“บุญรอด” เปิดกว้าง เติมพอร์ต “เบียร์” ทุกตลาด

แม้ว่าปีนี้การเติบโตของตลาดเบียร์ในภาพรวมจะไม่หวือหวามากนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังมีเบียร์เซ็กเมนต์หนึ่งที่มีการเติบโตอย่างน่าจับตา โดยเฉพาะกลุ่มของเบียร์ซูเปอร์พรีเมี่ยม เช่น คราฟท์เบียร์ และเบียร์นำเข้าที่มีราคาตั้งแต่ขวดละ 100 บาทขึ้นไป ซึ่งกลุ่มลูกค้านอกจากจะมีกำลังซื้อสูงแล้ว ยังเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆ ที่เปิดกว้างกับการทดลองสิ่งที่แปลกแตกต่างไปจากเดิม มีการเรียนรู้เบียร์ประเภทต่าง ๆ จากการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ และข้อมูลจากสื่อออนไลน์ ที่เชื่อมต่อเทรนด์การกินดื่มของทั่วโลกเอาไว้

“บุญรอด” มองเทรนด์เกิดขึ้น และทยอยเพิ่มพอร์ตโฟลิโอของตัวเองด้วยการเพิ่มเบียร์แบรนด์ใหม่ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ยูเบียร์ แบรนด์น้องใหม่ในกลุ่มเบียร์ลาเกอร์ วางตลาดเมื่อปีที่แล้ว และล่าสุด สโนวี่ ไวเซ่น บาย เอส สาม สาม วีทเบียร์ตัวแรก เอาใจสายคราฟท์เบียร์ และเบียร์อิมพอร์ต “ธิตินันท์ ชุ่มภาณี” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเบียร์สิงห์ บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด ฉายภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลกว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ในโลกไม่สามารถอยู่เฉย ๆ ได้ เพราะเทรนด์ของคราฟท์เบียร์กำลังเข้ามาตีตลาดเบียร์ ไม่เฉพาะแค่ในไทย ดังนั้นค่ายเบียร์จะมีเฉพาะกลุ่มเมนสตรีม หรือเบียร์ที่เจาะตลาดแมสอย่างเดียวต่อไปไม่ได้ แต่ต้องเข้าไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนที่ซับซ้อนมากขึ้น

ตลาดเบียร์จะมีเซ็กเมนต์ย่อยจำนวนมาก ไม่ได้มีเพียงลาเกอร์เท่านั้น แต่ยังมีวีทเบียร์ ดาร์กเบียร์ รวมถึงเบียร์ 0% และฟรุตเบียร์ ที่กำลังมาแรงมากในอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ซึ่งบุญรอดเองก็มีความสนใจในเซ็กเมนต์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน

“ปีหน้าเราจะเห็นไลน์อัพใหม่ได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะเชื่อว่าการมีเพียงแบรนด์เดียวคงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งเขาไม่ได้ดื่มเอาเมา แต่เป็นเรื่องของรสชาติ ประสบการณ์ และไม่ได้เลือกดื่มแค่แบรนด์เดียวอีกต่อไปแล้ว”

“ธิตินันท์” ระบุว่า ปัจจุบันตลาดเบียร์สามารถแบ่งได้เป็นตลาดเมนสตรีมประมาณ 80% มีแบรนด์ อาทิ ลีโอ ช้าง ยูเบียร์ ตลาดพรีเมี่ยมเกือบ 20% มีแบรนด์ อาทิ สิงห์ ไฮเนเก้น และตลาดซูเปอร์พรีเมี่ยมซึ่งเป็นคราฟท์เบียร์ และอิมพอร์ตเบียร์ ที่ขณะนี้ยังมีสัดส่วนไม่ถึง 1% แต่เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีศักยภาพที่จะทำให้ตลาดเบียร์ภาพรวมเติบโตขึ้น

