AWC เกมเศรษฐี

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

วันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เข้าจดทะเบียนซื้อขายวันแรก ในฐานะหุ้นน้องใหม่ที่มีมูลค่าไอพีโอสูงสุดถึง 1.85 แสนล้านบาท

หุ้นเจ้าสัวไอพีโอเข้าตลาดย่อมไม่ธรรมดา เพราะ AWC ถือเป็นหุ้นใหญ่ที่เข้ามาเขย่า SET ที่ผ่านเกณฑ์พิเศษของตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถเข้าคำนวณในดัชนี SET50 และ SET100 ได้ทันที จากที่มีมาร์เก็ตแคปติด top 20 ของบริษัทในตลาดหุ้น หรือมีมาร์เก็ตแคปเกิน 1% พร้อม กับเขี่ย KKP และ BEAUTY หลุดออกไป

AWC เป็นอาณาจักรธุรกิจ ภายใต้การบริหารของนางวัลลภา ไตรโสรัส ลูกสาวคนที่สองของเจ้าสัวเจริญ พอร์ต ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจโรงแรม อสังหาฯเพื่อการพาณิชย์ อาคารสำนักงาน รวมทั้งศูนย์การค้าต่าง ๆ ซึ่งจากงบการเงิน ณ มิ.ย. 2562 AWC มีสินทรัพย์รวม 92,350.91 ล้านบาทและหนี้สินรวม 67,008.52 ล้านบาท

ขณะที่ปีที่ผ่านมาโชว์รายได้ 12,415.64 ล้านบาท แต่ตัวเลขกำไรสุทธิเพียง 489 ล้านบาท เรียกว่าเป็น “หุ้นใหญ่” แต่ “กำไรเล็ก” ทำให้อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) สูงกว่า 200 เท่า เรียกง่าย ๆ ว่าราคาหุ้นค่อนข้างแพง ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าราคาไอพีโอ 6 บาทนั้นเป็นราคาบวกอนาคตไปแล้ว แต่งานนี้เจ้าสัวเจริญก็ประสบความสำเร็จในการระดมทุนก้อนโตราว 4.8 หมื่นล้านบาท เข้ากระเป๋าเพื่อไปจ่ายหนี้และตุนเงินไว้สำหรับการลงทุนใหม่

สำหรับการนำ AWC เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นครั้งนี้ อาจเรียกว่าเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” เพราะเป็นการนำทรัพย์สินเดิมของตระกูลสิริวัฒนภักดี กลับเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นรอบใหม่ หลังจากเมื่อปี 2560 เจ้าสัวเจริญได้ซื้อคืนหน่วยลงทุนของ 3 กองทุนอสังหาฯ มูลค่ารวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท และถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯไป

ครั้งนั้นหลายฝ่ายก็จับตาว่าเจ้าสัวกำลังจะทำอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการเขย่าพอร์ตจัดระเบียบทรัพย์สิน และแต่งตัวใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และกลับมาระดมทุนในตลาดหุ้นอีกรอบ พร้อม ๆ กับความมั่งคั่งของเจ้าสัวที่เพิ่มมากขึ้น

และนอกจากส่ง AWC เข้าตลาดหุ้นแล้ว เจ้าสัวเจริญยังได้จัดทัพ “กลุ่มธุรกิจประกัน-การเงิน” ใหม่ด้วย โดยการนำบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ หรือ SEG เข้าจดทะเบียนตลาดหุ้นด้วยการแบ็กดอร์เมื่อ 30 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา สำหรับอาณาจักร SEG อยู่ภายใต้การบริหารของนายโชติพัฒน์ และนางอาทินันท์ พีชานนท์ (ลูกเขยและลูกสาวคนโตเจ้าสัวเจริญ) และในปีนี้ เจ้าสัวเจริญยังได้เขย่าพอร์ตธุรกิจ บมจ.เฟรเซอร์ส

พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) หรือ FPT บริษัทน้องใหม่ของตระกูล ที่มอบหมายให้นายปณต สิริวัฒนภักดี (ลูกชายคนเล็ก) ดูแล ซึ่งได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นด้วยการแบ็กดอร์เช่นกัน จากการซื้อ บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล เมื่อปลายปี 2561 และกลางปีที่ผ่านมาก็ได้โยก บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือโกลเด้นแลนด์ ธุรกิจอสังหาฯอีกขาของเจ้าสัวเข้ามาไว้ในพอร์ต FPT พร้อมกับตั้งเป้าปักธงให้ FPT ก้าวสู่ผู้นำอสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจรในประเทศและภูมิภาคอาเซียน

เรียกว่าช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เจ้าสัวเจริญมหาเศรษฐีของเมืองไทยได้จัดพอร์ต 3 กลุ่มธุรกิจใหม่ เข้ามาเสริมทัพกับ บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ยักษ์อุปโภคบริโภค-ค้าปลีก ที่มีนายอัศวิน-นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล (ลูกเขยลูกสาว) กุมบังเหียน และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ภายใต้การนำทัพของนายฐาปน สิริวัฒนภักดี

จากมูลค่าสินทรัพย์ทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจที่อยู่ภายใต้การบริหารของลูกสาวและลูกชายทั้ง 5 คน คร่าว ๆ ก็ประมาณ 1 ล้านล้านบาท การเขย่าพอร์ตจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ พร้อมกับการจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งหมด นอกจากเป็นช่องทางระดมทุนสร้างการเติบโต อีกมุมก็คงเป็นการจัดการสมบัติจำนวนมหาศาล พร้อมส่งต่อให้ทายาทแต่ละคนก่อนที่เจ้าสัวจะวางมือนั่นเอง