“นุสรา” นั่งเก้าอี้นายกส.ประกันชีวิตไทยอีก 2 ปี เดินเครื่องแผนปี 61-63 ขับเคลื่อนธุรกิจผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค.61 นี้ ที่ประชุมบอร์ดสมาคมได้มีมติแต่งตั้งตนให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมประกันชีวิตไทยอีก 1 วาระ ซึ่งจะมีผลสิ้นสุดในปี 2563 นอกจากนี้ทางสมาคมได้คัดเลือกคณะกรรมการสมาคม ประจำปี 2561-2563 จากทั้ง 23 บริษัท และแต่งตั้งผู้แทนจำนวน 13 คน เพื่อเข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหารสมาคม ซึ่งมีรายชื่อดังต่อไปนี้

นางนุสรา กล่าวว่า สำหรับธุรกิจประกันชีวิตในปีนี้ยังคงเป้าหมายการเติบโตของเบี้ยรับรวมที่ 4-6% จากปีก่อน ซึ่งภาคธุรกิจยังคงยืนยันว่าในครึ่งปีหลัง (ก.ค.-ธ.ค.61) จะสามารถเติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตในประเทศไทยในปี 60 อยู่ที่ 39% แสดงให้เห็นว่าตลาดประกันชีวิตในประเทศไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐที่มีนโยบายกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการมีความคุ้มครองและการวางแผนการเงินเพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ รวมถึงมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้ผู้เอาประกันภัยนำค่าเบี้ยประกันชีวิตและประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคธุรกิจ อาทิ การปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารการขายของแต่ละบริษัทประกันชีวิตให้มีความเหมาะสมกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายต่อเนื่องและเหมาะสมกับบุคคลในแต่ละช่วงวัย ตลอดจนการพัฒนาการให้บริการที่มุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศในทุกๆ ด้านด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงการพัฒนาและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้นครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

การส่งเสริมและสนับสนุนให้ความรู้ด้านการประกันชีวิตแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ที่เข้าถึงประชาชนได้สะดวกและรวดเร็ว ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจก้าวไปถึงเป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้

สำหรับทิศทางของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในอนาคตนั้น บริษัทประกันชีวิตหลายบริษัทได้พัฒนากรมธรรม์ประกันชีวิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำหรืออาจจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในปีนี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคมองหาการลงทุนในลักษณะอื่นเพิ่มเติม ประกอบกับปัจจุบันประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการทำประกันชีวิต การวางแผนทางการเงินเพิ่มมากขึ้น จึงไม่ได้ต้องการที่จะซื้อความคุ้มครองชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองการลงทุนอื่นที่ได้รับผลตอบแทนสูงด้วย ดังนั้นผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน (Unit-Linked , Universal Life) จึงได้รับความนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย 5 ปีที่ผ่านมา เบี้ยประกันภัยจากผลิตภัณฑ์ควบการลงทุนในปี 60 เพิ่มสูงขึ้นกว่า 300% เมื่อเทียบกับปี 56 หากพิจารณาเฉพาะ Unit-Linked เติบโตสูงเกือบ 4,000%

นอกจากนี้กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญหรือเงินได้ประจำ (Annuity) ก็มีความจำเป็นสำหรับการวางแผนเพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ รวมถึงการวางแผนสุขภาพผ่านผลิตภัณฑ์ “สัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพ” และ “สัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรง” ซึ่งตอบโจทย์ลูกค้าในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการตัดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยคาดว่าอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนจะเพิ่มสูงขึ้น 15-20% ซึ่งภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสวัสดิการในส่วนนี้ จึงมีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพ โดยสามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพ มาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และสุดท้ายคือผลิตภัณฑ์สำหรับจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ที่ตอบโจทย์สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) และตอบสนองกลุ่ม Gen M หรือ Millennials ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เติบโตพร้อมกับการพัฒนาของออนไลน์และเทคโนโลยี ใช้ Social Media ทุกวัน และเป็นกลุ่มที่ทำการซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุด

จากผลของการแข่งขันของบริษัทสมาชิกในการให้บริการที่ดีแก่ประชาชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย การขยายช่องทางการจัดจำหน่าย รวมไปถึงสิทธิผลประโยชน์ทางภาษีที่ผู้เอาประกันชีวิตจะได้รับต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในปี 2561

อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจยังคงมีปัจจัยที่ท้าทายและต้องขานรับต่อการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่างๆ อาทิ กรอบการดํารงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (RBC2) การยกระดับมาตรฐานพฤติกรรมทางการตลาดของระบบประกันชีวิต Market Conduct การยกร่างประกาศ เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตและการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิตและธนาคาร พ.ศ. 2561 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลส่งเสริมให้กระบวนการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการประเมินภาคการเงินตามโครงการ FSAP ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561

ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ เพื่อยกระดับมาตรฐานการรายงานทางเงินของไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล จำนวน 2 ฉบับ คือ มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (IFRS 9) จากเดิมที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยในปี 2562 ซึ่งปัจจุบัน คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เลื่อนเวลาการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี IFRS9 ออกไปอีก 1 ปี เป็นเดือนมกราคม 2563 และมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่องการวัดมูลค่าหนี้สิน การรับรู้รายได้ และการเปิดเผยข้อมูล (IFRS 17) เริ่มมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยในปี 2565 ซึ่งมาตรฐานการบัญชีทั้งสองฉบับจะส่งผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจประกันชีวิตในแง่ของจัดประเภทรายการและการวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน การแสดงรายการ และการเปิดเผยข้อมูลงบการเงินของภาคธุรกิจประกันชีวิต ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และจะไปถึงเรื่องการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) ดังนั้น การปรับตัวเพื่อรองรับกับมาตรฐานการรายงานทางเงินฉบับใหม่ จึงเป็นความท้าท้ายอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจประกันชีวิตไทย จำเป็นที่ภาคธุรกิจจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถที่จะนำไปใช้ได้จริงก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

อีกทั้งยังมีการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยความท้าทายของธุรกิจประกันชีวิตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งผลให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัวให้ทันตามการเปลี่ยนแปลงที่รุดหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจและเศรษฐกิจของโลกให้เปลี่ยนแปลงไป หลายๆ สิ่งถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีโฉมใหม่ที่สะดวกสบายกว่า รวดเร็วกว่า แม่นยำกว่า และสามารถใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งในปัจจุบันธุรกิจประกันชีวิตได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปฏิวัติรูปแบบการดำเนินธุรกิจ หรือที่เรียกว่า InsureTech เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ การให้บริการและการบริหารจัดการภายใน การให้บริการอย่างครบวงจรตั้งแต่การเสนอขาย การให้คำปรึกษา การจ่ายผลประโยชน์และค่าสินไหมทดแทน

ดังนั้นต่อจากนี้ไปประชาชนจะได้เห็นการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ หรือในเรื่องของดิจิทัลมากขึ้น และแน่นอนว่าจะต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของการดำเนินงานและบริการในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาคธุรกิจ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายและประโยชน์จากการประกันชีวิตสูงสุด

นางนุสรา กล่าวอีกว่า ส่วนเบี้ยประกันชีวิตรับรวมในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีเบี้ยรับรวมทั้งสิ้น 312,530.24 ล้านบาท เติบโต 5.01% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่จำนวน 89,970.03 ล้านบาท เติบโต 8.47% และเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไปจำนวน 222,560.22 ล้านบาท เติบโต 3.68% อัตราความคงอยู่ 84%


โดยเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ประกอบด้วย (1) เบี้ยประกันชีวิตปีแรก มีจำนวน 46,347.39 ล้านบาท (2) เบี้ยประกันชีวิตจ่ายครั้งเดียว จำนวน 43,622.63 ล้านบาท ซึ่งมาจากช่องทางธนาคารเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วนร้อยละ 48.39 โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 151,236.67 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 6.13 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการออกกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) ที่ขายผ่านช่องทางธนาคารมีการขายมากเป็นพิเศษ รองลงมาคือช่องทางตัวแทนประกันชีวิต สัดส่วนร้อยละ 44.61 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 139,415.18 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 2.35 อันดับสาม การขายผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น โบรกเกอร์ , ระบบอินเตอร์เน็ต , เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือเดินเข้ามาซื้อด้วยตัวเอง สัดส่วนร้อยละ 4.74 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 14,827.25 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 34.01 และอันดับสี่ การขายผ่านช่องทางการตลาดแบบตรง สัดส่วนร้อยละ 2.26 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 7,051.13 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 10.04