“ค้าปลีก” ร้อนฉ่า สมรภูมิ “ไซซ์เล็ก” คล่องตัว โตไว ไปเร็ว …บุกทุกตารางนิ้ว

ธุรกิจ “ค้าปลีก” แข่งขันกันทุกวินาที ภาพความเคลื่อนไหวของตลาดจึงร้อนแรงและดุเดือดอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่เพียงเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบของยอดขายและทราฟฟิก แต่ยังหมายถึงการช่วงชิงภาพผู้นำในแง่ “อิมเมจ” ว่าใครจะลอนช์ปรากฏการณ์ที่เรียกเสียงว้าวววว แปลกใหม่ และแตกต่าง ก่อนใคร เช่นเดียวกับรูปแบบการลงทุนขยายสาขา การจะไปในแพลตฟอร์มและรูปแบบสเกลเดิม ๆ อาจไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปแล้วตามไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของค้าปลีกจึงเห็นภาพโมเดลใหม่ ๆ หลากหลายและแตกต่างที่เข้ามาสร้างสีสันและเสิร์ฟลูกค้าไม่หยุดซูเปอร์มาร์เก็ตไซซ์จิ๋ว กลุ่มเดอะมอลล์ ได้ขยับทัพรอบใหม่ ด้วยการแตกแบรนด์ “กูร์เมต์ โก” (Gourmet Go) โมเดลซูเปอร์มาร์เก็ตไซซ์เล็กขนาด 200-300 ตร.ม. เข้ามาเป็นทางเลือกและลงสนามแข่งขันค้าปลีกนำร่องสาขาแรกรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีเพชรบุรีในช่วงเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา พร้อมลุยทุกทำเลหวังสร้างการเติบโตทางธุรกิจดันยอดขายนอกศูนย์การค้าของกลุ่มเดอะมอลล์

โดยกูร์เมต์ โก เน้นจุดขายอาหาร-เทกโฮมตอบโจทย์ลูกค้าช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา “ชัยรัตน์ เพชรดากูล” ผู้อำนวยการใหญ่บริหารสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ต บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โมเดลซูเปอร์มาร์เก็ตขนาด 200-300 ตร.ม.นี้ ได้เข้ามาทดลองตลาด โดยจะเน้นสินค้าเทกโฮม Grab and Go เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับคนที่เดินทางโดยรถไฟฟ้าและคนที่ทำงานในย่านดังกล่าว ทำให้การเลือกวางสินค้าในพื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กต้องตอบโจทย์ความสะดวก รวดเร็ว

การทดลองและเทสต์ตลาดในรูปแบบไซซ์เล็ก ถ้ามีการตอบรับที่ดีกลุ่มเดอะมอลล์ก็พร้อมไปเปิดในทำเลที่พร้อมและมีศักยภาพ ซึ่งในทำเลรถไฟฟ้าใต้ดินมีอีกหลายสถานีที่สามารถไปเปิดได้ ซึ่งทิศทางของกูร์เมต์มาร์เก็ตยังต้องพัฒนาอีกมาก และพร้อมไปทุกทำเลที่ยังเป็นโอกาส

ทุ่ม 8,000 ล้านลุย “พอร์โต้ โก”

ด้านกลุ่มทุน ทุนอสังหาฯ “ดี-แลนด์ฯ” พร้อมบุกค้าปลีกเต็มรูปแบบ หลังปั้น “พอร์โต้ ชิโน่” คอมมิวนิตี้มอลล์พระราม 2 โลดแล่นติดลม เตรียมควักทุน 8,000 ล้านบาท ปั้นแบรนด์ “พอร์โต้ โก” ปักธงเส้นทางเมืองท่องเที่ยว-หัวเมืองหลัก ด้วยเป้าหมาย 20 สาขา ภายใน 5 ปี

“สุเทพ ปัญญาสาคร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี-แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้บริหาร “พอร์โต้ ชิโน่” (Porto Chino) ฉายภาพว่า หลังจากที่เปิดพอร์โต้ ชิโน่ และก้าวเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกมากว่า 5 ปี

บริษัทเตรียมที่จะบุกธุรกิจรีเทลเต็ม

รูปแบบ เนื่องจากเห็นโอกาสและช่องว่างการเติบโตอีกมหาศาล โดยแตกแบรนด์ PORTO GO สำหรับรองรับนักเดินทางและนักท่องเที่ยวในเส้นทางทำเลเมืองท่องเที่ยวและหัวเมืองหลัก

โดยได้นำร่องเปิดสาขาแรกที่บางปะอิน ติดถนนสายเอเชีย จากนั้นตามด้วยสาขา 2 พอร์โต้ โก ถนนพระราม 2 ช่วง กม. 41 ใน ปี 2561 ซึ่งเป้าหมายปี 2561-2566 ขยายพอร์โต้ โก ครบจำนวน 20 แห่ง บริเวณรอบกรุงเทพฯและจังหวัดใหญ่ รวมถึงหัวเมืองท่องเที่ยว

คอมมิวนิตี้มอลล์โมเดลใหม่นี้จะแตกต่างจาก “เรสต์ แอเรีย” REST AREA ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ด้วยร้านค้าและเซอร์วิสต่าง ๆ ที่จะเข้ามาเปิดร่วมกัน ด้วยความหลากหลายของร้านค้าแม็กเนตทั้งแบรนด์ต่างประเทศและในประเทศ โมเดลแบรนด์ไดรฟ์ทรู บริการต่าง ๆ รวมถึงห้องน้ำ เพื่อยกระดับความสะดวกสบายและปลอดภัยให้นักเดินทาง

