“อินเดีย” สานฝันร้านยาโลก ผุดโรงงาน-ปั้นอุตฯ 1.3 หมื่นล้าน

ตลาดยาอินเดีย
คอลัมน์ Market Move

ตำแหน่งศูนย์กลางการผลิตยาของโลก เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่อินเดียวางเอาไว้มาอย่างยาวนาน

ด้วยจุดแข็งทั้งการมีตลาดยาขนาดใหญ่มูลค่าสูงถึง 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.43 ล้านล้านบาท) และการเป็นประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำสุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นแรงหนุนให้แดนภารตพยายามก้าวขึ้นเป็น “ร้านยาของโลก” ซึ่งนับว่าใกล้เป็นจริงมาก เนื่องจากปัจจุบันยา 1 ใน 3 เม็ดที่วางขายในสหรัฐ และ 1 ใน 4 เม็ดที่วางขายในสหราชอาณาจักร และ 80% ของยาต้านไวรัสโรคเอดส์ที่ใช้ทั่วโลกผลิตมาจากอินเดีย

อย่างไรก็ตาม เส้นทางนี้ยังมีอุปสรรคใหญ่คือ บรรดาสารออกฤทธิ์ (API) หรือสารที่ทำให้ยามีผลในการรักษา-บำบัดโรคนั้น ยังต้องนำเข้าจากประเทศจีนโดยตามข้อมูลของรัฐบาลอินเดีย การนำเข้าสารออกฤทธิ์มีสัดส่วนสูงถึง 68-85% เช่นเดียวกับยาฆ่าเชื้อที่นำเข้าสูงถึง 90% ทำให้ขณะนี้อินเดียต้องงัดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ออกมาเร่งพัฒนากระบวนการผลิตสารเหล่านี้ให้ได้ด้วยตัวเองเพื่อลดการพึ่งพาจีนลง

สำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” รายงานถึงความเคลื่อนไหวของอินเดียว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 โรงงาน 32 แห่งในอินเดียเริ่มเดินสายการผลิตสารออกฤทธิ์จำนวน 35 ตัว ซึ่งด้วยกำลังผลิตระดับนี้ ภายใน 10 ปีจะช่วยลดการนำเข้าจากจีนลดลงได้ 35%

“ดีภาค จรวานี” ประธานของไอซีอาร์เอ บริษัทจัดเรตติ้งสัญชาติอินเดียในเครือของมูดีส์ อธิบายว่า เดิมทีการนำเข้าสารออกฤทธิ์นั้น ราคาถูกกว่าผลิตเองในประเทศ แต่ความขัดแย้งทางชายแดนกับจีน กระตุ้นให้รัฐบาลอินเดียทุ่มงบฯ 5.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สนับสนุนการผลิตวัตถุดิบต่าง ๆ ในประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมยาได้อานิสงส์ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดึงดูดทั้งผู้ประกอบการอินเดียและต่างชาติให้มาตั้งโรงงาน

ปัจจุบันยักษ์วงการยาของอินเดีย ต่างตบเท้าเข้าร่วมโครงการด้วยการใช้สารออกฤทธิ์ที่ผลิตในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Sun Pharmaceutical Industries, Aurobindo Pharma, Dr.Reddy’s Laboratories, Lupin และ Cipla รวมถึงบริษัทอื่น ๆ รวมแล้ว 49 บริษัท ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าจากจีนลงได้ประมาณ 25-35% ภายในปี 2572

รวมถึงมีความพยายามบาลานซ์พอร์ตทั้งสารออกฤทธิ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ด้วยการหันไปนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากจีน “พาแวน โชว์ดารี” ประธานและเลขาธิการของสมาคมเทคโนโลยีการแพทย์แห่งอินเดีย และหนึ่งในผู้มีอิทธิพลในวงการ อธิบายว่า ความขัดแย้งทางพรมแดนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้เกิดเทรนด์ “เฟรนด์ชอริ่ง” (friendshoring) หรือการใช้ฐานการผลิตในประเทศที่เป็นมิตร ไม่ว่าจะด้านประวัติศาสตร์หรือแนวคิดทางการเมือง

