โจลี สนอป ปรับลุก รองเท้าสุขภาพรุ่นใหม่ “ต้องไม่เชยอีกต่อไป”

พีรภัทร จงสถิตย์วัฒนา
พีรภัทร จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจลี สนอป จำกัด
สัมภาษณ์

ปัจจุบันตลาดรองเท้าสุขภาพในไทย แม้จะเป็นเซ็กเมนต์ที่มีมูลค่าทางการตลาดไม่มากนัก เมื่อเทียบกับตลาดรองเท้าลำลอง แต่ตลาดเซ็กเมนต์นี้ยังมีศักยภาพและโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก

ส่วนหนึ่งเนื่องจากรองเท้าเพื่อสุขภาพไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มคนสูงอายุเท่านั้น โดยปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาใส่ใจในเรื่องสุขภาพเท้ามากขึ้น และด้วยนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น รองเท้าสุขภาพหน้าตาไม่ได้เชยเหมือนเดิมแล้ว ทำให้มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ กระโดดเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งมีการแข่งขันในด้านดีไซน์ คุณภาพ และราคา เพื่อดึงดูดลูกค้าเป้าหมาย

เช่นเดียวกับ “โจลี สนอป” ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรองเท้าสุขภาพแบรนด์ชั้นนำจากญี่ปุ่นมานานกว่า 35 ปี อาทิ Asahi, Moonstar, Achilles ฯลฯ ที่ล่าสุด ได้ปรับตัวด้วยการแตกไลน์สินค้านวัตกรรมใหม่ ๆ ตอบโจทย์กลุ่มคนที่มีปัญหาสุขภาพเท้าตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยเกษียณ

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “พีรภัทร จงสถิตย์วัฒนา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจลี สนอป จำกัด เจเนอเรชั่นที่ 3 ฉายภาพการปรับตัวและทิศทางการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต

Q : การก้าวเข้ามาสู่ตลาดรองเท้าเพื่อสุขภาพของโจลี สนอป

จริง ๆ แล้ว โจลี สนอป มีที่มาที่ไปจากคุณพ่อ (ประภัศร์ จงสถิตย์วัฒนา) มีพาร์ตเนอร์เป็นคู่ค้าญี่ปุ่นมายาวนาน และญี่ปุ่นเป็นผู้นำด้านรองเท้าสุขภาพ เนื่องจากไลฟ์สไตล์คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไปไหนมาไหนด้วยการเดิน ทำให้มีฟังก์ชั่นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์และมีมาตรฐานการผลิตที่ก้าวหน้ามาก จึงเป็นโอกาสที่จะนำรองเท้าเพื่อสุขภาพเข้ามาจำหน่ายในไทย

บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายนำเข้าแบรนด์รองเท้าสุขภาพมา 35 ปี และเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ได้เริ่มสร้างแบรนด์ภายใต้ชื่อ “โจลี สนอป” ผลิตจากโรงงานที่ญี่ปุ่น เน้นปรับวัสดุให้เข้ากับลูกค้าคนไทยและอากาศเมืองไทย

ปัจจุบันทั้งแบรนด์โจลี สนอปและแบรนด์นำเข้า มีสินค้าประมาณ 150-200 เอสเคยู เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิงวัยตั้งแต่เริ่มทำงาน 25 ปี จนถึงวัยสูงอายุ

สำหรับจุดขายของรองเท้า เน้นการแก้ไขทุกปัญหาของเท้า เริ่มตั้งแต่เรื่องเท้าเริ่มบวม กระดูกโปน รองช้ำ ถัดมาคือการซ่อนฟังก์ชั่นให้ใส่สบายในรองเท้าลำลอง หรือรองเท้าแฟชั่น แต่ที่ผ่านมาการทำตลาดไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรองเท้าสุขภาพ ถือเป็นเรื่องใหม่ของคนไทย คนส่วนใหญ่มองว่าใส่แล้วลุกดูสูงวัย จึงต้องการลบความเชื่อเดิม ๆ ด้วยการปรับลุกแบรนด์ ทั้งโลโก้ และมุ่งออกแบบโปรดักต์ให้ทันสมัยมากขึ้น ทำให้ลูกค้าเริ่มบอกกันปากต่อปาก จึงได้รับการตอบรับมากขึ้น

Q : ภาพรวมตลาดรองเท้าสุขภาพในไทย

ปัจจุบันตลาดเติบโตขึ้นมาก เห็นได้จากแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่กระโดดเข้ามาทำตลาดมากขึ้น โดยเน้นแข่งขันกันในแง่ของสินค้าที่ใส่แล้วสบาย ทุกแบรนด์จะมีกลุ่มลูกค้าเป็นของตัวเอง

อีกทั้งเรื่องเซอร์วิสก็มีส่วนช่วยขายรองเท้า ดังนั้น แบรนด์จึงมีหน้าที่ในการให้ข้อมูลลูกค้า ทั้งความถูกต้องและชัดเจน เพราะตลาดรองเท้าเพื่อสุขภาพจะไม่เหมือนกับรองเท้าแฟชั่น ที่สวยแล้วตัดสินใจซื้อทันที

