แอสตร้าเซนเนก้าเผยวัคซีนโควิดชนิดไวรัลเวกเตอร์-mRNA มีประสิทธิผลเท่ากัน

แอสตร้าเซนเนก้า
REUTERS/Athit Perawongmetha/File Photo

แอสตร้าเซนเนก้า เผยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดไวรัลเวกเตอร์ กับ mRNA มีประสิทธิผลเท่ากัน ในการป้องกันการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19

วันที่ 27 เมษายน 2565 รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลฉบับใหม่ โดยผู้เชี่ยวชาญงานวิจัย ที่มาจากกรณีศึกษากว่า 79 เรื่อง เปิดเผยว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ (Viral Vector) และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ให้ประสิทธิผลในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล อยู่ที่ 91.3-92.5% และการเสียชีวิต อยู่ที่ 91.4-93.3% ถือว่าอยู่ในระดับเดียวกัน โดยไม่มีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งครอบคลุมผู้ป่วยในทุกช่วงอายุ

แม้ข้อมูลในขณะที่ทำรายงานการวิเคราะห์ฉบับนี้ จะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่ข้อมูลจากการระบาดระลอกใหม่ ชี้ให้เห็นถึงผลที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนต่อการป้องกันอาการรุนแรงจากสายพันธุ์โอมิครอน

ศาสตราจารย์กาย ทเวทส์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยทางคลินิกของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศเวียดนาม เปิดเผยว่า วัคซีนป้องกันโควิดมีความสำคัญต่อการช่วยชีวิตและช่วยให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญ แสดงให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันโควิดของแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนชนิด mRNA ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันต่างให้ประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด-19 ได้ในระดับสูง และเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับภาครัฐและผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาค เพื่อพิจารณานำวัคซีนป้องกันโควิดไปใช้กับประชาชนได้อย่างเหมาะสมทั้งปัจจุบันและอนาคต

ด้านแพทย์หญิงสุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวต่อว่า เราควรพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ใช่เพียงแค่ระดับการตอบสนองของแอนติบอดีเบื้องต้น แต่ต้องดูประสิทธิผลของวัคซีนจากกรณีศึกษาจริง เพื่อพิสูจน์ว่าวัคซีนที่ใช้นั้นได้ผล โดยสามารถป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ จึงได้ศึกษางานวิจัยกว่า 79 เรื่อง ที่ศึกษาเกี่ยวกับการใช้วัคซีนจริง และพบว่าวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ และวัคซีน mRNA ที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายมีประสิทธิผลป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้

เช่นเดียวกับข้อมูลที่ถูกวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากทั่วเอเชียนั้นมาจาก VIEW-hub ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแบบอินเตอร์แอ็กทีฟ ที่แสดงข้อมูลระดับโลกพร้อมภาพประกอบเกี่ยวกับการใช้วัคซีนและผลกระทบ โดยถูกพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของวิทยาลัยสาธารณสุขจอห์น ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก และศูนย์การเข้าถึงวัคซีนนานาชาติ โดยแพลตฟอร์มนี้ได้รับการอัพเดตข้อมูลในทุกสัปดาห์เพื่อเป็นแหล่งรวมกรณีศึกษาจริงจากทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิผลของวัคซีน

อีกทั้งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ หรือไวรัสพาหะ ซึ่งหมายถึงการนำเชื้อไวรัสที่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของวัคซีน ทำให้ร่างกายเรียนรู้กับเชื้อหากสัมผัสไวรัสจริง โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนวิธีนี้ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เพื่อต่อสู้กับโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ซิกา และเอชไอวี 4 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แอสตร้าเซนเนก้าและพันธมิตรทั่วโลกได้ส่งมอบวัคซีนมากกว่า 2.9 พันล้านโดส ให้กว่า 180 ประเทศทั่วโลก โดยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนวัคซีนดังกล่าวได้ถูกส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และช่วยป้องกันการติดเชื้อกว่า 50 ล้านราย ป้องกันอาการเจ็บป่วยในระดับที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 5 ล้านราย และได้ช่วยปกป้องชีวิตผู้คนกว่า 1 ล้านราย