ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019 และผลเบื้องต้นต่อเศรษฐกิจโลกและตลาด

คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก
โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม บลจ.วรรณ

การระบาดอย่างไม่คาดฝันของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019-nCoV) ในจีนและเริ่มระบาดไปทั่วโลก การปิดหลายเมืองในประเทศจีนและจำกัดการคมนาคมในประเทศรวมทั้งการเดินทางไปต่างประเทศของคนจีนสร้างความกังวลและความกลัวต่อการระบาดของโรค โดยขณะนี้ (ณ 6 ก.พ. 63) มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 28,344 คน และเสียชีวิต 565 คน แต่จำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตในจีนคิดเป็นร้อยละ 99 ของยอดรวม กล่าวได้ว่าความรุนแรงของ 2019-nCoV กระจุกอยู่ในประเทศจีนเป็นหลัก

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) ขององค์กรอนามัยโลก (WHO) 4 ครั้ง รวมครั้งล่าสุดนี้เป็นครั้งที่ 5 แต่ไม่มีครั้งไหนที่สาธารณชนทั่วโลกมีความกังวลขนาดนี้มาก่อนทั้ง ๆ ที่อัตราผู้เสียชีวิตจาก 2019-nCoV ต่ำมากสะท้อนจิตวิทยามวลชนที่กลัว เมื่อเห็นมาตรการจำกัดการระบาดของจีนซึ่งเข้มงวดมากและไม่เคยเห็นมาก่อนตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ผมมีมุมมองเบื้องต้นต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดดังต่อไปนี้

1) ในเชิงการระบาดและอัตราผู้เสียชีวิตจากการระบาดพบว่า 2019-nCoV มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า SARS MERS และไวรัสซิกา แต่จำนวนผู้ติดเชื้อ ณ ขณะนี้ของ 2019-nCoV อยู่ที่ 28,344 คน น้อยกว่าอีโบลาซึ่งอยู่ที่ 34,453 คน แต่เป็นไปได้ที่อีกไม่นานจำนวนผู้ติดเชื้อ 2019-nCoV จะสูงกว่าอีโบลา แต่จุดเด่นที่แตกต่างที่สุดของ 2019-nCoV คือ อัตราการเสียชีวิตที่ 2% อยู่ในระดับต่ำมาก

เราสามารถประเมินเบื้องต้นได้ว่า 2019-nCoV ระบาดง่ายดายกว่าโรคระบาดที่ถูกประกาศ PHEIC ของ WHO ในรอบ 20 ปี การที่ระบาดง่ายแต่อัตราการเสียชีวิตต่ำ เป็นไปได้ที่จำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะสูงกว่าการระบาดที่ถูกประกาศสถานการณ์ PHEIC ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

แต่ปัจจัยบวกที่จะทำให้การระบาดลดลงคือ การที่รัฐบาลจีนเมื่อตระหนักถึงสถานการณ์รีบดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อยับยั้งการระบาดไม่ให้แพร่กระจายไป หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ประเมินว่า ณ สิ้นเดือน ม.ค. 63 การปิดเมืองและกักกันคนให้อยู่พื้นที่ควบคุมห้ามเข้าออกนั้นกระทบต่อคนจีนไม่ต่ำกว่า 60 ล้านคนที่ไม่สามารถออกนอกเมืองได้ ในแง่นี้ จีนได้มีมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเต็มที่ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ WHO ชื่นชมจีน

2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ขนาดเศรษฐกิจจีนปัจจุบันประมาณ 16% ของเศรษฐกิจโลกและบทบาทภาคบริการในเศรษฐกิจจีนที่สูงมากทำให้ผลกระทบการระบาดต่อเศรษฐกิจจีนจะอยู่ระดับสูงและส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกครึ่งแรกปี 2020 ให้ชะลอลงชั่วคราว โดยจีนจะได้รับผลลบมากที่สุดจากปิดเมืองและจำกัดการเดินทางซึ่งกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศและส่งผลลบต่อเนื่องสู่ประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ขณะที่ประเทศต่าง ๆ นอกจากได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากจีนแล้วยังจะต้องเผชิญผลลบจากปัจจัยการระบาดในประเทศของตนเช่นกัน

ผมคาดว่าผลกระทบเชิงลบครั้งนี้เป็นผลกระทบชั่วคราวเช่นเดียวกับการระบาดของโรคครั้งก่อนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (SARS, MERS, H5N1, EBOLA ช่วงระบาดประมาณ 3-18 เดือน) ปัจจัยบวกคือ นโยบายการเงินทั่วโลกอยู่ในทิศทางเดียวกันคือผ่อนคลายและกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยลดผลลบจากการระบาดระดับหนึ่งและคาดว่าจีนจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังควบคุมการระบาดได้ ดังนั้น การปรับลงของดัชนีหุ้นจีนในไตรมาสแรก 2020 ถ้าดัชนีหุ้นรับรู้ผลลบของการระบาดโดยปรับลงมามากพอคือ ประมาณ -8% ขึ้นไปจากระดับสูงสุดล่าสุดจะเป็นโอกาสลงทุนในหุ้นจีนคุณภาพดี

3) ในเชิงตลาดการเงินและการลงทุน ก่อนการระบาดไวรัสอย่างเป็นทางการ ผลสำรวจผู้จัดการกองทุนทั่วโลกล่าสุดในต้น ม.ค. 63 (สำรวจโดย Bank of America Merrill Lynch) พบว่า นักลงทุนสถาบันทั่วโลกเน้นลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่องโดยเฉพาะหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐและยุโรปรวมทั้งหุ้น Growth ทั่วโลก ผมคิดว่าหุ้นเอเชียจะได้รับผลกระทบระยะสั้นจากการระบาดของไวรัส 2019-nCoV มากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ขณะที่กลุ่ม Defensive ไม่ว่าจะเป็นในเอเชียและทั่วโลกจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ด้วยเหตุที่นักลงทุนทั่วโลกอิงประสบการณ์การระบาดของ SARS ปี 2547 ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจจีนมีน้ำหนักประมาณ 4 % ของเศรษฐกิจโลกต่างจากปัจจุบันที่บทบาทของเศรษฐกิจจีนสูงมากต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งที่ลงทุนในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐและยุโรปประเมินผลกระทบของเศรษฐกิจจีนที่จะชะลอตัวลงมากต่อหุ้นในสหรัฐและยุโรปต่ำเกินไป ขณะที่ในวันแรก หลังการกลับมาเปิดทำการของตลาดหุ้นจีน (3 ก.พ.) ดัชนีตลาดหุ้นจีนปรับลงประมาณ -8% ถึง -9% ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวในวันต่อมา กล่าวได้ว่าการปรับตัวลงของหุ้นจีนและเอเชียนั้น รับรู้ผลกระทบเชิงลบไปแค่บางส่วนเท่านั้น ขณะที่หุ้นยุโรปและสหรัฐนั้นราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นตลอดเสมือนว่านักลงทุนประเมินว่าไม่ได้รับผลกระทบจากจีนเลย ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง


คำแนะนำของผมคือ รอให้ราคาหุ้นของจีนลงจากระดับสูงสุดของปีཻ ประมาณ 8% ขึ้นไปจึงค่อยพิจารณาการลงทุน ขณะที่หุ้นยุโรปและสหรัฐ อาจจะต้องรอให้ราคาลดลงจากระดับสูงสุดของปีཻ ประมาณ 6% ขึ้นไปจึงค่อยพิจารณาเข้าลงทุน