“เอพริลเบเกอรี่” ตรึงราคาสู้ เสิร์ฟขนมเปี๊ยะกวาดลูกค้า

เอพริลเบเกอรี่

“เอพริล เบเกอรี่” เปิดเกมรุกตลาด ปูพรมสินค้าเรือธง “ขนมเปี๊ยะโมจิลาวาไข่เค็ม-ขนมเปี๊ยะโมจิลาวาทุเรียนหมอนทอง” กวาดลูกค้ารอบทิศ เพิ่มกำลังผลิตรับดีมานด์ตลาดโต ตั้งทีมเซลส์เสิร์ฟขนมเปี๊ยะส่งร้านกาแฟ เล็งส่งออกเกาหลี พร้อมเข้มบริหารต้นทุน ย้ำยังไม่ขึ้นราคาขาย

นางกนกกัญจน์ มธุรพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงหา ฟู้ด อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแบรนด์เอพริล เบเกอรี่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดเบเกอรี่ในไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทั้งในด้านผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมใช้ชีวิตเร่งรีบ ชอบความสะดวก ทำให้เบเกอรี่กลายเป็นอาหารว่างระหว่างมื้อมากขึ้น

ประกอบกับการขยายตัวของธุรกิจร้านกาแฟในไทยที่เพิ่มขึ้นเข้ามาช่วยไดรฟ์ตลาด ขณะเดียวกัน ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจได้รับผลกระทบจากภาระเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ส่งผลให้ยอดซื้อต่อบิลลดลง ผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้วยการขยายช่องทางจำหน่ายควบคู่กับการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงลูกค้า

เช่นเดียวกับบริษัทได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มา 2 ปีเต็ม โดยเฉพาะร้านเอพริล เบเกอรี่ 40 สาขาในศูนย์การค้าต้องปิดบริการ ส่วนช่องทางร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นต้องจำกัดเวลาเปิด-ปิดบริการ ทำให้ยอดขายช่วงนั้นดรอปลงจึงหันมาให้น้ำหนักขายออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 10% ของภาพรวมทั้งหมด

หลังจากโควิดเริ่มคลี่คลาย รัฐบาลปลดล็อกมาตรการต่าง ๆ ผู้คนออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน ทำให้สถานการณ์เริ่มค่อย ๆ ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 เป็นต้นมา

โดยภาพรวมของธุรกิจในปี 2565 คาดว่าจะมียอดขายเติบโตเป็นเท่าตัว หรือมีรายได้กว่า 400 ล้านบาท จากปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่ 200 ล้านบาท หลัก ๆ มาจากช่องทางร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น 70% และหน้าร้านอีก 30% สินค้าที่ได้รับความนิยมและสร้างรายได้อันดับต้น ๆ ได้แก่ ขนมเปี๊ยะโมจิลาวาไข่เค็ม, ไดฟูกุไส้นูเทลล่า, พายหมูแดง, เค้กสับปะรด

ล่าสุดได้ลอนช์ขนมเปี๊ยะโมจิลาวาทุเรียนหมอนทอง รวม ๆ แล้วมีสินค้าทั้งหมดประมาณ 60 รายการ จำหน่ายเข้าสู่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 13,300 สาขา ที่ผ่านมาถือว่าได้รับการตอบรับอย่างดี เพราะแบรนด์ยังคงจุดแข็งของวัตถุดิบแป้งและไส้รสชาติอร่อย ราคาเข้าถึงง่ายจนทำให้สินค้าขาดตลาด

บริษัทจึงลงทุนเพิ่มกำลังผลิตเป็น 2 เท่าตัว มีการเพิ่มเครื่องจักร 5 ตัว และพนักงานกว่า 300 คน ก็จะผลิตได้ 2 แสนชิ้น จากเดิมที่ผลิตได้ราว ๆ 8 หมื่นชิ้น หรือ 70,000-80,000 กล่องต่อวัน เพื่อรองรับตลาดส่งออกและลูกค้าโออีเอ็ม (OEM)

ในปี 2566 บริษัทมีเป้าหมายนำสินค้าที่ขายดีในไทย เบื้องต้นเตรียมเข้าไปทดลองตลาดเกาหลี ผ่านตัวแทนจำหน่ายที่จะทำหน้าที่กระจายสินค้าทุกช่องทาง สเต็ปถัดไปหากจีนเปิดประเทศก็จะนำสินค้าเข้าไปเปิดตลาดทันที เพราะผู้บริโภคจีนชื่นชอบและให้ความนิยมสินค้าของคนไทยอยู่แล้ว

นางกนกกัญจน์กล่าวต่อถึงแนวทางในการพัฒนาแบรนด์ในครึ่งปีหลัง มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนารสชาติใหม่ ๆ ด้วย ingredients ที่มีคุณภาพ การดีไซน์แพ็กเกจจิ้งให้น่าซื้ออยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงการขยายสาขาเอพริล เบเกอรี่ ในรูปแบบแฟรนไชส์ เน้นเปิดในต่างจังหวัดเป็นหลัก

และเตรียมนำโมเดลธุรกิจไปออกบูทที่งาน Smart SME EXPO 2022 ระหว่างวันที่ 7-10 กรกฎาคมนี้ สำหรับผู้ที่กำลังมองหาธุรกิจแฟรนไชส์เอพริล เบเกอรี่ ราคาเริ่มต้น 5 แสนบาท ในวันงานลดเพิ่ม 20% โดยแบรนด์จะช่วยซัพพอร์ตการทำตลาด วิเคราะห์พื้นที่ขาย และสินค้าที่ส่งตรงจากโรงงาน

นอกจากนี้ บริษัทยังกระจายความเสี่ยงและพยายามสร้างรายได้จากหลายช่องทาง ด้วยการขยายช่องทางขายใหม่ ๆ โดยตั้งทีมเซลส์ทำขนมเปี๊ยะส่งไปตามร้านกาแฟ ทั้งอเมซอน อินทนิล และร้านกาแฟทั่วไป รวมประมาณ 200 สาขา

ตลอดจนการลอนช์แบรนด์ “อรซอน” น้ำยำครบรส และน้ำปลาร้าปรุงรส ราคา 39 บาทต่อขวด เน้นจำหน่ายผ่านออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากร้านอาหาร วนิดา ถนนจันทน์ ร้านอาหารไทยเปิดให้บริการมานานร่วม 3 ปี รวมทั้งเตรียมเปิดบริษัทจำหน่ายอาหารเสริม อาทิ อาหารเสริมบำรุงผิว ลดน้ำหนัก และอาหารเสริมสำหรับชาย-หญิง ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2565

อย่างไรก็ตาม ปี 2565 บริษัทต้องบริหารจัดการเรื่องต้นทุนอย่างหนัก หลังภาวะต้นทุนทั้งวัตถุดิบ แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม แพ็กเกจจิ้ง และราคาน้ำมัน ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนทั้งหมดเพิ่มขึ้น 40% แต่เรายังจำหน่ายราคาเท่าเดิม

โดยเน้นบริหารจัดการของเสียลดลง ควบคู่กับสต๊อกวัตถุดิบด้วยการซื้อวัตถุดิบลอตใหญ่ เพื่อให้ได้ราคาถูกลง และเพื่อประคับประคองไปก่อน คาดว่าภาวะแบบนี้อาจจะตรึงได้ถึงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ และเราคงไม่ปรับขึ้นราคา โดยจะใช้วิธีลดขนาดสินค้าลงในปริมาณที่ผู้บริโภคยอมรับได้