คอนเสิร์ตต่างประเทศสะพรั่ง พีเอ็มจีเพิ่มน้ำหนักส่ง 4 งานใหญ่ปั๊มรายได้

พีเอ็มจี ปรับโฟกัสธุรกิจใหม่ ชูคอนเสิร์ตต่างประเทศหัวหอกหลักดันรายได้ทดแทนธุรกิจโรงเรียนสอนดนตรี เตรียมระเบิดไม่ต่ำกว่า 4 งานตลอดปีཹ ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้คอนเสิร์ตทะลุ 60% ของรายได้รวม

นายปราชญ์ อรุณรังษี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปราชญ์ มิวสิค กรุ๊ป จำกัด หรือ พีเอ็มจี ผู้จัดคอนเสิร์ตต่างประเทศ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางธุรกิจจากนี้ไปบริษัทจะให้น้ำหนักแก่ธุรกิจจัดคอนเสิร์ต โดยเฉพาะคอนเสิร์ตต่างประเทศ จากเดิมที่กลุ่มธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดนตรี ประกอบด้วย โรงเรียนสอนดนตรี แมกาซีนดนตรี ห้องซ้อมดนตรี สื่อการสอนที่เกี่ยวกับดนตรีทั้งหมดและธุรกิจการจัดคอนเสิร์ตที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2548

“ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับดนตรีที่เคยเป็นรายได้หลักถึง 50% ของรายได้รวม เติบโตลดลงต่อเนื่อง จากพฤติกรรมผู้บริโภคและตลาดโดยรวมที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้องปรับโฟกัสธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจอีกแรง”

สำหรับคอนเสิร์ตต่างประเทศของบริษัทเน้นเจาะผู้ชมกลุ่มนิชมาร์เก็ต โดยจะเลือกจัดคอนเสิร์ตจากตัวศิลปินเป็นหลัก เพราะขนาดคอนเสิร์ตไม่ได้ใหญ่เฉลี่ยตั้งแต่ 1,000-10,000 คนตามศักยภาพของศิลปิน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับผลตอบรับดีอย่างต่อเนื่อง

ทิศทางธุรกิจคอนเสิร์ตในปี 2561 เตรียมจัดคอนเสิร์ตต่างประเทศมากกว่า 3-4 งาน อยู่ระหว่างเจรจากับศิลปิน ยังไม่สามารถประกาศรายชื่อของศิลปินได้ พร้อมปรับโมเดลธุรกิจคอนเสิร์ตให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยน เช่น คัดเลือกศิลปินมากขึ้น เลือกเฉพาะตัวท็อปในแต่ละเซ็กเมนต์อาจจะไม่ใช่ศิลปินที่มีฐานผู้ชมที่กว้าง แต่มีฐานแฟนคลับที่แข็งแกร่ง เป็นต้น

“ไตรมาสสุดท้ายปีนี้มี 2 งาน ซึ่งจัดไปหมดแล้ว เช่น OD ROCK FEST จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา”

นายปราชญ์กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมคอนเสิร์ตต่างประเทศในไทยเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีผู้เล่นรายใหญ่และเล็กเพิ่มจำนวนขึ้น รวมถึงมีเอเยนซี่รายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาจับมือกับโลคอลพาร์ตเนอร์ในแต่ละประเทศเพื่อจัดคอนเสิร์ตมากขึ้น ปัจจัยหลัก ๆ มาจากสภาพเศรษฐกิจยุโรปและอเมริกาที่ชะลอตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ศิลปินเบอร์ใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เริ่มเบนเข็มมาเปิดคอนเสิร์ตที่ประเทศแถบเอเชียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนที่เศรษฐกิจเติบโตค่อนข้างดี ทำให้หลาย ๆ ประเทศแถบเอเชีย รวมถึงไทยก็ได้รับอานิสงส์จากเวิลด์ทัวร์คอนเสิร์ตของศิลปินเบอร์ใหญ่เพิ่มขึ้น

“ขณะที่สื่อออนไลน์ที่ขยายตัวขึ้น กลายเป็นอีกช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสารระหว่างบริษัทกับกลุ่มผู้ชม ซึ่งถือเป็นการทำรีเสิร์ชแบบง่าย ๆ เพื่อพิจารณาว่าผู้ชมอยากจะชมคอนเสิร์ตที่เราจะจัดหรือไม่ และด้วยโอกาสที่เกิดขึ้นนี้เองก็ทำให้มีผู้จัดรายเล็ก ๆ เกิดขึ้นจำนวนมากเช่นกัน เช่น ผู้จัดแนวดนตรีอินดี้ เป็นต้น เพราะพฤติกรรมคนปัจจุบันก็แตกแยกย่อยมากขึ้น”

อย่างไรก็ตามคาดว่าผลจากปรับโมเดลธุรกิจให้เหมาะสมครั้งนี้จะทำให้สัดส่วนรายได้ปี 2561 มาจากธุรกิจจัดคอนเสิร์ตมากกว่า 60% จากปัจจุบันที่สัดส่วนรายได้แบ่งเป็นคอนเสิร์ต 60% และธุรกิจอื่น ๆ 40% ของรายได้รวม