“หลุยส์วิตตอง-กุชชี่” รักษ์โลก พร้อมใจเลิกทำลายสินค้าเหลือ

‘หลุยส์วิตตอง-กุชชี่’ รักษ์โลก พร้อมใจเลิกทำลายสินค้าเหลือ
คอลัมน์ : Market-Move

นโยบายการทำลายสินค้าค้างสต๊อกทิ้งแทนการนำมาลดราคา เพื่อรักษาฐานราคาของบรรดาแฟชั่นลักเซอรี่แบรนด์ ถือเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งนักอนุรักษ์และผู้บริโภคทั่วไปมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดเหตุการณ์เหล่านี้กำลังจะกลายเป็นอดีต เมื่อแบรนด์แฟชั่นหรูรายใหญ่ทั้ง “แอลวีเอ็มเอช” (LVMH) เจ้าของแบรนด์หรูกว่า 75 แบรนด์ อาทิ หลุยส์ วิตตอง, คริสเตียน ดิออร์, เซลีน, เฟนดิ ฯลฯ

และคู่แข่งอย่าง “เคอร์ริ่ง กรุ๊ป” ซึ่งมีแบรนด์หรู เช่น กุชชี่, อีฟส์ แซงต์ โลรองต์, บาเลนเซียกา ฯลฯ ต่างพร้อมใจกันปรับนโยบายเกี่ยวกับการจัดการสินค้าค้างสต๊อก เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายต่อต้านความสิ้นเปลืองของรัฐบาลฝรั่งเศส ที่ห้ามการทำลายสินค้าที่ถูกส่งคืนหรือค้างสต๊อก ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2565 นี้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เครือแบรนด์หรูทั้ง 2 รายต่างอัพเกรดการบริหารสต๊อกสินค้า โดยเพิ่มความระมัดระวัง และติดตามข้อมูลจำนวนสินค้าที่มีอยู่ใกล้ชิดเป็นพิเศษ

รวมถึงปรับเปลี่ยนนโยบายการจัดการสินค้าค้างสต๊อกของตนใหม่ อาทิ การนำมาขายให้พนักงานในราคาพิเศษ ไปจนถึงนำไปบริจาคหรือรีไซเคิล แทนการนำไปทำลายทิ้ง เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายต่อต้านความสิ้นเปลือง

โดย เคอร์ริ่ง กรุ๊ป ลงทุนนำเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยบริหารจัดการสต๊อกสินค้า ส่วนแอลวีเอ็มเอชนั้นนอกจากการบริหารสต๊อกแบบละเอียดแล้ว ยังใช้การรีไซเคิลเข้ามาช่วยด้วย

โดยเป็นพันธมิตรกับ วีเทิร์น (WeTurn) องค์กรด้านรีไซเคิลที่รวบรวมเสื้อผ้าค้างสต๊อกและวัตถุดิบเหลือใช้มารีไซเคิลกลับเป็นผ้าหรือเส้นใยสำหรับนำกลับมาใช้ใหม่

ในขณะที่ดีไซเนอร์บางรายในวงการเริ่มหันมาใช้ชิ้นส่วนจากสินค้าคอลเล็กชั่นเก่าเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบสำหรับสินค้ารุ่นใหม่แทนการใช้วัตถุดิบใหม่ 100% แบบเดิม เช่น มาร์ค เจคอบส์

ซึ่งร่วมมือกับ “แฟบสแครป (Fabscrap)” องค์กรไม่แสวงกำไรที่ทำงานด้านรีไซเคิลผ้าด้วยการนำมาผลิตเป็นสินค้าหรือบริจาคให้นักศึกษา-ศิลปิน รวมถึงบริจาคสินค้าให้กับองค์กรการกุศลเพื่อนำไปแจกจ่ายต่อให้ผู้ด้อยโอกาสอีกด้วย

นอกจากนี้ ทั้ง 2 เครือรวมถึงแบรนด์อื่น ๆ ยังตัดสินใจระบายสินค้าค้างสต๊อกด้วยการนำออกมาขายราคาพิเศษให้กับพนักงาน ซึ่งมีจำนวนรวมกันทั้งอุตสาหกรรมมากกว่า 2 แสนคน แบ่งเป็นแอลวีเอ็มเอช 1.5 แสนคน เคอร์ริ่ง 3.8 หมื่นคน และแอร์เมส 1.6 หมื่นคน

“เฮเลน วาเลด” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสิ่งแวดล้อมของแอลวีเอ็มเอช อธิบายว่า กระบวนการคิดในวงการแฟชั่นเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว โดยเดิมทีดีไซเนอร์จะออกแบบสินค้าก่อนแล้วค่อยหาวัตถุดิบ

