“ฮิตาชิ” เปิดแนวรบใหม่ บุก “โซลูชั่น-เอไอ” รับโลกแห่งอนาคต

ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ “เอไอ” (AI) ได้กลายเป็นจุดสนใจของผู้คนทั่วโลกเมื่อ “อัลฟ่าโกะ” (AlphaGo) เอไอที่พัฒนาโดยดีปมายด์แลป บริษัทในเครือของยักษ์ไอทีกูเกิล สามารถเอาชนะนักเล่นโกะอันดับ 1 ของโลกได้ สะท้อนถึงความก้าวหน้าและศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ซึ่งมาไกลกว่าที่หลายฝ่ายคาดเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ความสามารถของเอไอนั้นไม่ได้มีเพียงการเล่นโกะหรือหมากรุก แต่ยังรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าเพื่อสร้างโซลูชั่นในด้านอื่น ๆ อย่างการแพทย์ การเงิน การตลาดบันเทิง ฯลฯ เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกวงการ ในอีกด้านหมายถึงโอกาสมหาศาลทางธุรกิจ กระตุ้นให้บริษัทใหญ่ทั่วโลกต่างเดินหน้าพัฒนาเอไอของตนเองออกมาหวังชิงตำแหน่งผู้นำในตลาดใหม่นี้ อาทิ “วัตสัน” ของไอบีเอ็มที่ประสบความสำเร็จในการวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดหายากที่แม้แต่แพทย์ยังทำไม่ได้

สำหรับฝั่งญี่ปุ่นเอง “ฮิตาชิ” ได้เข้าร่วมกระแสนี้เช่นเดียวกัน ด้วย “ลูมาด้า” (Lumada) แพลตฟอร์มลูกผสมระหว่างอินเทอร์เน็ตออฟทิงส์ (IOT) และเอไอ พร้อมจุดเด่นที่ความยืดหยุ่นสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายวงการ ทั้งเชิงธุรกิจและสังคม ด้วยการรับข้อมูลจากระบบอินเทอร์เน็ตออฟทิงส์ และนำมาประมวลผลด้วยเอไอ สร้างโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ของลูกค้าแต่ละรายตามเป้าหมายที่จะยกระดับจากผู้จำหน่ายสินค้า-บริการ ไปเป็นการจำหน่ายโซลูชั่นครบวงจร

“นายโตชิอากิ ฮิกาชิฮาระ” ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทฮิตาชิ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ปัจจุบันดีมานด์โซลูชั่นพุ่งสูงขึ้นและจะเพิ่มขึ้นอีกต่อเนื่องไปในอนาคต เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและโจทย์ใหญ่ ๆ ที่ยังรอการแก้ไข อาทิ พลังงาน ความปลอดภัย สุขภาพ สังคมสูงอายุ และอื่น ๆ จึงตัดสินใจปรับกลยุทธ์ยกระดับจากการผลิต-จำหน่ายสินค้าไปสู่การสร้างและจำหน่ายโซลูชั่นครบวงจรอาศัยสถานะยักษ์อุตสาหกรรมซึ่งมีสินค้าหลากหลาย ทั้งด้านอุตสาหกรรม ธุรกิจ และครัวเรือน รวมถึงความเชื่อถือจากการดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน ช่วยให้บริษัทมีข้อได้เปรียบทั้งด้านองค์ความรู้ ข้อมูลอินไซต์และพันธมิตรในแต่ละธุรกิจ รวมถึงความพร้อมของอุปกรณ์ไอโอทีที่จะใช้เก็บข้อมูลบิ๊กดาต้าเพื่อนำมาให้เอไอวิเคราะห์

เรื่องนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของผู้เล่นในตลาดโซลูชั่น พร้อมกับสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นพร้อมกันนี้ภายในงาน “ฮิตาชิ โซเชียล อินโนเวชั่น ฟอรั่ม 2017” ฮิตาชิได้นำเสนอผลงานของ “ลูมาด้า” รวมถึงนวัตกรรมอื่น ๆ ทั้งที่มีใช้งานแล้วและคอนเซ็ปต์สำหรับอนาคตมาโชว์ให้ทั้งคู่ค้า นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไป ได้สัมผัสอย่างพร้อมเพรียง

สำหรับผลงานของลูมาด้านั้นมีหลากหลาย ทั้งด้านการบริหารบุคคลในองค์กรรัฐ-เอกชน ซึ่งบริษัทได้พัฒนาอุปกรณ์สวมใส่สำหรับเก็บข้อมูลความเครียดในการทำงานและนำมาวิเคราะห์เพื่อปรับสภาพแวดล้อม-กระบวนการทำงานให้เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยระบบนี้ประสบความสำเร็จในการทดลองใช้ภายในบริษัท

ส่วนด้านขนส่งมวลชน มีการนำไปใช้จริงในหลายประเทศแล้ว อย่างระบบแจ้งเตือนจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายโตคิวในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอาศัยการทำงานของเอไอร่วมกับกล้องวงจรปิดเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมและจำนวนผู้โดยสารในสถานี และแจ้งเตือนผ่านแอปแบบเรียลไทม์ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถหลีกเลี่ยงความแออัดในชั่วโมงเร่งด่วนได้ หรือจัดระบบการเดินรถไฟในกรุง

โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กแบบอัตโนมัติตามจำนวนผู้โดยสารในแต่ละช่วงของวัน รวมถึงระบบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่เตรียมทดลองบนถนนสาธารณะที่ญี่ปุ่นภายในไตรมาสแรกปี 2561 หวังประยุกต์ใช้อำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุสามารถเดินทางได้ง่าย เช่นเดียวกับด้านการเงินที่ช่วยวิเคราะห์ปริมาณเงินสำรองที่จำเป็นในสาขาและตู้เอทีเอ็ม เป็นต้น

อีกหนึ่งในไฮไลต์ของงานคือ นวัตกรรมหุ่นยนต์รูปแบบต่าง ๆ อาทิ “แม็กนัส” (Magnus) หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ซึ่งสามารถเรียนรู้พฤติกรรมและบุคลิกของผู้ที่ตนดูแลได้ ช่วยให้การดูแลใกล้ชิดเป็นกันเอง รวมถึงสามารถช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เช่น เตือนไม่ให้กินยาซ้ำ หาเส้นทางกลับบ้านหรือชื่อ-เบอร์ติดต่อของญาติ ซึ่งฮิตาชิได้นำรุ่นต้นแบบมาให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองสัมผัส

นอกจากนี้ ยังมีหุ่นยนต์รูปแบบมนุษย์สำหรับงานต้อนรับและนำทาง “อีมิว3” (EMIEW3) ที่ทำงานร่วมกับระบบความปลอดภัยและฐานข้อมูลของสถานที่นั้นเพื่อต้อนรับ ตอบคำถาม และนำทางผู้ใช้ไปยังสถานที่ที่ต้องการ หรือไปยังสถานที่ปลอดภัยในกรณีฉุกเฉิน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนวัตกรรมที่ “ฮิตาชิ” นำมาโชว์ในงาน สะท้อนให้เห็นของความมุ่งมั่นและศักยภาพของยักษ์อุตสาหกรรมรายนี้ที่จะก้าวข้ามไปยังตลาดโซลูชั่นและขึ้นเป็นผู้เล่นชั้นแนวหน้า