“สตาร์บัคส์”ผุดแฟลกชิปหรู ร้านกาแฟแข่งดุเปิดสาขา

ร้านกาแฟพรีเมี่ยมแข่งดุ “สตาร์บัคส์” จัดหนักย้ำบัลลังก์แชมป์ ส่งร้านแฟลกชิป 3 ชั้นใจกลางสยาม ปั้นโมเดล “ซูเปอร์พรีเมี่ยม” ย้ำภาพผู้นำกาแฟ เดินหน้าเข้าถึงลูกค้ารอบทิศ ยึดทำเลใหม่รถไฟใต้ดินดักกำลังซื้อ-สารพัดคู่แข่งเร่งเปิดสาขา

ไม่เพียงแต่ร้านกาแฟสดรายย่อยที่ผุดขึ้นมาดักกำลังซื้อทุกตรอกซอกซอย รับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับการดื่มกาแฟสดมากขึ้น เชนร้านกาแฟแบรนด์ใหญ่ก็ยังไม่หยุดขยายสาขาเพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด ในวันที่การแข่งขันยังคงร้อนแรงทั้งจากผู้เล่นหน้าเก่า-ใหม่ที่เคลื่อนไหวช่วงชิงลูกค้าอย่างไม่มีใครยอมใคร ล่าสุด “สตาร์บัคส์” ยักษ์เชนร้านกาแฟพรีเมี่ยมจากสหรัฐ ก็ยกร้านโมเดลใหม่ใหญ่ 3 ชั้น มาเปิดที่สยามสแควร์วัน เร็ว ๆ นี้

แหล่งข่าวระดับสูงจาก บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สตาร์บัคส์เตรียมเปิดตัวร้าน “สตาร์บัคส์ สยามสแควร์วัน แฟลกชิป” สาขาแฟลกชิปที่ใหญ่ที่สุดของสตาร์บัคส์ ที่ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน เพื่อฉลองปีที่ 20 ของการดำเนินธุรกิจในไทย ย้ำภาพความเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมกาแฟ ล่าสุดได้เลื่อนวันเปิดตัวออกไประยะหนึ่งจากกำหนดเดิม 28 ธันวาคม 2560 โดยจะเปิดให้บริการ เร็ว ๆ นี้ สาขาใหม่ดังกล่าวอยู่บริเวณทางเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สยาม โดยความพิเศษของสาขานี้คือ จะมีพื้นที่ 3 ชั้น มาพร้อมคอนเซ็ปต์ “สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เอ็กซ์พีเรียนซ์ สโตร์” (Starbuck reserve experience store) โมเดลร้านกาแฟระดับซูเปอร์พรีเมี่ยมของสตาร์บัคส์ ซึ่งต่างจากสาขาปกติด้วยการมีเคาน์เตอร์พิเศษที่มีเมล็ดกาแฟหายากหมุนเวียนมาจากทั่วโลกทุก 2 เดือน มาเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค มีการใช้เครื่องชงคุณภาพสูง รวมทั้งมีมาสเตอร์คอฟฟี่ (coffee master) ผู้ชงกาแฟที่เชี่ยวชาญและมีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับกาแฟคอยให้บริการ

“สาขาแฟลกชิปนี้จะเป็นการตอกย้ำภาพผู้นำร้านกาแฟ ขณะเดียวกันก็มีการทยอยเปิดสาขาในทำเลใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การเปิดสาขาในเมโทรมอลล์ สถานีรถไฟใต้ดินหรือเอ็มอาร์ทีเพชรบุรี ที่ถือเป็นสาขาแรกของสตาร์บัคส์เมืองไทยที่เปิดที่สถานีรถไฟใต้ดิน เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่เดินทาง”

ก่อนหน้านี้ นายเมอร์เรย์ ดาร์ลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า สตาร์บัคส์มีแผนขยายสาขาต่อเนื่อง โดยเน้นมีโมเดลร้านหลากหลาย รองรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว พร้อมเทรนด์ความต้องการบริโภคกาแฟพรีเมี่ยมที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ซึ่งในเวลานี้สตาร์บัคส์ค่อนข้างได้เปรียบคู่แข่งในแง่จำนวนสาขาที่ครอบคลุมในหลายพื้นที่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสตาร์บัคส์ลงทุนเปิดสาขาในหลากหลายรูปแบบ โดยจะให้ความสำคัญออกแบบร้านแตกต่างกันไปเพื่อให้กลมกลืนกับในแต่ละพื้นที่ เช่น สตาร์บัคส์ วังน้อย พระนครศรีอยุธยา ที่ตกแต่งร้านด้วยอิฐแดง, สตาร์บัคส์ JAS Urban ศรีนครินทร์ มาในรูปแบบโบสถ์ทรงสูงสไตล์ยุโรป, สตาร์บัคส์ กาดฝรั่ง เชียงใหม่ ที่นำศิลปะล้านนามาผสมผสาน ฯลฯ ซึ่งนอกจากการออกแบบที่สะดุดตาและเป็นเอกลักษณ์แล้วนั้น สตาร์บัคส์ยังเดินหน้าเปิดสาขาในทำเลใหม่ และหลากหลายขึ้น

อาทิ เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เปิดสาขาเต็มรูปแบบในพื้นที่ค้าปลีกในสถานีรถไฟใต้ดิน (MRT) สถานีเพชรบุรี ซึ่งมีผู้โดยสารมากเป็นอันดับที่ 3 หมีที่นั่งจำนวนมาก จำหน่ายเครื่องดื่ม-เบเกอรี่ เมล็ดกาแฟ สินค้าเมอร์แชนไดส์ รองรับกลุ่มลูกค้าคนเมืองที่เข้ามาใช้บริการรถไฟใต้ดิน ปัจจุบันเชนยักษ์ร้านกาแฟจากสหรัฐอเมริกา “สตาร์บัคส์ คอฟฟี่” เปิดให้บริการแล้ว 322 สาขาทั่วประเทศ มีเป้าหมายเปิดครบ 400 สาขา ภายในปี 2562

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาตลาดร้านกาแฟพรีเมี่ยมที่มีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 8 พันล้านบาท มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง และมีหลาย ๆ แบรนด์ที่พยายามจะยกระดับเพื่อชนกับสตาร์บัคส์ อาทิ อเมซอน ที่เปิดเกมรุกด้วยการประกาศจะขยายสาขาเข้าไปตามห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าให้มากขึ้น และพร้อมจะเปิดประกบร้านสตาร์บัคส์ จากเดิมที่เน้นเปิดตามสถานีบริการน้ำมัน ส่วนคอฟฟี่ เวิลด์ หลังจากที่บริษัทน้ำมันรายใหญ่ “พีทีจี เอ็นเนอยี” ได้เข้าซื้อกิจการแล้วก็มีแผนจะขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เซกาเฟรโด ในเครือเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จะมุ่งขยายฐานกลุ่มลูกค้าไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น และประกาศจะเปิดสาขาให้ครบ 400 สาขา ภายในปี 2560 ด้านทรู คอฟฟี่ มีนโยบายจะมุ่งการขยายสาขาออกไปยังต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น รวมถึงการพัฒนาร้านภายใต้กลยุทธ์ดิจิทัลไลฟ์คาเฟ่ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม เพื่อสร้างความแตกต่างจากค่ายอื่น เป็นต้น

นอกจากเมนูกาแฟและเครื่องดื่มที่แต่ละค่ายมีการคิดค้นเมนูใหม่ ๆ ขึ้นมาแล้ว ยังมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้น รวมทั้งมีบริการต่าง ๆ เสริมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