แม้ว่าตลาดจะเกิดเซ็กเมนต์ใหม่ ๆ ขึ้นมา แต่ก็เชื่อว่า “เบียร์สิงห์” มีกลุ่มฐานลูกค้าที่ชื่นชอบแบรนด์อย่างเหนียวแน่น อาจมีการไปลองแบรนด์ใหม่ ๆ บ้าง แต่ก็จะกลับมาที่สิงห์เสมอทิศทางของเบียร์สิงห์ก็ยังคงเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งต่อไปทั้งในประเทศ ตามหัวเมืองใหญ่ แหล่งท่องเที่ยว และตลาดต่างประเทศ

Advertisment

โจทย์หลักของ “ธิตินันท์” ยังคงใช้กลยุทธ์ “Premiumize” ตอกย้ำโพซิชันนิ่งความเป็นเบียร์พรีเมี่ยมให้ชัดเจนต่อไป ดังที่ทำมาตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผ่านการทำตลาดที่โฟกัสเฉพาะกลุ่มทาร์เก็ตจริง ๆ หรือคนที่มีกำลังซื้อปานกลางจนถึงค่อนข้างสูง อายุ 30 ปีขึ้นไป กิจกรรมต่าง ๆ ที่ออกมาก็จะเน้นไปที่เรื่องของไลฟ์สไตล์ งานอดิเรก การทำกับข้าว ถ่ายรูป ท่องเที่ยว ดนตรี เทศกาลอาหาร ฯลฯ แทนที่การทำสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งแบบเดิม

“สิงห์จะถูกสื่อสารออกมาในฐานะ Beer Brand ให้ผู้บริโภครู้สึกว่าจับต้องง่ายขึ้น และจะมีแคมเปญที่อธิบายว่าสิงห์คืออะไร ทำไมต้องเลือกดื่มสิงห์ ซึ่งก็จะอยู่ในองค์ประกอบ 3 อย่าง เช่น Reason to buy รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ Look and Feel ที่ให้ความรู้สึกทันสมัยขึ้น Brand Character ที่ชัดเจน”

Advertisment

ส่วนในต่างประเทศจะเน้นการขยายช่องทางการจำหน่ายภายนอกร้านอาหารและโมเดิร์นเทรดมากขึ้น เช่น ในผับ บาร์ โดยเลือกตลาดหลักที่ยอดขายค่อนข้างสูง เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ผ่านการเข้าไปทำกิจกรรมออนกราวนด์ร่วมกับดิสทริบิวเตอร์ ตลอดจนการสื่อสารในช่องทางดิจิทัลที่สามารถทำได้จากไทย

นอกจากนั้น “ธิตินันท์” ยังดูแลเรื่องการขยายตลาดต่างประเทศให้กับแบรนด์ลีโออีกด้วย โดยจะใช้โมเดลเดียวกับสิงห์ ที่เข้าไปเปิดตลาดแล้วตามร้านอาหารไทยที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งตอนนี้ได้นำลีโอไปวางขายในสวีเดน ออสเตรเลีย ไต้หวัน เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการวางแผนว่าจะไปเปิดตลาดที่ใดต่อไป

“วันนี้โครงสร้างของกลุ่มเบียร์ ผมว่าคุณภูริต ภิรมย์ภักดี ซีอีโอของกลุ่มแอลกอฮอล์เอาอยู่มาก ๆ และคุณสันติ ภิรมย์ภักดีเองก็ค่อนข้างจะปล่อยให้คิดไอเดียใหม่ ๆ แล้วนำมาเสนอ ซึ่งตอนนี้คุณสันติจะไปโฟกัสในการครีเอตสิ่งใหม่ ๆ เช่น สิงห์เอสเตท โปรเจ็กต์ที่มัลดีฟแทน”

แม้จะเป็นองค์กรใหญ่ แต่ก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปตามเทรนด์และโอกาสของตลาดที่เกิดขึ้น มูฟเมนต์ของบุญรอดจากนี้จะเป็นอย่างไร จึงน่าจับตาอยู่ไม่น้อย