จุฬาฯเผยผลวิจัย สุ่มตรวจร้านขายเครื่องดื่ม พบสาร THC “กัญชา” เกิน 30%

จุฬา กัญชา

อาจารย์ คณะวิทย์ฯ จุฬาฯ เผยผลวิจัยสุ่มตรวจหาสาร THC “กัญชา” ในร้านขายเครื่องดื่ม พบราว 30% เกินกฎหมายกำหนด 

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 รศ.ดร.เกื้อการุณย์ ครูส่ง อาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันความนิยมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา ทำให้แพทย์ และนักวิจัยด้านสารเสพติดรู้สึกกังวลถึงผลกระทบของสาร THC ในกัญชา ที่หากผู้บริโภคได้รับในปริมาณที่สูง และอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า จิตเภท หลอดเลือดหัวใจ และมะเร็งอัณฑะ เป็นต้น

ข้อมูลจากการประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เพื่อการพัฒนาศักยภาพการวิจัย และนักวิชาการการเสพติด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่า คนไทยที่ใช้กัญชามีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๆ เกือบเท่าตัว โดยผลสำรวจล่าสุดปี 2564 มีคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ใช้กัญชาประมาณ 1.89 ล้านคน หรือคิดเป็น 4.3% เทียบกับผลสำรวจเมื่อปี 2563 ที่มีผู้ใช้กัญชาอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคน

ทั้งนี้ จากที่ได้นำร่องศึกษาวิจัยหาปริมาณสาร 9-THC หรือ delta 9-tetrahydrocannabidol ในเครื่องดื่มกัญชาที่จำหน่ายในร้านขายเครื่องดื่มทั่วไป เพื่อหาว่ามีปริมาณสาร 9-THC เกินกว่าที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดหรือไม่ โดยคณะผู้วิจัยได้เก็บตัวอย่างเครื่องดื่มกัญชา และเครื่องดื่มที่ผสมกัญชา ที่ขายอยู่ทั่วไปในร้านขายเครื่องดื่ม และคาเฟ่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ 30 กว่าตัวอย่าง มีทั้งเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ โซดา และประเภทที่ใส่นม โดยวิธีการตรวจสอบตัวอย่างเครื่องดื่มนั้นใช้วิธีมาตรฐานระดับสากลที่ใช้ตรวจหาสาร 9-THC ในอาหาร

รศ.ดร.เกื้อการุณย์กล่าวอีกว่า เครื่องดื่มที่สุ่มตรวจส่วนใหญ่มีสาร 9-THC ในปริมาณที่ไม่เกินจากที่สาธารณสุขกำหนด แต่ราว 30% พบว่ามีปริมาณสารดังกล่าวเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือแนะนำให้ไม่เกิน 0.015 มิลลิกรัม/ 100 มิลลิลิตร หากบริโภคเครื่องดื่มที่มีปริมาณสาร THC เกินกำหนด จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้สาร 9-THC

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยไม่สามารถเปิดเผย หรือระบุว่าเครื่องดื่มใด จากร้านใด มีปริมาณสาร 9-THC เท่าใด แต่อาจนำเสนอในรูปแบบรายงานของ ศศก.ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับงานด้านนโยบายต่อไปในอนาคต

“สื่อ หรือโฆษณาต่าง ๆ มักพูดถึงแต่ข้อดีของกัญชา ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้ทางสันทนาการ หรือนำมารักษาโรค โดยลืมไปว่าผลเสียของกัญชายังคงมีอยู่ แพทย์ก็ออกมาเตือนด้วยว่าไม่ให้เด็กรับประทานโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาจส่งผลต่อระบบประสาท สมอง และพัฒนาการของเด็ก”


“รวมทั้ง จิตแพทย์ชี้ว่าสาร 9-THC ในกัญชามีผลต่อสุขภาพจิต สมาธิ และเรื่องของภาวะอารมณ์ด้วย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ควรออกมาตรการควบคุมในเรื่องกัญชาในเครื่องดื่ม และสื่อสารแก่ประชาชน ให้ครอบคลุมทั้งคุณ และโทษของกัญชา” รศ.ดร.เกื้อการุณย์ กล่าว