เงินท่วมหมู่บ้าน ธ.ก.ส.-ออมสิน จัดให้ 7 หมื่นล้าน มี.ค. นี้เงินออก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการเกษตรเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวนโยบายประชารัฐสร้างไทย โดยการสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรคือการมุ่งไปที่การสร้างความสามารถให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีระบบการผลิตและเครื่องมือทางการเกษตร เครื่องจักรทางการผลิต สำหรับเกษตรกร

“ได้ให้นโยบายกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสินเป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมความพร้อมเรื่องเครื่องจักรการเกษตรให้กับเกษตรกรโดยอาจใช้ทั้งรูปแบบการปล่อยสินเชื่อ การให้ชุมชน สหกรณ์การเกษตรเช่าซื้อ หรือการที่ธนาคารจะเป็นผู้ลงทุนปัจจัยการผลิตเหล่านี้แล้วให้เกษตรกรเป็นผู้เช่า ซึ่งโมเดลนี้จะทำให้มีเครื่องจักรทางการเกษตรซึ่งค่อนข้างมีราคาสูงที่เกษตรกรพร้อมสำหรับการใช้งาน โดยรูปแบบนี้บริษัทขนาดใหญ่ เช่น ปตท. ก็สามารถที่จะนำไปใช้ลงทุนเพื่อช่วยเกษตรกรได้ โดยจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีกับบีโอไอด้วย”

สำหรับการหารือกับนายโนบุฮิโกะ ซาซากิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ประเทศญี่ปุ่น และธนาคารโนรินจูคิน (The Norinchukin Bank) ซึ่งเป็นธนาคารด้านการเกษตรของญี่ปุ่น การหารือกับทั้งสองหน่วยงานของญี่ปุ่นเพื่อให้ช่วยพัฒนาภาคเกษตรของไทยตามแนวนโยบายการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมญี่ปุ่นมีความพร้อม

ทั้งนี้ ในการหารือกับเจโทรได้ขอให้เจโทรเข้ามาช่วยพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมในประเทศไทยเนื่องจากเจโทรมีเครือข่ายและดูแลบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากที่มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีและเครื่องมือการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตรจำนวนมาก และมีความรู้ในเรื่องการเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตรไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นเครื่องสำอาง อาหารแปรรูป ซึ่งมีมูลค่าเพิ่ม และเจโทรยังมีประสบการณ์ในการทำตลาดสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยใช้วิธีการเรียกผู้ซื้อ (Buyers) จากทั่วโลกมาเจรจาต่อรองทำให้ญี่ปุ่นมีจุดเด่นเรื่องการขายสินค้าเกษตรแปรรูปไปยังตลาดโลกได้มาก

ส่วนธนาคารโนรินจูคิน ซึ่งดำเนินการคล้ายกับ ธ.ก.ส. ไทยแต่ใหญ่กว่า ธ.ก.ส. ถึง 15 เท่า จึงจะให้ ธ.ก.ส.ไปเชื่อมโยงการทำงานและนำโมเดลและคนของเขามาช่วย รวมทั้งให้สอดรับกับที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุนได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทที่เข้าไปลงทุนในชุมชนด้วย

“ไทยได้วางแนวทางปฎิรูปเศรษฐกิจฐานราก ให้เข้าถึงเงินทุน และเชื่อมโยงการตลาดในต่างประเทศด้วยซึ่งทั้งเจโทรและนูรินโจคินจะเข้ามาช่วยเรื่องนี้” 

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อการเกษตรและสหกรณ์จะต้องหาโมเดลให้ชุมชนเกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรทางการเกษตรโดยง่ายให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการให้เช่า ถ้าหากกฏหมาย ธ.ก.ส.ทำเองไม่ได้ ก็อาจใช้วิธีตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการ หรือใช้วิธีเช่าซื้อเพื่อให้ชุมชนได้เป็นเครื่องจักร หรืออาจให้กองทุนหมู่บ้านมากู้ มีการจัดวงเงินสินเชื่อสำหรับเครื่องจักรการเกษตร 20,000 ล้านบาท ซึ่งจากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. เพิ่มทุน 20,000 ล้านบาท เงินงวดแรกที่จะเพิ่มทุนให้ 6,000 ล้านบาทจะถึงมือ ธ.ก.ส. เดือน มี.ค.นี้ ส่งผลให้ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้เพิ่มได้อีก 10 เท่า

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล และกระทรวงการคลังให้ทำภารกิจมากขึ้นนอกจากการดูแลเกษตรกรยังให้ช่วยดูแลเศรษฐกิจฐานรากซึ่งครอบคลุมทั้งการพัฒนาเกษตรกรสมัยใหม่ (smart farmers) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สตาร์ทอัพภาคเกษตร การพัฒนาวิสาหกิจเกษตรชุมชน การช่วยเหลือให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรการเกษตรของเกษตรกร และการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน

“ธ.ก.ส. ได้เตรียมวงเงินสินเชื่อไว้สนับสนุนภารกิจต่างๆ 5 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 0.01% โดยเริ่มปล่อยสินเชื่อตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา โครงการนี้มีระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อ 3 ปี ซึ่งวางเป้าหมายว่าในปี 2563 จะปล่อยกู้ได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นยังมีวงเงินสินเชื่อที่ ธ.ก.ส. ได้เตรียมไว้สำหรับการสนับสนุนเครื่องจักรการเกษตรโดยเฉพาะวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาในการชำระคืน 5 ปี”

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวถึงผลการหารือกับ ธนาคารโนรินจูคิน (The Norinchukin Bank) ซึ่งเป็นธนาคารด้านการเกษตรของญี่ปุ่นเพื่อนำรูปแบบที่เหมาะสมมาใช้ในไทย จะเป็นการดำเนินการในหมู่บ้านต้นแบบก่อนจะขยายผลไปทั่วประเทศ ในการหาเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตเพื่อแปรรูปสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และให้ ธ.ก.ส. ร่วมมือกับกรมพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งสถาบัน “New Gen” เพื่อพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่เพื่อรองรับการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมในอนาคต