“เซลล็อกซ์” เพิ่มดีกรีเจาะ B2B ผ่ากำลังซื้อ ลุ้นโตเลข 2 หลัก

เซลล็อกซ์

บีเจซี เปิดเกมรุกทุ่ม 1,600 ล้าน ลงทุนใหญ่ในรอบ 30 ปี เพิ่มกำลังการผลิตกระดาษทิสชู-ระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เดินหน้าขยายกลุ่มลูกค้าบีทูซีและบีทูบีตั้งเป้าโตดับเบิลดิจิต

ดร.ตุลย์ วงศ์ศุภสวัสดิ์ ผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทมองเห็นเทรนด์การใช้งานของกระดาษทิสชูที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยเมื่อหลายปีที่ผ่านมาผู้คนส่วนใหญ่นิยมใช้กระดาษแบบม้วน แต่ปัจจุบันเริ่มหันมาใช้กระดาษทิสชูแบบแผ่นในชีวิตประจำวันมากขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมการใช้กระดาษเช็ดหน้าเพื่อการแต่งหน้า หรือใช้เพื่อซับเหงื่อบนใบหน้าและลำคอ รวมถึงการใช้สำหรับเช็ดมือขยายตัวเพิ่มขึ้น

ส่งผลให้ภาพรวมตลาดกระดาษทิสชูแบบม้วนที่มีมูลค่า 3,000-4,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย พรีเมี่ยม, มีเดียม และอีโคโนมี ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 4-5%

ขณะที่บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตมากกว่าตลาดอยู่ที่อัตรา 11% และเพื่อผลักดันตลาดให้เติบโตขึ้น เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เซลล็อกซ์ ภายใต้การบริหารของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จึงได้ทุ่มงบฯลงทุน 1,600 ล้านบาท ขยายกำลังการผลิตกระดาษทิสชูเพิ่มขึ้น 27,500 ตันต่อปี ซึ่งเป็นเครื่องผลิตกระดาษเครื่องที่ 5 หรือเรียกว่า PM 5 ที่มีเทคโนโลยีในการบดเยื่อแบบ papillon refiner และการรีดน้ำออกจากกระดาษแบบ shoe press มาติดตั้งเพื่อลดการใช้พลังงานในการผลิต

ส่วนโรงงานแปรรูปกระดาษบริษัทได้นำเทคโนโลยีการขึ้นรูปลายกระดาษแบบ joint embosser เพื่อให้ได้กระดาษที่มีลวดลายสวยงาม เพิ่มความหนา และการซึมซับ

รวมถึงการนำระบบ automation และหุ่นยนต์มาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต การบริหารจัดการสินค้า และยังได้ลงทุนระบบคลังสินค้าอัตโนมัติเข้ามาช่วยลดขั้นตอนการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนลดลงแต่ยังคงคุณภาพตามมาตรฐานการส่งมอบสินค้า

เพื่อสามารถตอบโจทย์การใช้เช็ดทำความสะอาดของผู้บริโภคทุกกลุ่มเป้าหมาย

ดร.ตุลย์ย้ำว่า การลงทุนดังกล่าวส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมมากที่สุดในไทย และจะสามารถรองรับการเติบโตในระยะ 7-8 ปีข้างหน้า และถือว่าเป็นงบฯก้อนใหญ่สุดในรอบ 30 ปีของโรงงานกระดาษทิสชู ซึ่งยังไม่รวมมูลค่าที่ดินตั้งโรงงาน

สำหรับแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ บริษัทมุ่งให้ความสำคัญกับการขยายตลาดให้กว้างขึ้น ทั้งกลุ่มผู้บริโภค (B2C) รวมถึงเจาะกลุ่มองค์กรต่าง ๆ (B2B) เช่น โรงพยาบาล อาคารสำนักงาน ห้างค้าปลีก ควบคู่กับการใช้งบฯทำตลาดราว ๆ 100 ล้าน เพื่อใช้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย

โดยเน้นใช้สื่อและกิจกรรมการตลาดแบบครบวงจร ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ และอินฟลูเอนเซอร์ พร้อมร่วมมือกับไลน์เฟรนด์ แคแร็กเตอร์ยอดฮิต ออกลายใหม่ ๆ รวมถึงในช่วงเทศกาลปีใหม่ได้จับมือกับหมอช้างออกลายทิสชูนกยูงเสริมด้านสิริมงคล ทั้งนี้ ก็เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาด

ด้านตลาดต่างประเทศบริษัทวางแผนขยายการผลิตกระดาษทิสชูไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีโรงงานตั้งอยู่ที่ประเทศเวียดนาม 2 แห่ง คือ BJC Cellox Viet Nam Company Limited และ Vina Paper Company Limited และที่ประเทศกัมพูชา 1 แห่ง คือ BJC Cellox Combodia Company Limited ซึ่งมีกำลังการผลิตกระดาษทิสชูมากกว่า 90,000 ตันต่อปี

ต้นทุนผลิตเพิ่ม สินค้าบางรายการ ปรับขึ้นราคา 3-5%

พร้อมกันนี้ ดร.ตุลย์ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้สถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนรวมถึงราคาพลังงาน ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบกระดาษทิสชูเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานบริษัทเพิ่มขึ้นกว่า 40% จากการนำเข้าวัตถุดิบเยื่อกระดาษเส้นใยสั้นจากต่างประเทศ จึงหันมาใช้เยื่อเส้นใยสั้นในประเทศทดแทนชั่วคราว ประกอบกับยังพอมีสต๊อกวัตถุดิบเยื่อไว้ซึ่งจะใช้ได้อีกประมาณ 6 เดือน

ขณะเดียวกัน บริษัทพยายามลดคอสต์ทุกอย่างลง และยอมรับว่าสินค้าบางรายการมีการปรับขึ้นราคาไปแล้วประมาณ 3-5%

“สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อยังเป็นแรงกดดันต่อการผลิตสินค้า ขณะที่กำลังซื้อผู้บริโภคยังน่าเป็นห่วง คือเมื่อเกิดเอฟเฟ็กต์การขึ้นราคาสินค้าจะมีผลกระทบไปนานกว่า 2-3 เดือน สังเกตจากที่เราได้ปรับราคาทำให้ยอดขายชะลอไป 2 เดือน จากนั้นจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น และในสิ้นปี 2565 บริษัทต้องการสร้างรายได้ให้เติบโตดับเบิลดิจิต

“โดยในครึ่งปีแรกเริ่มทำได้ใกล้เคียงแล้ว ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้มาจากในประเทศ 90% และส่งออกต่างประเทศ 10%” ดร.ตุลย์กล่าว