
กรม สบส. กวาดล้างเอเยนซี่นำเข้าหมอเสริมความงามจากต่างชาติ แพทย์หรือสถานพยาบาลไทยที่มีส่วนรู้เห็น หรือได้รับผลประโยชน์จะถือว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย
วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ร่วมภาคีเครือข่ายจัดทีมกวาดล้างแพทย์ และสถานพยาบาลเอกชนที่ตั้งตัวเป็นเอเยนซี่ นำเข้าแพทย์ต่างชาติมาให้คำปรึกษาความงามแก่ประชาชนจนเกิดความเสียหาย ชี้ผิดทั้งกฎหมายวิชาชีพเวชกรรม และกฎหมายสถานพยาบาล มีโทษทั้งหมอไทยและหมอนอก
- พระราชินี เสด็จฯ ส่วนพระองค์ ทรงร่วมวิ่ง CIB RUN 2023 ระยะทาง 10 กิโลเมตร
- Motor Expo 2023 ยอดทะลุ 5 หมื่นคัน ทุบสถิติในรอบ 10 ปี
- อนุทิน ลงนามกฎกระทรวง เปิดผับถึงตี 4 แล้ว ทันบังคับใช้ 15 ธ.ค.นี้
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการศัลยกรรม หรือเสริมความงามอยู่เป็นระยะ หนึ่งในประเด็นเรื่องร้องเรียนที่กรม สบส.ตรวจสอบพบว่ามีความน่าสนใจและต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในขณะนี้ คือ
การเชิญชวนประชาชนให้เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ต่างชาติ หรือเดินทางไปรับบริการศัลยกรรมเสริมความงามกับสถานพยาบาลต่างประเทศ โดยมีแพทย์หรือสถานพยาบาลในไทยเกี่ยวข้องในลักษณะมีเอเยนซี่ (Agency) ให้การสนับสนุนทั้งการจัดกิจกรรมให้คำปรึกษา จัดโปรโมชั่นลดราคา เพื่อดึงดูดให้ประชาชนตัดสินใจเข้ารับบริการกับสถานพยาบาลต่างประเทศ หรือสถานพยาบาลของตน
เรื่องนี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานสถานพยาบาลไทยแล้ว ยังสร้างผลกระทบให้กับผู้รับบริการบางราย อีกทั้งยังเป็นการกระทำผิดกฎหมายสถานพยาบาล
ดังนั้น เพื่อป้องปรามและกวาดล้างการกระทำผิดในลักษณะข้างต้น กรม สบส.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ แพทยสภา และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ ร่วมเฝ้าระวัง ตรวจสอบกิจกรรม หรือสื่อโฆษณาที่มีการเผยแพร่ในทุกพื้นที่ช่องทาง
ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส. อธิบายว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือให้คำปรึกษาระหว่างแพทย์ต่างชาติและแพทย์ไทยนั้นมีมานานแล้ว แต่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล และเป็นการปรึกษาระหว่างแพทย์ด้วยกัน ไม่มีผู้ป่วยมาเกี่ยวข้องจึงไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย
แต่หากเป็นการเปิดคอร์สให้คำปรึกษา วินิจฉัยโรคแก่ผู้ป่วย หรือประชาชนโดยแพทย์ต่างชาติ แม้แพทย์รายดังกล่าวจะมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมในต่างประเทศ แต่หากไม่มีการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการแพทยสภาอนุมัติให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในไทย
ก็จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรรม พ.ศ. 2525 ฐานเป็นหมอเถื่อน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และหากการให้คำปรึกษาจัดขึ้นในสถานที่ที่มิใช่สถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ฐานเปิดคลินิกเถื่อน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แพทย์หรือสถานพยาบาล ที่มีส่วนรู้เห็นหรือได้รับผลประโยชน์จากการจัดกิจกรรมก็จะถือว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย
หากการให้คำปรึกษาโดยแพทย์ต่างชาตินั้นจัดขึ้นในสถานพยาบาล ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลก็จะมีความผิดในฐานปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้จะมีการขยายผลตรวจสอบไปยังสื่อโฆษณาของสถานพยาบาลว่ามีการขออนุมัติโฆษณา หรือมีเนื้อหาที่เป็นเท็จโอ้อวดเกินความจริงหรือไม่ หากตรวจพบว่ามีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดก็จะมีการเอาผิดต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นหรือทราบเบาะแสการกระทำผิดของแพทย์หรือสถานพยาบาลเอกชน สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426