ปิดช่องว่าง สื่อนอกบ้าน เชื่อมออฟไลน์…สู่ออนไลน์

10 ชั่วโมงต่อวันที่ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่นอกบ้าน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป กลายเป็นโอกาสสำคัญของสื่อนอกบ้าน แต่ด้วยพฤติกรรมเสพสื่อยุคนี้ที่เปิดรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อดิจิทัลมากขึ้น หรือเฉลี่ย 234 นาทีต่อวัน ก็ลดโอกาสการเห็นสื่อนอกบ้านลง ทำให้สื่อนอกบ้านต้องปรับตัวอีกระลอก เพิ่มความแปลกใหม่ ดึงความสนใจผู้บริโภคคืน

“อัญชลี ยุพเมฆ“Ž ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คินเนติค เวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย) จำกัด เอเยนซี่ด้านการวางแผนสื่อนอกบ้านในเครือดับบลิวพีพี กล่าวว่า ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตผู้บริโภคเปลี่ยนไป ใช้เวลาอยู่นอกบ้านมากขึ้น และรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อดิจิทัลเป็นหลัก ทำให้รูปแบบการสื่อสารผ่านสื่อเก่าต้องปรับตัว โดยเฉพาะสื่อนอกบ้าน เนื่องจากจะเป็นสื่ออันดับต้น ๆ ที่จะถูกตัดเม็ดเงินโฆษณาทันทีเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี

โจทย์สื่อนอกบ้าน คือ จะดึงความสนใจผู้บริโภคจากสื่อดิจิทัลอย่างไร เพื่อเพิ่มเม็ดเงินโฆษณา

ล่าสุด คินเนติคฯได้พัฒนาโมเดลการวางแผนสื่อนอกบ้านรูปแบบใหม่ แอ็กทีฟเจอร์นีย์Ž (Active Journeys) โมเดลนี้จะเชื่อมการสื่อสารระหว่างสื่อนอกบ้านกับสื่อออนไลน์เข้าด้วยกัน และเจาะเข้าหาผู้บริโภคได้แบบตัวต่อตัว เพิ่มประสิทธิภาพทางการสื่อสาร และวัดผลได้ เพราะได้ร่วมกับผู้ประกอบการสื่อนอกบ้านจ้างบริษัทวิจัยเข้ามาวัดผล อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ปี 2561

“แอ็กทีฟเจอร์นีย์ จะช่วยให้เข้าใจว่า ก่อนที่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้า ต้องผ่านกระบวนการหรือได้รับอิทธิพลจากช่องทางใดบ้าง และสามารถใช้ประโยชน์จากปัจจัยเหล่านี้อย่างไร ซึ่งโมเดลนี้จะสร้างประสบการณ์และกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ทันที โดยจะนำโมเดลนี้มาใช้ในไทยปีนี้Ž”

อย่างไรก็ตาม โมเดลนี้เริ่มใช้ในต่างประเทศแล้ว เช่น โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) ลงโฆษณาบนบิลบอร์ดเมื่อลูกค้าโฟล์คสวาเกนขับรถผ่านป้ายดังกล่าว แบรนด์ก็จะเชื่อมต่อข้อมูลแล้วส่งข้อความไปยังโทรศัพท์ลูกค้า เพื่อแจ้งว่าต้องนำรถเข้าศูนย์บริการเมื่อไร

นอกจากนี้เปิดตัวโปรแกรม ”ออเรียส“Ž (Aureus) แพลตฟอร์มใหม่ที่จะรวมข้อมูลและจำนวนป้ายในแต่ละโลเกชั่นของผู้ประกอบการสื่อนอกบ้านถึง 120 ราย ทำให้เอเยนซี่สามารถวางแผนสื่อโฆษณานอกบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าแนวทางการวางแผนสื่อนอกบ้านใหม่นี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพรวมสื่อนอกบ้านขยายตัวขึ้นในอนาคต

ฟากผู้ประกอบการสื่อนอกบ้านก็กำลังเปลี่ยนตัวเองด้วยการเชื่อมต่อโลกออฟไลน์กับออนไลน์เข้าด้วยกัน

”วิคเตอร์ โตโพธิ์ยศสกุล“Ž ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วีจีไอมีเป้าหมายจะเป็น ออมนิแชนเนลมีเดียเฮาส์Ž ที่ผ่านมาได้เข้าซื้อกิจการต่าง ๆ ต่อยอดธุรกิจ ปัจจุบันมีบริการสื่อนอกบ้านครบวงจร เช่น บีทีเอส สนามบิน บัตรแรบบิทการ์ด เป็นต้น

ทิศทางจากนี้ไปจะใช้สื่อในเครือทั้งหมดมาต่อยอดธุรกิจ โดยเชื่อมฐานข้อมูลจากแรบบิทการ์ด 7.5 ล้านใบ ข้อดี คือ ลูกค้า (สินค้า) จะรู้ว่า ผู้ใช้บัตรมีไลฟ์สไตล์ในการจับจ่ายอย่างไร และสามารถส่งโปรโมชั่น หรือสื่อสารกับผู้บริโภคได้โดยตรง

สอดรับกับ “ปรินทร์ โลจนะโกสินทร์”Ž กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สื่อนอกบ้านยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค และยังมีโอกาสขยายตัว เพราะผู้บริโภคใช้เวลาอยู่นอกบ้านเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อวัน ประกอบกับเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อผู้บริโภคมากขึ้น กลายเป็นความท้าทายนักการตลาดและแบรนด์ ที่จะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาและสร้างสรรค์กับสื่อนอกบ้านให้โดดเด่น ดึงความสนใจได้อย่างไร โดยเฉพาะกับสื่อนอกบ้านที่เป็นในรูปแบบดิจิทัล ขณะที่สื่อนอกบ้านรูปแบบเดิม ๆ อย่างบิลบอร์ดก็ยังทำหน้าที่สร้างการรับรู้ให้แก่แบรนด์เช่นเดิม ท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับแบรนด์วางเป้าหมายไว้อย่างไร เพื่อจะได้เลือกใช้สื่อนอกบ้านให้เหมาะสมและเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด

เช่นเดียวกับ ”ภัคณัฏฐ์ ภูมิชิษสานันท์“Ž ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ทรีซิกตี้ ไฟว์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า ปัจจุบันคนใช้เวลาอยู่นอกบ้าน 10 ชั่วโมงต่อวัน และใช้เวลาอยู่บนถนนเฉลี่ย 1.30 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้ป้ายริมถนนโตขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการสื่อนอกบ้านเองก็ต้องปรับตัวให้สอดรับกับเทคโนโลยีและพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป ล่าสุดได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น TSF ARŽ สื่อโฆษณาเสมือนจริงที่เชื่อมต่อระหว่างดีไวซ์กับป้ายโฆษณาของทีเอสเอฟได้ ตอบโจทย์พฤติกรรมคนยุคดิจิทัล

การปรับตัวครั้งนี้ กำลังปิดช่องว่างระหว่างสื่อออนไลน์กับออฟไลน์ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค และเจาะตรงได้แบบตัวต่อตัว หวังสร้างการเติบโตให้แก่สื่อนอกบ้านในอนาคต