เจาะลึกสังคมผู้สูงวัย ส่องโอกาสใหม่โลกธุรกิจ

ผู้สูงวัย
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยกัน
ผู้เขียน : ดร.กิ่งกาญจน์ เกษศิริ, รังสิมา ศรีสวัสดิ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจและกำหนดเป็นหนึ่งในเป้าหมายเร่งด่วนที่ต้องดูแล เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปย่อมส่งผลกระทบต่อหลายด้าน โดยในส่วนของเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะกระทบทั้งความต้องการบริโภคสินค้าและบริการ กำลังแรงงาน รวมถึงการออมและการลงทุนให้ลดลง ประเทศไทยนับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ และอาจใช้เวลาเพียงอีก 10 ปีต่อจากนี้ในการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มที่

ช่วงที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสได้ศึกษาข้อมูลรายได้และการใช้จ่ายของครัวเรือนไทย พบว่าการบริโภคโดยรวมจะลดลงเมื่อไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ เนื่องจากครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกมีรายได้และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนต่ำกว่าครัวเรือนที่ไม่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกค่อนข้างมาก

แต่หากมาดูประเภทการบริโภค พบว่าครัวเรือนผู้สูงวัยยังคงมีความต้องการสินค้าพื้นฐานในการดำรงชีวิต แต่อาจเป็นสินค้าและบริการที่แตกต่างออกไป จึงขอมาเล่าสู่กันฟังและชวนคิดเพิ่มเติมถึง “โอกาสทอง” ของภาคธุรกิจที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความท้าทายนี้

ธุรกิจที่มีโอกาสสูง คือกลุ่มสินค้าและบริการที่ครัวเรือนผู้สูงวัยมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าครัวเรือนที่ไม่มีผู้สูงวัยค่อนข้างมาก ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยเห็นแนวโน้มการบริโภควิตามินและอาหารเสริมเพิ่มขึ้น การก่อสร้างและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและลดการเกิดอุบัติเหตุ บริการสาธารณสุขและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ เช่น ธุรกิจประกัน การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เป็นต้น

ธุรกิจที่มีโอกาสแต่ต้องปรับตัว คือ กลุ่มสินค้าที่ครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมด แต่ยังเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่ต้องการ เช่น ยานพาหนะส่วนบุคคล แม้ครัวเรือนผู้สูงวัยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการซื้อรถยนต์ส่วนบุคคลลดลง แต่ค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้บริการรถสาธารณะประเภทรถรับจ้างไม่ประจำทางกลับเพิ่มสูงขึ้น

กราฟเจาะลึกสังคมผู้สูงวัย

สะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงวัยส่วนใหญ่ยังคงต้องการความสะดวกสบายในการเดินทางหรืออาจมีข้อจำกัดด้านร่างกาย จึงเป็นโอกาสของธุรกิจบริการ Ride sharing และรถยนต์ที่มีระบบอัตโนมัติช่วยอำนวยความสะดวก เช่น รถที่มีที่นั่งเป็นวีลแชร์ รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ

นอกจากนี้ผู้เขียนเห็นว่า ธุรกิจให้บริการอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุก็มีศักยภาพ แม้จะไม่ได้ถูกกล่าวถึงในงานศึกษา อาทิ บริการพาไปพบแพทย์หรือไปเที่ยว บริการดูแลผู้สูงวัย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นบางค่ายรถยนต์จับมือกับโรงพยาบาลทำธุรกิจบริการรับส่งผู้ป่วยเพื่อต่อยอดธุรกิจเดิม การให้บริการเหล่านี้นอกจากเป็นโอกาสต่อยอดของภาคธุรกิจแล้ว ก็เพิ่มทางเลือกในการทำงานให้แก่กลุ่มแรงงานอิสระที่พร้อมจะ reskill ให้เหมาะกับความต้องการในตลาดแรงงานด้วยเช่นกัน

หากจะชวนคิดต่อยอด ผู้เขียนเห็นว่าธุรกิจที่ถูกระบุว่ามีความเสี่ยงในงานวิจัยนี้ก็ยังมีโอกาสซ่อนอยู่ หากมีการปรับลักษณะของสินค้าและบริการให้เหมาะสม เช่น ธุรกิจการศึกษา เนื่องจากการเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงวัยส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ ผู้สูงอายุที่ยัง active แต่มีเงินเก็บไม่มากน่าจะยังมีความต้องการทำงานเพื่อให้มีรายได้ ซึ่งผู้สูงวัยกลุ่มนี้จะต้องการการศึกษาที่แตกต่างไปจากรูปแบบเดิมเพื่อ upskill หรือ reskill ให้กับตนเองเพื่อให้ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

ผู้บริโภคที่จะเข้าถึงสินค้าและบริการที่กล่าวมาอาจมีเพียงผู้สูงวัยที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงเท่านั้น ซึ่งครัวเรือนกลุ่มนี้อาจเป็นสัดส่วนไม่มากในสังคมไทย เพราะปัจจุบันสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัยยังมีอุปทานน้อยและราคาสูง จึงยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งด้านการลงทุนและการวิจัยเพื่อพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ที่หลากหลายและมีคุณภาพ

รวมถึงผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อเอื้อให้ธุรกิจมีโอกาสและความคล่องตัวในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ โดยอุปทานที่เพิ่มขึ้นในอนาคตจะช่วยให้ราคาสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัยลดลงจนครัวเรือนผู้สูงวัยทุกประเภทสามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้สินค้าไทยไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศ อาทิ สหรัฐ ที่เป็นคู่ค้าสำคัญและจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ ซึ่งภาคธุรกิจของไทยที่พร้อมคว้าโอกาสและปรับตัว ก็จะสามารถเติบโตไปพร้อมกับเทรนด์ใหม่ของโลกนี้ด้วยกัน

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด**

หมายเหตุ : 1.ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือ ประเทศที่มีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) คือ ประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด


2.รังสิมา ศรีสวัสดิ์ (2565) “โอกาสและแนวทางสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยภายใต้การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมผู้สูงวัย” Focus and Quick (FAQ) Issue 194, ธนาคารแห่งประเทศไทย