กรมอนามัย แนะช่วงสงกรานต์ ตลาด-ร้านอาหาร การ์ดอย่าตก

ร้านอาหาร
FILE PHOTO : Jack TAYLOR / AFP

ความแออัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุด

วันที่ 15 เมษายน 2565 ​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ประกอบการตลาด ร้านอาหาร การ์ดไม่ตก ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting สร้างความปลอดภัย พร้อมให้บริการในช่วงเทศกาลสงกรานต์

​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ สถานประกอบการประเภทตลาด และร้านอาหาร ยังคงต้องเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

ซึ่งผลการสำรวจอนามัยโพล ระหว่างวันที่ 1–11 เมษายน 2565 พบว่า มาตรการที่ตลาดปฏิบัติได้มากที่สุด คือ กำหนดจุดเข้า-ออกชัดเจน และวัดอุณหภูมิก่อนเข้า ร้อยละ 80 รองลงมาคือ มีการระบายอากาศที่ดี ร้อยละ 51 มีจุดล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ ร้อยละ 50 ตามลำดับ

โดยความเสี่ยงที่พบ คือ คนแออัด ไม่เว้นระยะห่าง ร้อยละ 54 พ่อค้า แม่ค้า ตะโกน คุยกัน โดยไม่สวมหน้ากากหรือสวมไม่ถูกต้อง ร้อยละ 27 พ่อค้า แม่ค้า มีสุขอนามัยที่ไม่ดี เช่น ไม่ล้างมือ ทิ้งขยะไม่เป็นที่ เลี้ยงสัตว์บนแผงขายของ ร้อยละ 14 มีขยะล้นถัง และมีแมลงวัน หนู แมลงสาบ ร้อยละ 12 และแผงร้านค้าอยู่ติดกันไม่เว้นระยะห่าง ร้อยละ 5

จึงขอเน้นย้ำสถานประกอบการตลาดทั่วประเทศคุมเข้มและปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting โดยจัดให้มีจุดเข้า-ออกเหมาะสมกับขนาดพื้นที่ จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1–2 เมตร จัดระบบการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาดทำลายเชื้อทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณพื้นผิวสัมผัสร่วมให้ทำความสะอาดทุกชั่วโมง จัดให้มีภาชนะรองรับขยะแบบมีฝาปิดมิดชิด และต้องล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมให้มีการระบายอากาศที่ดี

ส่วนพ่อค้า แม่ค้า ผู้ปฏิบัติงานในตลาด ควรคัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าตลาดด้วยการประเมินผ่าน “ไทยเซฟไทย” หากพบเสี่ยงปานกลางหรือเสี่ยงสูง งดให้บริการ และตรวจ ATK ทันที ส่วนผู้รับบริการปฏิบัติตามหลัก UP (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด

​“สำหรับร้านอาหาร จากผลการสำรวจอนามัยโพล ระหว่างวันที่ 1–11 เมษายน 2565 พบว่า มาตรการปฏิบัติ ได้มากที่สุด คือทำความสะอาดโต๊ะ ที่นั่ง ทันทีก่อน-หลังใช้บริการ ร้อยละ 73 รองลงมาคือ มีเจลแอลกอฮอล์ ประจำโต๊ะ ร้อยละ 61 เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร และไม่นั่งตรงข้ามกัน หรือมีฉากกั้น ร้อยละ 51 ตามลำดับ

ส่วนมาตรการที่พบเห็นว่าปฏิบัติได้น้อยที่สุด คือ จำกัดเวลาทานอาหารไม่เกิน 2 ชั่วโมง ร้อยละ 18 รองลงมาคือ พนักงานแยกกันกินอาหาร ไม่รวมกลุ่มกัน ร้อยละ 20 เห็นใบประกาศ COVID Free Setting หรือ Thai Stop COVID Plus ที่ร้านอาหาร ร้อยละ 5 และยังพบเห็นผู้อื่นสวมหน้ากากไม่ถูกต้องหรือไม่สวม ร้อยละ 19.6

ดังนั้น ขอให้ร้านอาหารเฝ้าระวังความเสี่ยงตามมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยปฏิบัติดังนี้ 1) ทำความสะอาดโต๊ะทันที หลังใช้บริการ 2) ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมและห้องน้ำ ทุก 1-2 ชั่วโมง 3) จัดอุปกรณ์กินอาหารเฉพาะบุคคล 4) กรณีจัดบริการอาหารรูปแบบผู้บริโภคบริการตนเองหรือบุพเฟ่ต์ ต้องจัดบริการถุงมือให้กับผู้บริโภค

5) จัดบริการเจลแอลกอฮอล์ประจำทุกโต๊ะ หรือบริเวณที่เข้าถึงง่าย 6) เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลและโต๊ะกินอาหาร 1-2 เมตร หากมีพื้นที่จำกัดมีระยะไม่ถึง 1 เมตร ให้ทำฉากกั้น 7) จำกัดระยะเวลากินอาหารไม่เกิน 2 ชั่วโมง และ 8) มีการจัดการระบบระบายอากาศที่ดี โดยห้องน้ำควรเปิดพัดลมระบายอากาศตลอดเวลาที่ให้บริการ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว