกที่มาพร้อมกับโรคระบาด ซึ่งต้องรอดูว่าเทรนด์สินค้ามือสองนี้จะเกิดขึ้นและได้รับความนิยมในประเทศอื่น ๆ มากน้อยเพียงใด