กรมอนามัยชี้สิ่งที่ต้องทำก่อนสงกรานต์-เดือนรอมฎอน

สงกรานต์
ภาพจากมติชน

“กรมอนามัย” เปิดแนวปฏิบัติก่อนสงกรานต์ เร่งทำความสะอาดบ้าน-ชุมชน รวมถึงแนะชาวไทยมุสลิมทำตามมาตรการในเดือนรอมฎอนอย่างเคร่งครัด

วันที่ 30 มีนาคม 2565 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึง แนวปฏิบัติเตรียมบ้านพร้อมรับกับเทศกาลสงกรานต์ จากข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอต่อ ศบค. การคาดการณ์ว่าผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่รายวันจะเพิ่มขึ้น หากพี่น้องประชาชนหย่อนมาตรการ จากผลสำรวจอนามัยโพลเกี่ยวกับภาพรวมการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากในที่สาธารณะ และการเว้นระยะห่าง ข้อมูลของการปฏิบัติทั้ง 3 อย่าง พบประมาณร้อยละ 80 โดยเดือนมีนาคม 2565 มีพฤติกรรมครบถ้วนร้อยละ 81

จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตาม Universal Prevention ในการปฏิบัติตาม DMS เพื่อความปลอดภัยทั้งตัวเองและคนในครอบครัว

จากผลการสำรวจอนามัยอีเวนต์โพล ถึงการวางแผนการเข้าร่วมกิจกรรม พบว่าเลือกอยู่บ้าน 50%, ร่วมกิจกรรมที่วัด 33%, รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ 31% และกินข้าวสังสรรค์ 27% โดยทุก ๆ กิจกรรมเกี่ยวข้องกับการอยู่บ้านและชุมชน จากแนวโน้มพฤติกรรมการป้องกันในครัวเรือน พบว่าการสวมหน้ากากเพิ่มขึ้น 70% ถัดมาเป็นการคัดแยกขยะหน้ากากอนามัยและผลตรวจ ATK และการทำความสะอาดพื้นที่อยู่ในระดับทรงตัว

ทั้งนี้ยอมรับว่าพฤติกรรมการป้องกัน อาจมีข้อจำกัด เริ่มจากการทำความสะอาดพื้นสัมผัส มีข้อจำกัดด้านเวลา ไม่ได้ทำเป็นประจำ หรืออุปกรณ์ไม่เพียงพอ ส่วนการคัดแยกขยะมีข้อจำกัดคือไม่มีขยะ ที่แยกออกมา ทำให้ต้องทิ้งรวมกับขยะทั่วไป

สำหรับหลักการจัดการบ้านและชุมชน ประกอบด้วย จัดสภาพแวดล้อม ระบายอากาศ ทำความสะอาด และจัดการขยะติดเชื้อ ควรนำหลักการไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทในแต่ละบ้าน เพื่อสร้างความปลอดภัย

โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์ต้องเตรียมสภาพแวดล้อม ระบบระบายอากาศในบ้าน ทั้งในแง่ของความสะอาด เน้นจุดที่มีความเสี่ยงสูง รวมไปถึงการจัดบ้านหลังจากพบว่ามีการติดเชื้อ แบ่งเป็น 2 ส่วน กรณีที่มีห้องแยก สามารถแยกห้องได้เลย และแยกของใช้ส่วนตัว ส่วนกรณีไม่มีห้องแยกอาจใช้กันพื้นที่ โดยใช้ฉากกั้น และหากต้องใช้ห้องน้ำรวมต้องเข้าหลังสุดและทำความสะอาด

ส่วนการกำจัดขณะติดเชื้อ กรณีที่มีถุงแดงจัดพื้นที่ให้สำหรับทิ้งขยะ และมัดปากถุงให้แน่น ฉีดพ่นด้วยแอลกอฮอล์ 70% นำไปทิ้งในจุดขยะติดเชื้อ ถ้าไม่มีจุดทิ้งขยะสามารถพ่นฉีดแอลกอฮอล์รอบ ๆ ถุงและใช้ถุงขยะซ้อนอีกหนึ่งถุง

ด้านการป้องกันตัวเองที่บ้าน ต้องสวมหน้ากากอนามัยในบ้าน ล้างมือบ่อย ๆ หมั่นทำความสะอาดจุดสัมผัส รักษาระยะห่าง แยกของใช้ส่วนตัว และหากมีอาการหรือเสี่ยงสูงตรวจ ATK ทันที ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการที่ช่วยให้ประชาชนได้อยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย

นายสุธรรม บุญมาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี กล่าวต่อถึง มาตรการความปลอดภัยป้องกันโรคโควิด-19 ในการปฏิบัติศาสนกิจ ช่วงการถือศีลอด เดือนรอมฎอน ปี 2565 ชาวไทยมุสลิมช่วงถือศีลอด การประกอบพิธีกรรมหลายอย่างอาจมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด เนื่องจากการรวมกลุ่มคน และมีกิจกรรมร่วมกัน ดังนั้นการเตรียมชุมชนมัสยิด เพื่อให้ปลอดภัยกับช่วงเดือนรอมฎอนที่จะถึง

สำหรับการเตรียมตัวเข้าร่วมกิจกรรม มีดังนี้ 1.ต้องได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนด 2.ตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยงสูง 3.ปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล UP-DMH 4.ใช้เวลารวมกลุ่มน้อยที่สุด 5.ปฏิบัติตามมาตรการของมัสยิด