นอกจากสารออกฤทธิ์แล้ว ปัจจุบันอินเดียยังนำเข้าอุปกรณ์เกี่ยวกับการถ่ายภาพทางการแพทย์ เอ็มอาร์ไอ และอื่น ๆ จากจีนคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกันรัฐบาลอินเดียเดินหน้าปั้นตลาดยาในประเทศให้ขยายตัวจาก 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2567 หรืออีกประมาณ 3 ปี ก่อนจะเพิ่มมูลค่าอีกเท่าตัวเป็น 1.2-1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2573 พร้อมกับการขึ้นเป็นผู้เล่นหลักในความพยายามยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19

นอกจากนี้ยังพยายามผลักดันยาแผนโบราณขึ้นมาเป็นดาวเด่น ด้วยการเปิดศูนย์การแพทย์แผนโบราณระดับโลกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่รัฐคุชราต ซึ่งมีการวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม และมี “ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส” ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก มาร่วมงาน ก่อนจะมีกำหนดเปิดทำการในปี 2567 เพื่อศึกษาศักยภาพของยาแผนโบราณและกระบวนการรักษาของอินเดีย ด้วยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาการรักษา

รวมถึงเตรียมเปิดตัววีซ่าหมวดใหม่สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามายังอินเดีย เพื่อรับการรักษาด้วยการแพทย์แผนโบราณโดยเฉพาะ และสร้างตรารับรองสินค้าการแพทย์แผนโบราณสำหรับการส่งออกไปขายในต่างประเทศอีกด้วย

แม้อินเดียจะเผชิญกับการระบาดรุนแรงในประเทศจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่แดนภารตยังขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิต-ส่งออกวัคซีนโควิด-19 รายใหญ่ โดยส่งวัคซีนจำนวนกว่า 201 ล้านโดสไปยัง 100 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาใต้ แอฟริกา และตะวันออกกลาง ทั้งผ่านโครงการโคแวกซ์และรัฐต่อรัฐ

อย่างไรก็ตาม “อมิเทนดู ภาลิด” นักวิจัยอาวุโสของสถาบันเอเชียใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า ยังต้องรออีกนานกว่าที่ความฝันเรื่องการพึ่งพาตนเองของอินเดียจะเป็นจริงได้ เนื่องจากดีมานด์การใช้งานสารออกฤทธิ์ของบรรดาผู้ผลิตยาในประเทศนั้นสูงกว่ากำลังผลิตที่มีอยู่ไปมาก

สอดคล้องกับความเห็นของ “มายูร ศรีเดชัย” ผู้ก่อตั้งบริษัทซึ่งบริหารกองทุนส่วนบุคคลที่เน้นลงทุนในธุรกิจสุขภาพ กล่าวว่า รัฐบาลอินเดียควรจำกัดวงการสนับสนุนให้แคบลงกว่าปัจจุบัน โดยโฟกัสเฉพาะสารออกฤทธิ์ที่หายากหรือมีผู้ผลิตน้อยราย มากกว่าสารตัวที่มีการผลิตทั่วไป พร้อมกับย้ายกระบวนการต่าง ๆ เข้ามาในอินเดียให้มากที่สุดเพื่อคุมต้นทุน

ส่วน “พาแวน โชว์ดารี” คาดการณ์ว่า การลดการพึ่งพาจีนในด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้น จะใช้เวลานานยิ่งกว่า เพราะวัตถุดิบของสารออกฤทธิ์นั้นสามารถหาได้ในอินเดีย แต่การเข้าถึงเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้นยุ่งยากซับซ้อนกว่ามาก

ความเคลื่อนไหวของอินเดียครั้งนี้ สะท้อนถึงความพยายามก้าวขึ้นเป็นร้านยาโลก ด้วยการสร้างอุตสาหกรรมยาแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในประเทศ ซึ่งต้องรอดูว่า จะสามารถทำได้ตามแผนหรือไม่ และจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้จะมีความเคลื่อนไหวอย่างไรออกมา