
รมต.สธ.ย้ำว่าความท้าทายอยู่ที่การหาสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์กัญชา และการป้องกันการกระทำที่ไม่พึงประสงค์
วันที่ 16 มิถุนายน 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมมอบนโยบายและชี้แจงแนวทางการควบคุม กำกับ การใช้กัญชาอย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
- สินมั่นคงฯ : คปภ.เกาะติดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ส่งสัญญาณเตือน ปชช.
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- ครึ่งทาง “MOTOR EXPO” BYD มาแรง แซง โตโยต้า ขึ้นยอดขายสูงสุด
นายอนุทิน กล่าวว่า สธ. มีนโยบายการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ สร้างเศรษฐกิจ สร้างสุขภาพ และพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้เข้มแข็ง หลังจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 อนุญาตให้ใช้กัญชาเสรีเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขเริ่มมีการจัดอบรม ทำการศึกษา วิจัย การใช้ส่วนประกอบของพืช และสารสกัดจากกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งผลักดันให้การใช้กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และส่งเสริมเศรษฐกิจทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ปลดล็อกกัญชา กัญชง ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ คงเหลือการควบคุมสารสกัดที่มี THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก และสารสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ จนประกาศนี้มีผลให้บังคับใช้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
นายอนุทินกล่าวต่อไปว่า เนื่องจากกัญชามีทั้งประโยชน์ และข้อควรระวังในการนำมาใช้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเราสามารถช่วยกันให้ความรู้ ดูแล และป้องกันการนำมาใช้ในทางไม่พึงประสงค์ได้ โดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่และเครือข่ายทางสังคม
เพราะประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการปลดล็อกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด มีทั้งมิติทางเศรษฐกิจ การแพทย์ การดูแลรักษาตัวเองของประชาชน ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ…. อยู่ระหว่างการพิจารณา ของสภาผู้แทนราษฎร กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาแล้วว่ากฎหมายที่มีอยู่ เช่น พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการใช้กฎหมาย เพื่อคุ้มครองประชาชนด้านสุขลักษณะ และการอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานที่หรือกิจการร้านค้าใด ๆ ที่ระบุไว้ตามกฎหมายนี้
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 โดยได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ วันที่ 15 มิถุนายน 2565
และปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการสาธารณสุข ได้ออกคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากการกระทำ ให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นคำแนะนำสำหรับเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการใช้อำนาจ ตามกฎหมายสาธารณสุข และกรมอนามัย
ส่วนอธิบดีกรมอนามัย ได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565
มาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นนี้ จะเป็นเครื่องมือให้กับเจ้าพนักงานตามกฎหมายสาธารณสุข ทั้งคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด คณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ในการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดจากการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม
ทั้งนี้กฎหมายและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ที่ออกมานี้ สามารถนำมาเป็นเครื่องมือป้องกันการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมได้ โดยต้องใช้บนฐานความเข้าใจ และให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ที่คำนึงถึงเสรีภาพควบคู่กับการรักษาสิทธิของประชาชน การใช้สิทธิของคนหนึ่งก็ต้องไม่กระทบสิทธิของคนอื่น ๆ หรือไม่กระทบประโยชน์สาธารณะด้วย
ความท้าทายของเรื่องนี้ คือ การหาสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์กัญชา และการป้องกันการกระทำที่ไม่พึงประสงค์
ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ สร้างความเข้าใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมวางระบบกำกับ ติดตาม และการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนร่วมมือกันนำมาตรการต่าง ๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ไปดำเนินการป้องกันผลกระทบจากการใช้กัญชา และเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการใช้กัญชาที่ถูกต้อง เหมาะสม ให้กับประชาชนต่อไป
- เล็งออก พ.ร.ก.คุมกัญชา หากสถานการณ์อันตราย พ.ร.บ.ยังไม่บังคับใช้
- สธ.ประกาศ กลิ่น-ควัน กัญชา เป็นเหตุรำคาญ ฝ่าฝืนเจอโทษ มีผลวันนี้
- ม.มหิดล แถลงการณ์ 8 ข้อ แนะนำ-เสนอ เรื่องการใช้กัญชา
- วิธีแจ้งเหตุรำคาญ “กัญชา กัญชง” ผู้กระทำผิดมีบทลงโทษอย่างไร
- กรมอนามัย ออกประกาศคุมร้านอาหาร ปรุงกัญชาให้ลูกค้า ต้องแจ้ง 6 ข้อ