‘แม็คโคร’ บุกหนักไทย-เทศ เปิดสาขา-บูมค้าส่งออนไลน์

“แม็คโคร” กางแผนลงทุนไทย-เทศ อัดงบฯ 11,000 ล้าน ปูพรมเพิ่ม 35 สาขา ชูโมเดล foods service ขนาดเล็กหัวหอกหลักเจาะชุมชน พร้อมเร่งเครื่องกลยุทธ์ O2O เปิดตัว maknet มาร์เก็ตเพลซค้าส่งออนไลน์ ดึงผู้ประกอบการ พันธมิตรขายสินค้าเพิ่ม หวังดันยอดขายออมนิแชนเนลเพิ่ม 30% ใน 3 ปี ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ตลาดค้าส่งบนแพลตฟอร์มออนไลน์

นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจค้าส่งแม็คโคร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากนี้ไปแม็คโครจะให้ความสำคัญกับการขยายตลาดทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ (O2O) เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน

โดยเฉพาะยุคหลังโควิดที่ต้องการความสะดวกสบาย และจับจ่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยปีนี้ได้วางงบประมาณการลงทุนไว้ 11,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ 35 สาขาเป็นสาขาในประเทศ 30 สาขา

โดยจะโฟกัสการขยายสาขาในรูปแบบโมเดลfoods service ขนาดเล็ก ที่พื้นที่ตั้งแต่ 1,000-2,000 ตร.ม. เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าและชุมชนให้มากที่สุด และการขยายสาขาเพื่อรองรับบริการออนไลน์ของแม็คโครในอนาคต ปัจจุบันแม็คโครมีสาขา 144 แห่ง ครอบคลุมกว่า 67 จังหวัด

ส่วนการขยายสาขาในต่างประเทศเพิ่มอีก 5 แห่ง เป็นอินเดีย 3 สาขา กัมพูชา 2 สาขา จากปัจจุบันมี 7 สาขา ใน 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา 2 สาขา, เมียนมา 1 สาขา, อินเดีย 3 สาขา และจีน 1 สาขา คาดว่าน่าจะสามารถผลักดันสัดส่วนยอดขายเพิ่ม 1% จากปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ราว 5%

“แม้ช่วงต้นปีที่ผ่านมาสถานการณ์ตลาดสินค้าโฮเรก้า ร้านอาหาร และโรงแรม เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นจากปัจจัยในเรื่องของมาตรการ Test & Go ขณะที่ช่วงไตรมาส 2 จากนี้ไป ประเมินว่าจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ สัญญาณตลาดน่าจะดีขึ้น ส่วนการลงทุนและการขยายสาขายังต้องประเมินสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”

นางสุชาดากล่าวต่อไปว่า ขณะที่งบประมาณอีก 2,000 ล้านบาท จะนำไปใช้ในการพัฒนาในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่อเนื่องตลอดช่วง 4 ปี (2564-2567) ภายใต้กลยุทธ์เข้าสู่การทำธุรกิจ O2O อย่างเต็มรูปแบบ ล่าสุดได้เปิดตัว “maknet” ในรูปแบบ B2B marketplace

หรือตลาดค้าส่งออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการ มีจุดเด่น คือ การเป็นตลาดค้าส่งออนไลน์ ภายใต้กลยุทธ์ End to End Solution ตอบสนองความต้องการของร้านอาหารแบบครบวงจร ทั้งสินค้าและบริการ ทำให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้ทั้งที่มีจำหน่ายในแม็คโคร และยังขยายสินค้าเพิ่มเติมจากร้านค้าพันธมิตรอีกกว่า 1,000 รายที่เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ยังมีบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจร้านอาหารอย่างครบถ้วน โดยมี “maknet” เป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มแห่งโอกาสที่เปิดพื้นที่ให้กับผู้ผลิต SMEs ได้เข้าถึงช่องทางจำหน่ายและลูกค้าที่หลากหลาย

รวมถึงได้ใช้เทคโนโลยีและโลจิสติกส์ที่ทันสมัย ผ่าน 3 คีย์หลัก คือ การขยายฐานลูกค้า, ขยายฐานคู่ค้า ผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ และการขยายบริการ หลังบริษัทนำร่องทำตลาดด้วยการเปิดตัว MakroClick ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการกว่า 5 แสนราย

“แพลตฟอร์ม maknet เปิดให้บริการนำร่องในโซนกรุงเทพฯตะวันตก ระยะทางกว่า 30 กม. จากสโตร์หลัก โดยในไตรมาส 2 นี้จะเปิดตัวให้บริการครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ และแม้ก่อนหน้าเราจะมีช่องทางออนไลน์ MakroClick อยู่แล้ว แต่เป็นเพียงแพลตฟอร์มขนาดเล็กที่ใช้ขายสินค้าของแม็คโคร

โดยเน้นอาหารเป็นหลัก การเปิดตัว “maknet” จะเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ หรือการเป็น B2B online marketplace โดยจะดึง MakroClick เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม พร้อมดึงพันธมิตรคู่ค้าเข้ามาวางจำหน่ายสินค้า และมองหากลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร (nonfoods) เข้ามาเสริม”

โดยวางเป้าหมายของแพลตฟอร์ม maknet เป็นแพลตฟอร์มที่ครบวงจรสำหรับ B2B ครอบคลุมสินค้ากว่า 100,000 รายการ พร้อมทั้งก้าวขึ้นเป็นแพลตฟอร์ม B2B online marketplace อันดับ 1 ของไทย ด้วยจุดเด่นคือความครบจบในที่เดียว เป็นแพลตฟอร์มแรกที่ลูกค้าผู้ประกอบการจะนึกถึง ในทุกช่วงเวลาของการทำธุรกิจ

ไม่ว่าจะต้องการเปิดร้าน หรือเปิดอยู่แล้วต้องการหาวัตถุดิบใหม่ ๆ รวมถึงการปรับปรุง ขยายร้าน โดยตั้งเป้าภายใน 3 ปี (ปี 2567) จะมีเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ราย มีสินค้ากว่า 350,000 รายการ และมีลูกค้าผู้ประกอบการ 500,000 ราย ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการเติบโตให้กับแม็คโคร จากปัจจุบันที่มียอดขายสินค้าผ่านช่องทาง omnichannel จาก 12% เป็น 30% ภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า

“ขณะนี้แม้ว่าราคาสินค้าต่าง ๆ จะปรับเพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น แต่เรายังไม่มีแผนปรับขึ้นราคาสินค้าแต่อย่างใด และมั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้ดี

ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเดินหน้ากลยุทธ์ O2O อย่างเต็มที่ จากปีที่ผ่านมาที่สามารถปิดยอดขายได้กว่า 2.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 95% ต่างประเทศราว 5%”