Market-think: 4 แกน

เศรษฐกิจไทย
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ช่วงนี้ไปคุยวงไหน จะคุยกันแต่เรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจในวันนี้

ทุกคนอยากรู้ว่า เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

วิเคราะห์กันไปหลายทาง

แต่ส่วนใหญ่จะออกมาในทางลบเป็นส่วนใหญ่

ภาพในอนาคต เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากรู้

ใครทำธุรกิจก็อยากรู้เพื่อกำหนดทิศทางธุรกิจของตัวเอง

จะรุก จะรับ หรืออยู่เฉย ๆ

ส่วนคนที่พอมีเงินแต่ไม่ใช่เจ้าของกิจการ ส่วนใหญ่จะฟังเพื่อตัดสินใจการลงทุน

จะซื้อหรือขาย

จะลงทุนกับอะไรดี

เวลาที่มีคนถามความเห็น ผมจะบอกว่า ส่วนใหญ่จะแนะนำให้มอง 4 เรื่อง

ถ้าใช้สำนวน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องบอกว่า ให้ดู 4 แกน

เรื่องแรก คือ สถานการณ์โลกเป็นอย่างไร

เรื่องที่สอง ปัจจัยภายในประเทศมีอะไรบ้าง ทั้งเรื่องการเมือง และเศรษฐกิจ

เรื่องที่สาม “ความเชื่อ” ของสังคม

คนส่วนใหญ่เชื่อว่าอย่างไร

เรื่องที่สี่ ธุรกิจของตัวเองเป็นอย่างไร

อย่างวันนี้ สถานการณ์โลกค่อนข้างชัดเจนว่าแย่มาก

เจอโควิดไป 2 ปี โซซัดโซเซกันทั้งโลก

พอเริ่มฟื้นขึ้นมา ก็เจอสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ราคาพลังงานพุ่ง ต้นทุนอาหารสูงขึ้น

เงินเฟ้อทั่วโลก

ประเทศเล็ก ๆ เริ่มออกอาการว่าจะไปไม่ไหว ทั้งศรีลังกา บังกลาเทศ ลาว ฯลฯ

ล่าสุด พม่าก็อาการหนักแล้ว ระดับที่แบงก์ชาติพม่าสั่งระงับการจ่ายหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาระดับทุนสำรอง

ผมนึกถึงตอน “ต้มยำกุ้ง” เลย

เกิดที่เมืองไทย แต่ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก

จำได้ว่า “บิล คลินตัน” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในช่วงนั้น ยังเขียนในหนังสือประวัติของเขาว่า การตัดสินใจไม่ช่วยไทยเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด

เพราะนึกไม่ถึงว่าจากประเทศเล็ก ๆ ในแผนที่โลกจะส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกได้

วันนี้พอเห็นสถานการณ์ในพม่า และศรีลังกา

อดหวั่นใจไม่ได้

กลัวไฟจะไหม้ทุ่ง

ส่วนปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทก็อ่อนจนไม่รู้จะอ่อนอย่างไร

น้ำมันก็แพง อาหารก็แพง

เงินเฟ้อก็พุ่งกระฉูด

มองมุมไหนก็ไม่มีอะไรดีเลย

นายกรัฐมนตรีก็ยังเป็นคนเดิม

มีดีอยู่เรื่องเดียว คือ ได้ผู้ว่าฯคนใหม่ชื่อ “ชัชชาติ”

ส่วนเรื่องที่สาม เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับข้อมูลอะไรเลย

เป็นเรื่อง “ความเชื่อ” ล้วน ๆ

คนส่วนใหญ่เชื่อไหมว่าเศรษฐกิจจะดี

ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อ เขาก็จะไม่ใช้เงิน

อนาคตเป็นเรื่องที่ไม่มีใครทำนายได้

“ความเชื่อ” จะกำหนด “ภาพในใจ” ของเขา

และภาพในใจจะกำหนดภาพความเป็นจริง

แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดที่ผมจะบอกน้อง ๆ ทุกคนที่มาปรึกษา คือ ให้ดูธุรกิจของตัวเองเป็นหลัก

ตัวเลขของบริษัทเป็นอย่างไร

ต่อให้เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศไม่ดี คนเชื่อว่าเศรษฐกิจจะแย่ลง

แต่ถ้ายอดขายของเรายังโต

กำไรยังดี

เราต้องให้น้ำหนักกับตัวเลขของเรามากที่สุด

ถ้าเราขายดี กำไรดี แต่เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยไม่ดี

เราก็แค่ระวังขึ้นหน่อยเท่านั้นเอง

แต่ถ้าธุรกิจเราก็ไม่ดี ปัจจัยภายนอกก็ไม่ดี

แบบนี้ต้องคิดแบบคนที่บ้านเจอน้ำท่วมเป็นประจำ

แค่ฝนเริ่มตั้งเค้า


ขนของขึ้นที่สูงทันที