บุญฤทธิ์ มหามนตรี ไลอ้อนก้าวสู่ยุค ‘เมต้าเวิร์ส’

จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และลากยาวมาถึงปัจจัยลบสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ซ้ำเติมให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับตัวอย่างหนัก เช่นเดียวกับ “ไลอ้อน ประเทศไทย” ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ภายใต้แบรนด์ เปา, ซิสเท็มมา, โคโดโม, โชกุบุสซึ ฯลฯ ในเครือสหพัฒน์ ที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 53 ปีต้องปรับยุทธศาสตร์เพื่อรองรับความท้าทายรอบด้าน

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “บุญฤทธิ์ มหามนตรี” ประธานกรรมการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ถึงการปรับตัวรับมือกับปัจจัยลบที่เกิดขึ้น ตลอดจนทิศทางของไลอ้อนต่อจากนี้

“บุญฤทธิ์” เริ่มต้นสนทนาว่าตอนนี้ทุก ๆ ธุรกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาเกือบ 2 ปีเต็ม และกำลังจะย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ที่ยังมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อและมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

แน่นอนว่ามีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งการใช้ชีวิต การทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงการเข้าซื้อของในร้านค้าลดลง ทั้งจากความกังวลในการติดเชื้อและมีกำลังซื้อลดลง ต้องประหยัด จากที่เคยซื้อตุนไว้ใช้ในหลาย ๆ รายการ แต่วันนี้ซื้อน้อยลง หรือซื้อเฉพาะตัวสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น

ที่สำคัญวิกฤตโควิด-19 ยังไม่ทันซา ปีนี้ต้องมาเจอปัญหาเรื่องสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนอีก ส่งผลกระทบอย่างหนักโดยเฉพาะเรื่องพลังงาน ความผันผวนของราคาน้ำมัน วัตถุดิบ และการขนส่งระบบโลจิสติกส์ที่ส่งผลให้ต้นทุนต่าง ๆ พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการค่อนข้างกังวลเนื่องจากได้รับผลกระทบรอบด้าน

เช่นเดียวกับบริษัทซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ตอนนี้กลุ่มสินค้าบางรายการอยู่ในภาวะขาดทุนหมด เพราะต้นทุนวัตถุดิบขยับขึ้นสูงโดยเฉพาะกลุ่มผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าสินค้ากลุ่มอื่น รวม ๆ แล้วต้นทุนทั้งหมดเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20-30%

จึงจำเป็นต้องปรับราคา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาปรับขึ้นราคาให้เหมาะสม และต้องไม่กระทบกับผู้บริโภคมากนัก ควบคู่กับลดต้นทุนด้านการบริหารงานอื่น ๆ เข้าช่วย

แม่ทัพใหญ่ค่ายไลอ้อนกล่าวต่อไปว่า จากผลกระทบข้างต้นทำให้ภาพรวมการทำตลาดในประเทศที่ผ่านมายังไม่เติบโตมากนัก ทำให้จากนี้ “ไลอ้อน” ต้องปรับยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน เริ่มจากการเพิ่มน้ำหนักขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น และหันมาให้ความสำคัญในการผลักดันสินค้าที่ยังพอทำกำไร เช่น แป้งเด็กโคโดโม และครีมอาบน้ำโชกุบุสซึ และต้องพยายามเพิ่มพอร์ตสินค้ากลุ่มนี้ให้มากขึ้น

สำหรับแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ยังคงให้ความสำคัญกับกลยุทธ์หลัก สินค้าไลอ้อนทุกตัวจะเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับคนแต่ละวัย ในราคาสมเหตุสมผล โดยคอร์แวลูของสินค้าแต่ละวัยไม่เหมือนกัน ต้องการดูแลในเรื่องที่ต่างกัน และมีการทำตลาดให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้หลายกลุ่ม

โดยปี 2565 จะเน้นใช้วัตถุดิบท้องถิ่น อาทิ เมล็ดมะไฟจีน และกากข้าว มาผนวกกับเทคโนโลยีเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะที่สินค้าสำหรับผู้สูงวัยแบรนด์กู๊ดเอจหลังทดสอบตลาดมากว่า 3 ปี และได้กระจายสินค้าไปยังช่องทางค้าปลีกมากขึ้น ทำให้ได้รับการตอบรับอย่างดี ต่อไปจะมีไลน์สินค้าใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น

นอกจากนี้ ไลอ้อนต้องการเพิ่มสัดส่วนตลาดส่งออก จากปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 10% เท่านั้นจากการทำตลาดในประเทศแถบอาเซียน ยุโรป และรัสเซีย โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายรวมอยู่ที่เกือบ ๆ 20,000 ล้านบาท

ต่อจากนี้ต้องการขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ที่มีโอกาสมากขึ้น เช่น ตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบีย หลังจากมีการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ คาดว่าจะเป็นโอกาสสำคัญในการนำสินค้าเข้าไปเจาะตลาด

โดยสินค้าขายดีในตลาดต่างประเทศ ได้แก่ แป้งเด็กโคโดโม, ครีมอาบน้ำโชกุบุสซึ และภายในปี 2565 คาดว่าจะมีการเติบโตไม่เกิน 5%

พร้อมกันนี้คีย์แมนไลอ้อนย้ำในตอนท้ายว่า นอกจากนี้ ต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง จึงได้พัฒนาโครงการ Lion Metaverse จัดทำบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (smart packaging) ให้ผู้บริโภคสามารถใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนสแกนคิวอาร์โค้ดที่ตัวบรรจุภัณฑ์สินค้า

เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ได้ง่ายสะดวกและรวดเร็วขึ้น อีกด้านจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนการดำเนินงาน โดยคาดว่าภายใน 2-3 เดือนจะได้เห็นความชัดเจนของโครงการนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ที่มีมูลค่ากว่า 4.42 แสนล้านบาท ในช่วงโควิดอยู่ในภาวะชะลอตัวจากกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในทุก ๆ ปี ทำให้ผู้ประกอบการตกอยู่ในภาวะลำบาก ดังนั้น ต้องประคองตัวให้ดี