สอดคล้องกับการเซอร์เวย์ตลาด

พบว่า 100% จอดแวะพักระหว่างทางเพื่อเข้าห้องน้ำ ขณะที่ 30% จอดเพื่อเติมน้ำมัน ซึ่งในแต่ละทำเลหรือเมืองท่องเที่ยวที่จะไปลงทุนการตกแต่งจะทำในคอนเซ็ปต์ของเมืองนั้น ๆ ปัจจุบันมีที่ดินพร้อมในหลาย ๆ พื้นที่สำหรับที่จะเข้าไปลงทุน และแต่ละทำเลจะใช้พื้นที่ประมาณ 15-20 ไร่

“โรบินสัน” บุกคอมแพ็กต์ไซซ์

“วุฒิเกียรติ เตชะมงคลาภิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางหลังจากนี้ของโรบินสัน จะยังคงเน้นการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องด้วยงบฯลงทุนปีละ 3,000 ล้านบาท ด้วยเป้าหมาย 55 สาขาครอบคลุมทุกพื้นที่ในปี 2563

จากปีนี้ที่คาดว่าจะเปิด 46 สาขา ทั้งโมเดลห้างสรรพสินค้าและช็อปปิ้งมอลล์รูปแบบไลฟ์สไตล์

โดยโมเดล “คอมแพ็กต์ไซซ์” จะเป็นหัวหอกสำคัญที่ทำให้โรบินสันไปได้เร็วและคล่องตัว ที่ผ่านมารูปแบบการขยายสาขาจะมี 3 โมเดลตามขนาดของพื้นที่ โดยขนาดใหญ่ไซซ์แอล จะมีพื้นที่ 3.7 หมื่น ตร.ม.ขึ้นไป ขนาดกลางไซซ์เอ็ม ขนาดพื้นที่ 3.5 หมื่น ตร.ม. และคอมแพ็กต์ไซซ์ ขนาดเอส พื้นที่ 2.8-3 หมื่น ตร.ม. ซึ่งโมเดลคอมแพ็กต์ไซซ์ จะเปิดนำร่องทดลองตลาดปลายปีนี้ที่โรบินสัน กำแพงเพชร

“คอมแพ็กต์ไซซ์จะทำให้เราไปได้รวดเร็วและขยายตัวได้มากขึ้น ในแต่ละทำเลที่เราไปจะมีความยืดหยุ่น สร้างได้ทุกเวลา เพราะถ้าทำไซซ์เล็กไปก่อน เทสต์ตลาด การจะขยายพื้นที่รับดีมานด์ในอนาคตก็เป็นเรื่องไม่ยาก”

เทสโก้-บิ๊กซี

ด้านเจ้าตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต เทสโก้-บิ๊กซี ต่างประกาศแผนลงทุนชัดเจนว่า โมเดล “ร้านสะดวกซื้อ” จะเป็น 1 ในหัวหอกหลักในการดันยอดขายต่อจากนี้

“ดร.อนุพงษ์ เครืองาม” ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายปฏิบัติการ มินิบิ๊กซี บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนจะเดินหน้าขยายสาขาเพื่อเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น โดยตามแผนจะเปิดอย่างน้อย 200 สาขาต่อปี จากปัจจุบันที่มีกว่า 570 สาขา ส่วนใหญ่ 60% อยู่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ซึ่งจะไปในต่างจังหวัดให้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่หลักในภาคอีสาน เช่น นครราชสีมา, ขอนแก่น, อุดรธานี และภาคตะวันออก เช่น ชลบุรี, ระยอง, ฉะเชิงเทรา

พร้อมพัฒนาโมเดลแฟรนไชส์รูปแบบใหม่ ๆ ช่วยให้การขยายสาขาไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและเป็นโมเดลที่ใช้เงินลงทุนน้อยลงจากปัจจุบันที่ใช้งบฯลงทุนในการเปิดราว 3-6 ล้านต่อสาขา ซึ่งอาจได้เห็นในช่วงปลายปี 2561 พร้อมลงทุนขยายศูนย์กระจายสินค้าของมินิบิ๊กซีที่ธัญบุรีให้สามารถรองรับการขยายสาขาใหม่ได้อีก 1,500 สาขา

ด้าน “เทสโก้ โลตัส” วางเป้าหมายขยายสาขาแต่ละปีมากกว่า 100 สาขาต่อเนื่อง 3-5 ปีจากนี้ภายใต้งบฯลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งในปี 2560 เทสโก้เปิดไฮเปอร์มาร์เก็ต 11 สาขา และอีกกว่า 90 สาขาจะเป็นตลาดโลตัสและเอ็กซ์เพรส โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและอีสาน ปัจจุบันเทสโก้ โลตัส มีสาขา 1,900 แห่ง ครอบคลุมใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ


ยิ่งการแข่งขันที่ดุเดือดมากเท่าไหร่ จึงไม่ต้องแปลกใจถ้าสนามรบใหม่ ๆ ที่กลุ่มยักษ์ “ค้าปลีก” เคลื่อนทัพบุกจะยิ่งทวีความร้อนฉ่าทุกตารางนิ้ว