เงินบาทแข็งค่า ส่งออกไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 6 ธันวาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (5/12) ที่ระดับ 32.462/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบโดยตลาดกำลังจับตาดูความคืบหนัาของร่างปฏิรูปกฎหมายภาษีสหรัฐ นอกจากนี้การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนธันวาคม คาดว่าจะไม่สร้างแรงกดดันต่อตลาดการเงินไทย ในการประชุมนโยบายการเงินรอบสุดท้ายของปี หลังพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี ขณะที่การปรับลดขนาดงบดุลไม่ได้ส่งผลต่อตลาดการเงินของสหรัฐ อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การส่งสัญญาณถึงมุมมองของเศรษฐกิจ และแนวโน้มระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมในระยะข้างหน้า พร้อมมองว่าเฟดน่าจะอยู่บนเส้นทางของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในปี 2561 จากปัจจัยสนับสนุนจากขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ขยายตัวได้ดีกว่าระดับศักยภาพ รวมทั้งสัญญาณเชิงบวกของเงินเฟ้อ ที่คงทยอยกลับมาอีกครั้งหลังปัจจัยกดดันชั่วคราวหมดลง ทั้งนี้พัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐ ในช่วงที่ผ่านมาได้พิสูจน์ถึงความยั่งยืนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ผ่านพัฒนาการของตลาดแรงงานและเครื่องชี้เศรษฐกิจทั้งด้านการบริโภคและการผลิตที่ยังคงมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่อง แม้ว่าเฟดจะได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 2 ครั้งในปีนี้ รวมทั้งได้เริ่มกระบวนการปรับลดงบดุลในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยภาพของการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งสะท้อนจากการขยายตัวของจีดีพีไตรมาส 3/60 ที่ขยายตัว 3.3% สูงสุดในรอบกว่า 3 ปี โดยภาพดังกล่าวได้สนับสนุนให้เฟดสามารถดำเนินนโยบายการเงินให้เป็นปกติมากขึ้น โดยเฟดคงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ ตามที่เฟดได้ส่งสัญญาณไว้

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น น.ส.กัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยในปี 2560 จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 8.5-9% ขณะที่ปี 61 คาดว่าการส่งออกจะโตได้ราว 5% โดยได้รับอานิสงส์จาก 2 ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ 1.การขยายตัวดีขึ้นของการค้าระหว่างประเทศโดยรวมทั่วโลก และสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐ จีน และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มเอเชียใต้ ออสเตรเลีย ละตินอเมริกา ที่พลิกกลับมาโตช่วงต้นไตรมาส 4 สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของปริมาณสินค้าที่ขนส่งทั้งทางทะเลและทางอากาศระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่าน 2.การฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เหล็ก ยางพารา และผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และความต้องการสินค้าเพื่อนไปผลิตต่อ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 32.57-32.635 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 32.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (6/12) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1825/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (5/12) ที่ระดับ 1.1853/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันหลังจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการเจรจา Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป (EU) หลังนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของอังกฤษ และนายฌอง-คล็อต ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการผลักดันการเจรจา Brexit ให้เดินหน้าสู่ขั้นตอนที่สองได้ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1814-1.148 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1813/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (6/12) เปิดตลาดที่ระดับ 112.37/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (5/12) ที่ระดับ 112.59/61เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลก อาทิ ความคืบหน้าของร่างปฏิรูปกฎหมายภาษีของสหรัฐ การสอบสวนกรณีความเชื่อมโยงระหว่างทำเนียบขาวกับรัสเซีย การจัดตั้งรัฐบาลในเยอรมนี การเจรจากรณี Brexit และความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 112.00-112.65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 112.14/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จ้างงานภาคเอกชนเดือนพฤศจิกายนจาก ADP (6/12) และผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยไตรมาส 3/2560 (6/12) และกระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพฤศจิกายน (8/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.25/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.0/-2.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