แสงแดดปิดแมกาซีนครัว พลิกเกมลุยเว็บศูนย์รวมอาหาร

สำนักพิมพ์แสงแดดปิดตัวนิตยสารครัว หันโฟกัสออนไลน์รับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ทุ่มงบฯก้อนโตซุ่มพัฒนาแพลตฟอร์มจ่อเปิดตัวปีหน้าชูจุดแข็งคอนเทนต์ดันเว็บไซต์รวบรวมสูตรอาหารมากที่สุด เสริมกิจกรรมเวิร์กช็อปดึงสมาชิกมีส่วนร่วมแบรนด์

นายน่าน หงษ์วิวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แสงแดด มีเดีย กรุ๊ป จำกัด เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจŽ ว่า หลังจากปิดตัวนิตยสารรายเดือนครัวที่อยู่ในตลาดมา 24 ปีและลอนช์ฉบับสุดท้ายในเดือนกรกฎาคม ทิศทางของบริษัทจากนี้มุ่งไปสื่อออนไลน์ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาแพลตฟอร์มและเตรียมคอนเทนต์ โดยยังคงคอนเซ็ปต์เนื้อหาเข้มข้นเกี่ยวกับอาหาร แต่จะเพิ่มเติมในส่วนของการนำเสนอในลักษณะภาพเคลื่อนไหว อาทิ คลิปเสียง วิดีโอ เพื่อให้คนอ่านรู้สึกสนุก วางโพซิชันนิ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีการรวบรวมสูตรอาหารไว้มากที่สุด คาดจะเปิดตัวเว็บไซต์ www.krua.co ต้นปี 2561 ซึ่งน่าจะใช้งบฯลงทุนค่อนข้างสูงในการพัฒนาเว็บไซต์และต้นทุนการผลิตคอนเทนต์และการทำตลาดให้เป็นที่รู้จัก

ขณะเดียวกันก็มีช่องทางเผยแพร่อื่น ๆ ผ่านยูทูบ อินสตาแกรม และเฟซบุ๊ก ปัจจุบันเฟซบุ๊กของบริษัทมีสมาชิกกว่า 2.8 แสนราย โตปีละ 20% ซึ่งช่วงที่มีการพัฒนาคอนเทนต์ใหม่ ๆ ออกมามีสมาชิกและยอดไลก์สูงขึ้น ส่วนยูทูบก็มีฟีดแบ็กที่ดีมากหรือมีคนติดตามกว่า 1.5 แสนราย ทั้งนี้คนอ่านนิตยสารครัวอายุเฉลี่ย 40 ปีขึ้นไป ส่วนออนไลน์ยังคงกลุ่มใหญ่เป็นผู้หญิง แต่อายุเฉลี่ยลดลงเป็น 28-45 ปี

“จากเดิมมุ่งทำคอนเทนต์นำเสนอผ่านนิตยสารเป็นหลัก ส่วนช่องทางออนไลน์เป็นการดึงเอาเนื้อหาบางส่วนที่มีอยู่แล้วของนิตยสารไปเผยแพร่ แต่ตอนนี้เปลี่ยนวิธีจะทำเนื้อหาเพื่อผู้อ่านบนออนไลน์เป็นหลัก จากนั้นจึงจะเลือกเนื้อหาออนไลน์ที่มีคนสนใจมากนำไปผลิตเป็นหนังสือภายหลัง และจะมีกิจกรรมเวิร์กช็อปเกี่ยวกับอาหารให้สมาชิกออนไลน์ได้มีส่วนร่วมสร้างคอมมิวนิตี้Ž”

จากการปรับตัวดังกล่าว คาดว่าผลประกอบการในอนาคตจะมีรายได้หลักมาจากกลุ่มธุรกิจมีเดีย ซึ่งที่ผ่านมามีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 20-30% ของบริษัท แต่ต่อไปกลุ่มมีเดีย (โปรดักชั่นเฮาส์งานรับจ้างผลิตคอนเทนต์วิดีโอ, สปอนเซอร์ หรือโฆษณาผ่านเว็บไซต์, การจัดอีเวนต์ หรือเวิร์กช็อปต่าง ๆ) จะขยับเป็น 80% ของรายได้บริษัท ขณะที่ธุรกิจหนังสือหรือสำนักพิมพ์จากเคยมีสัดส่วนรายได้ 80% จะเหลือ 20%

สำหรับธุรกิจสำนักพิมพ์ นายน่านกล่าวว่าสำนักพิมพ์แสงแดดผลิตหนังสือตำราอาหารมานานและโฟกัสเซ็กเมนต์นี้เป็นหลักจึงมีความเชี่ยวชาญด้านนี้ค่อนข้างมาก แต่สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนไปจะเห็นว่าไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ขณะที่การใช้เวลากับหนังสือน้อยลงและมีสูตรอาหารที่เป็นฟรีคอนเทนต์อยู่ในเว็บไซต์ต่าง ๆ จำนวนมาก ทำให้การผลิตหนังสือต้องปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยจะให้ความสำคัญกับอีโมชั่นนอลมากขึ้นหรือมีเนื้อหาที่มากกว่าการเป็นตำราอาหารที่มีแวลูและแตกต่างจากคอนเทนต์อื่น ๆ บนออนไลน์

 

 

แฟ้มภาพไม่เกี่ยวกับข่าว