ที่ตรงกับไอเดียของตน แต่ปัจจุบันกระบวนการเริ่มย้อนกลับ โดยดีไซเนอร์หลายคนจะคิดไอเดียจากวัตถุดิบหรือสินค้าเดิมที่มีอยู่ในสต๊อกก่อน จึงช่วยลดความสิ้นเปลืองลงไปได้

ทั้งนี้ สินค้าที่มาจากกระบวนการใหม่นี้ยังได้รับการตอบรับดีจากลูกค้าด้วยเช่นกัน อาทิ กระเป๋าแบรนด์โลเอเว่ รุ่นที่ทำจากหนังอัพไซเคิลซึ่งมีราคาขาย 1.7 พันยูโร หรือประมาณ 6.4 หมื่นบาท นั้นปัจจุบันมีความต้องการสูงจนขาดตลาดอยู่

นอกจากนี้ เชื่อว่ากฎหมายใหม่จะกระตุ้นให้แบรนด์หรูสนใจความต้องการและพฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้ามากขึ้นอีกด้วย เพื่อทำให้การบริหารจัดการสต๊อกมีประสิทธิภาพสูงสุด และมีสินค้าค้างสต๊อกน้อยที่สุด

ด้านนักวิเคราะห์ในวงการสินค้าแฟชั่นหรู ต่างเห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เช่นเดียวกัน

“เอล กูสซิ” ผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าลักเซอรี่จากบริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ครูศ คอนซัลติ้ง อธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ว่า สาเหตุที่ทำให้แบรนด์หรูหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการสินค้าค้างสต๊อกกันนั้น

นอกจากกฎหมายใหม่ของฝรั่งเศสแล้ว การขยายตัวของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งแรงกดดันให้แบรนด์หรูต้องปรับตัว

ตัวอย่างหนึ่งคือ กรณีเมื่อปี 2561 ที่ “เบอร์เบอร์รี่” แบรนด์หรูสัญชาติอังกฤษ เปิดเผยว่า ในปี 2560 ได้ทำลายสินค้าค้างสต๊อกมูลค่า 28 ล้านปอนด์ หรือเท่ากับเสื้อโค้ตประมาณ 2 หมื่นตัว

จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวและเกิดการกดดันอย่างหนัก จนทางแบรนด์ต้องออกแถลงการณ์ให้คำมั่นว่าจะยกเลิกนโยบายนี้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป

“แน่นอนว่าวิธีการพื้นฐานอย่างการนำสินค้าค้างสต๊อกออกมาขายเลหลังลดราคานั้นไม่มีทางทำได้ เพราะสำหรับแบรนด์ระดับหรูเหล่านี้เมื่อสินค้าราคาถูกลงดีมานด์ก็จะลดลงตามไปด้วยเช่นกัน”

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งยังมองว่า การเติบโตต่อเนื่องของตลาดสินค้ามือสองตลอดช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 จนมีมูลค่าประมาณ 3.3 หมื่นล้านยูโร

หรือประมาณ 1,237 ล้านบาท ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้แบรนด์แฟชั่นหรูที่ก่อนหน้านี้มักมองข้ามลูกค้ากลุ่มนี้ หันมาเปิดรับโมเดลธุรกิจสินค้าหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่สนใจเฉพาะสินค้ามือสอง ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ต้นปีแล้ว แต่บรรดาแบรนด์หรูน่าจะมีเวลาปรับตัวอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากความพยายามบริหารสต๊อกสินค้าในช่วงที่ผ่านมา ร่วมกับปัญหาซัพพลายเชน ทำให้ขณะนี้วงการดีมานด์สูงกว่าซัพพลายอย่างต่อเนื่อง

“อาโนล คาดาร์ท” ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของบริษัทบริหารจัดการทรัพย์สินฟลอนอยระบุว่า ตั้งแต่ปี 2557 แอร์เมสแทบไม่ได้ทำลายสินค้าค้างสต๊อกเลย เนื่องจากเกือบทุกตัวขายหมด สอดคล้องกับความเห็นของ “เฮเลน วาเลด” จากแอลวีเอ็มเอชที่ระบุว่า ตอนนี้ปัญหาของกลุ่มเครื่องหนังจะเป็นการมีสินค้าไม่พอขายมากกว่าจะขายไม่ออก

จากความเคลื่อนไหวเหล่านี้น่าจะทำให้แบรนด์แฟชั่นหรูรายอื่น ๆ พยายามปรับตัวตาม ซึ่งต้องรอดูว่าแต่ละรายจะมียุทธศาสตร์อย่างไร