“ออมสิน” ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปี’63 โต 4-5% คุม NPL ไม่เกิน 3%

ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

ออมสิน กางแผนดำเนินงาน ปี2563 ปล่อยสินเชื่อโต 4-5% พร้อมควบคุม NPL ไม่ให้เกิน 3% ขยายฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 41% ของประชากรทั้งประเทศ ใช้แนวคิด GSB SUSTAINABLE BANKING เป็นกลไกสำคัญสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน ปรับเปลี่ยนการให้บริการแบบเดิมไปสู่ “Delivery Banking”

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า แผนดำเนินงานของธนาคารในปี 2563 ได้ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเพิ่ม 550,000 ล้านบาท หรือเติบโต 4-5% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะควบคุมไม่ให้เกิน 3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.72% พร้อมตั้งเป้าสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.9 ล้านล้านบาท เติบโต 3.5% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่เงินฝากตั้งเป้าเพิ่มสุทธิกว่า 75,000 ล้านบาท หรือเติบโต 3% รวมทั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 41% ของประชากรทั้งประเทศ

สำหรับในปีนี้ธนาคารจะใช้แนวคิด GSB SUSTAINABLE BANKING เป็นกลไกผลักดันยุทธศาสตร์ 3 ธนาคาร เพื่อมุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วย Traditional Banking โดยจะปรับเปลี่ยนการให้บริการแบบเดิมไปสู่ “Delivery Banking” ผ่านบริการ QUEUE Application ซึ่งจะออกไปให้บริการตามที่ลูกค้านัดหมายผ่าน app ซึ่งจะมีทั้งรถยนต์บริการเคลื่อนที่ เรือออมสิน หรือพนักงานออกไปให้บริการยังจุดที่ลูกค้าสะดวก ด้วยเครื่องมือให้บริการในชื่อ SUMO โดยสามารถให้บริการทั้งรับฝากเงิน เปิดบัญชีเงินฝาก ฝากสลากออมสิน ฝากเงินกองทุนต่างๆ เป็นต้น ซึ่งปีนี้จะมีจำนวนถึง 3,700 เครื่องออกไปให้บริการ

ขณะเดียวกัน ได้เตรียมพัฒนาศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (GSB Contact Center) เพื่อยกระดับการให้บริการและตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้า โดยเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมทุกความคิดเห็น ข้อร้องเรียน และเสนอแนะของลูกค้าจากทุกรูปแบบช่องทางการสื่อสาร (Omni-Channel) ขณะเดียวกัน ธนาคารยังพร้อมเป็นองค์กรหลักที่ให้บริการในรูปแบบ ATM White Label กับสถาบันการเงินอื่น ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งธนาคารได้เตรียมติดตั้ง ATM ใหม่กว่า 5,000 เครื่อง ทั้งทดแทนเครื่องเดิมและเพิ่มเติมในจุดที่มีศักยภาพครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

พร้อมกันนี้ ธนาคารจะปรับเปลี่ยนบทบาทสาขา Social Branch เป็นศูนย์พัฒนาสู่ความยั่งยืน Sustainable Banking Center ที่จะมีสาขาดูแลด้านสังคมโดยเฉพาะ รวมถึงมีบริการศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน ศูนย์แก้ไขหนี้นอกระบบ ศูนย์พัฒนาอาชีพ ศูนย์แก้ไขหนี้นอกระบบ ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวในท้องถิ่น จุดให้บริการครบ 100 สาขา ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งจะมีการปรับบทบาทสำนักสินเชื่อธุรกิจลูกค้าเอสเอ็มอี ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ 82 ศูนย์ เป็นศูนย์กลางพัฒนาส่งเสริมเอสเอ็มอี (SMEs Development Center) ให้สามารถสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีได้อย่างครบวงจร

ทั้งนี้ Digital Banking ในปีนี้ธนาคาร มีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการและช่องทางต่างๆ ให้มีบริการที่รวดเร็วและทันสมัยมากยิ่งขึ้นในโลกยุคดิจิทัล พร้อมทั้งสร้างความสะดวกสบายบน Digital Platform ใหม่ๆ ตอบสนองทุกช่วงชีวิตของลูกค้า ผ่านการพัฒนา New Feature ของ Mobile Application : Mymo โดยปีนี้มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการ MyMo จาก 8 ล้านรายในปี 2562 เป็น 13 ล้านรายในปี 2563 และเป็น 18 ล้านรายในปี 2564