Q : ตลาดรองเท้าเพื่อสุขภาพได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือไม่ และปรับตัวอย่างไร

โควิด-19 ส่งผลกระทบในแง่ของจุดขายของโจลี สนอป ที่วางจำหน่ายในแผนกรองเท้าสตรี 19 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์การค้า โดยเฉพาะช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ปิดประเทศ ร้านปิดไป 2 รอบ รวม ๆ แล้ว 5 เดือน ยอดขายหายไปเกือบครึ่ง

และที่ผ่านมา บริษัทก็ไม่ได้เน้นขายออนไลน์ เพราะร้านในศูนย์ทำยอดขายได้ดีอยู่แล้ว พอโควิดมาต้องหันมาพึ่งพาออนไลน์มากขึ้น ควบคู่กับการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แบรนด์ เพราะที่ผ่านมาถ้าพูดถึงแบรนด์คนยังติดภาพแก่ ๆ อยู่ ดังนั้น จึงต้องทำให้แบรนด์ดูเด็กลง เพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ ๆ

Q : กลยุทธ์การทำตลาดต่อจากนี้

สำหรับแบรนด์โจลี สนอป มีความเชื่อว่าการซื้อรองเท้า ต้องมาเลือกสินค้าที่ร้านก่อนตัดสินใจซื้อ แต่เมื่อโควิดหมดไป เริ่มเห็นว่าการเปิดร้านรองเท้าแบบเดิม ๆ เริ่มไม่ตอบโจทย์ เมื่อพฤติกรรมลูกค้าส่วนใหญ่เลือกซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ และไม่จำเป็นต้องมาที่ร้าน ทำให้แบรนด์เลือกรองเท้าที่ใส่ได้เหมาะกับทุกคนขึ้นวางขายบนออนไลน์มากขึ้น

ยอมรับว่า ยังอยากให้ลูกค้ามาลองสินค้าที่หน้าร้าน จึงได้เปิดร้าน Walking Habit ที่ศูนย์การค้า K Village ที่มีบริการแบบ one stop service นอกจากการขายรองเท้า ยังมีสินค้าแผ่นรองเท้าแบรนด์ SIDAS ที่บริษัทนำเข้าจากฝรั่งเศส ซึ่งทำมาจากเทคโนโลยีออกแบบแผ่นรองเท้าให้พอดีกับเท้าลูกค้า รวมถึงการลงทุนนำเครื่องตรวจเท้า วัดน้ำหนักเท้า และเครื่องสแกนเท้า 3 มิติ มาช่วยให้ลูกค้าเลือกรองเท้าได้ตรงความต้องการ เพื่อต้องการจูงใจให้ลูกค้ากลับมาหน้าร้าน

นอกจากนี้ ต้องเพิ่มน้ำหนักช่องทางออนไลน์ บริษัทจึงได้ลงทุนพัฒนาเว็บไซต์และกระจายสินค้าไปตามแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น ช้อปปี้และลาซาด้า ทำให้ยอดขายออนไลน์เติบโตขึ้น 3 เท่าตัว

ขณะเดียวกันยังได้จัดโปรโมชั่นในโอกาสวันแม่ ให้ส่วนลด 30% สำหรับการซื้อสินค้าราคาปกติทุกรุ่น และสินค้าราคาพิเศษลด 50-70% ทั้งเคาน์เตอร์โจลี สนอปในห้างและออนไลน์ เริ่มตั้งแต่วันนี้ถึง 14 สิงหาคม 2565

Q : ปัญหาบาทอ่อนค่า กระทบต้นทุนนำเข้าหนักแค่ไหน

เราได้เปรียบเรื่องค่าเงินบาท เพราะเราซื้อขายเป็นเงินเยน ตอนนี้เงินเยนอ่อนค่าลง จึงสั่งซื้อสินค้าได้ในราคาดีขึ้น แต่เจอผลกระทบค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง ทำให้คอสต์เพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนฝั่งโรงงาน ค่าแรงของญี่ปุ่นก็ขึ้น ทำให้สินค้าขึ้นหมด จึงต้องปรับขึ้นราคาสินค้าในบางรายการ แต่ไม่ได้ปรับขึ้นมาก และก่อนหน้านี้ โจลี สนอป มีราคาค่อนข้างสูง 4,000-5,000 บาท ส่วนรุ่นท็อปสูงถึง 10,000 บาท โดยปัจจุบันพยายามเพิ่มไลน์สินค้าใหม่ ในราคา 2,000-4,000 บาท ให้วัยเพิ่งเริ่มทำงานเข้าถึงได้มากขึ้น


เป้าหมายของโจลี สนอป ไม่ใช่เรื่องยอดขาย แต่ต้องการนำเข้ารองเท้าคุณภาพดี ๆ จากญี่ปุ่น เข้ามาให้คนไทยได้สวมใส่กันมากที่สุด ในราคาที่เข้าถึงได้