ชง “กลต.” หนุนประกันไร้ไลเซนส์ เปิดทางสับกองยูนิตลิงก์-ตั้งไพรเวตฟันด์

สมาคมประกันชีวิตไทยชง ก.ล.ต.เปิดทางบริษัทประกันชีวิตที่ไม่มีไลเซนส์ “กองทุนส่วนบุคคล” สับเปลี่ยนกองทุนสำหรับลูกค้าที่ซื้อยูนิตลิงก์ได้ทันทีหากกองทุนเกิดปัญหา/ยกเลิก หวั่นลูกค้าเสียผลประโยชน์ เผย ก.ล.ต.แนะ คปภ.เห็นชอบแก้ไขประกาศหนุนบริษัทประกันทำไพรเวตฟันด์

นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาสมาคมได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เกี่ยวกับแนวทางที่จะให้บริษัทประกันชีวิตที่ไม่มีใบอนุญาตกองทุนส่วนบุคคล (private fund) สามารถจะทำการ “สับเปลี่ยน” กองทุนให้แก่ลูกค้าที่ซื้อแบบประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) ได้ทันทีในกรณีที่กองทุนนั้น ๆ เกิดปัญหา/ยกเลิก เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของลูกค้าเอาไว้โดยไม่ต้องมีการขอรับมอบอำนาจจากลูกค้าก่อน เนื่องจากสมาคมเห็นว่าตามกฎระเบียบใหม่ที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนของสำนักงาน ก.ล.ต.ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ค. 2562 นั้นไม่สามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทประกันชีวิตได้อธิบายและให้คำแนะนำกับผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ยูนิตลิงก์ได้เกิดความเข้าใจอยู่ก่อนหน้านี้แล้วก็สามารถทำได้ ซึ่ง ก.ล.ต.ได้แนะนำให้ทุกบริษัทประกันชีวิตที่ขายโปรดักต์นี้ควรให้ข้อมูลกับลูกค้าตั้งแต่เริ่มแรกว่า กรณีกองทุนเกิดปัญหาบริษัทสามารถสับเปลี่ยนกองหรือสลับ (switching) ไปไว้ในกองที่มีความเสี่ยงเหมือนกันได้ เพราะมิเช่นนั้นเงินส่วนนี้ต้องนำไปพักไว้ที่กองทุนตลาดเงิน (money market fund : MMF) จนกว่าจะมีคำสั่งยินยอมจากลูกค้าถึงจะนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนต่อได้

“ปัจจุบันลูกค้าต้องทำหนังสือเข้ามาหากว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกองทุน แต่หากไม่มีการติดต่อเข้ามาเงินส่วนนี้ก็จะถูกนำไปพักไว้ที่ MMF ซึ่งได้รับผลตอบแทนค่อนข้างน้อย” นายพิชากล่าว

ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.ยังได้เสนอแนะให้บริษัทประกันชีวิตที่ขายยูนิตลิงก์สามารถเข้ามาขอรับใบอนุญาต (license) บริหารกองทุนส่วนบุคคล (private fund) ได้ ซึ่งจะต้องดำเนินการขออนุมัติความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ.ก่อน แต่ปัจจุบัน คปภ.ยังไม่มีประกาศ/กฎเกณฑ์ที่เปิดช่องให้บริษัทประกันชีวิตสามารถจัดทำกองทุนส่วนบุคคลได้

นายพิชากล่าวเพิ่มเติมว่า ในการหารือข้างต้นนั้นทาง ก.ล.ต.ได้ขอให้ทางสมาคมกลับไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และนำมาเสนออีกรอบหนึ่ง โดยสมาคมอาจจะต้องตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ ถ้าต้องการจะทำกองทุนส่วนบุคคลบริษัทประกันชีวิตจะต้องมีการขอความเห็นชอบจาก คปภ.ด้วย

“การทำไพรเวตฟันด์ต้องแก้ไขกฎหมาย คปภ. ซึ่งมองว่ากระบวนการค่อนข้างยุ่งยาก รวมถึงบริษัทประกันต้องเสียค่าธรรมเนียมต่าง ๆ กับการได้ไลเซนส์ไพรเวตฟันด์ ซึ่งอาจจะไม่คุ้มกัน” นายพิชากล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทประกันชีวิต 2 รายเท่านั้น ได้แก่ บมจ.เอไอเอ ประเทศไทย และ บมจ.ไทยประกันชีวิต ที่สามารถจะสับเปลี่ยนกองให้กับลูกค้าที่ซื้อกรมธรรม์ยูนิตลิงก์ได้ทันที เนื่องจากดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายเดิมของ คปภ. ก่อนที่จะมีการแก้ไข

“ผมมองว่ากองทุนไพรเวตฟันด์เหมาะสำหรับบริษัทประกันชีวิตขนาดใหญ่ เพราะว่าเขามีไว้ในการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถ้าบริษัทประกันชีวิตรายอื่น ๆ จะดำเนินการมองว่ายังไงก็ไม่คุ้ม” นายพิชากล่าว

ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีความเป็นไปได้ที่ ก.ล.ต.จะเปิดโอกาสให้บริษัทประกันชีวิตเข้ามาขอไลเซนส์ทำกองทุนส่วนบุคคลได้ ซึ่งคาดว่า ก.ล.ต.จะมีการเจรจารายละเอียดกับ คปภ.เกี่ยวกับการเปิดช่องให้สามารถทำได้ เพียงแต่การดำเนินการแก้ไขตัวประกาศนี้คงต้องใช้เวลาพอสมควร

ส่วนความชัดเจนเรื่องที่ ก.ล.ต.จะอนุญาตให้ธุรกิจประกันชีวิตที่ไม่มีไลเซนส์กองทุนส่วนบุคคล สามารถบริหารกองทุนได้เหมือนกับไพรเวตฟันด์นั้น ตนยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ เนื่องจากจะต้องนำข้อมูลเสนอเพิ่มเติมอีกรอบหนึ่ง