“ชาญกฤช” ชี้ลงทะเบียนรับเงิน 5 พันบาท ผ่านเว็บเราไม่ทิ้งกัน.com ระบบทำธุรกรรมได้ 3.48 ล้านคนต่อนาที

วันที่ 28 มีนาคม 2563 นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวว่า เว็บไซด์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่ใช้ลงทะเบียนรับสิทธิ์เงินเยียวยาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน มีความพร้อมที่จะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 18.00 น.ของวันนี้ (28 มี.ค.63) เป็นต้นไป ซึ่งทุกคนสามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ทุกช่วงเวลา เนื่องจากเปิดตลอด 24 ชั่วโมง จึงไม่จำเป็นต้องแห่มาลงทะเบียนตั้งแต่วันแรก เพราะยังมีเวลาให้ทุกคนเตรียมข้อมูลส่วนตัว โดยระบบสามารถรองรับการทำธุรกรรมได้ถึง 58,000 รายการในเวลาเดียวกัน หรือคิดเป็นจำนวน 3.48 ล้านคนต่อนาที

โดยคาดว่าระบบจะสามารถรองรับจำนวนประชาชนที่ต้องการเข้ามาลงทะเบียนออนไลน์ได้แบบไร้กังวล และขอย้ำให้ผู้ลงทะเบียนควรใช้โทรศัพท์มือถือประจำตัวที่สามารถติดต่อสื่อสารถึงผู้ใช้สิทธิ์ เพื่อระบบจะได้แจ้งผลการลงทะเบียนและสิทธิ์ตามมาตรการตอบกลับมายังผู้ลงทะเบียนผ่านทางข้อความ SMS เมื่อลงทะเบียนแล้ว ระบบพร้อมจ่ายเงินเยียวยาเข้าบัญชีเร็วสุดภายใน 7 วันทำการ โดยจะโอนเงินให้บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน ผ่านบัญชีธนาคารที่มีชื่อและนามสกุลเจ้าของบัญชีตรงกับชื่อและนามสกุลนำมาลงทะเบียน โดยการลงทะเบียนรับสิทธิ์ครั้งนี้แตกต่างจากโครงการ ชิม ช้อป ใช้ ที่ใครลงก่อนได้ก่อน แต่มาตรการรับเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะให้สิทธิ์เฉพาะคนที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ระบุไว้เท่านั้น คือผู้ลงทะเบียนต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เป็นผู้ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ให้เตรียมหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลประกอบอาชีพ ข้อมูลนายจ้าง โดยกระทรวงการคลังอยากให้คนเดือนร้อนจริงๆ เข้ามาลงทะเบียน

สำหรับระบบคัดกรองคุณสมบัติผู้ที่ได้สิทธิ์รับเงินเยี่ยวยาจำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน พฤษภาคม และ มิถุนายน โดยทางธนาคารกรุงไทยนำระบบ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาใช้ในการคัดกรองคุณสมบัติผู้ลงทะเบียน ซึ่งมีความถูกต้องแม่นยำสูง โดยทางกระทรวงการคลังมั่นใจว่าจะช่วยลดปัญหาและป้องกันการสวมสิทธิ์จากพวกมิจฉาชีพได้ ทั้งนี้ หากมีผู้ลงทะเบียนและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติมากกว่า 3 ล้านคนจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ กระทรวงการคลังพร้อมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากเดิมที่เสนอไว้ 45,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ทางกระทรวงการคลังยังจัดตั้งศูนย์เครือข่ายช่วยเหลือ เพื่อรับร้องเรียนจากประชาชน โดยมอบหมายให้กรมบัญชีกลาง ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกัน เพื่อประสานแนวทางแก้ปัญหาหนี้ ทั้งเงินกู้ฉุกเฉิน วงเงินไม่เกิน 10,000 บาทต่อคน อัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.1% ไม่ต้องใช้หลักประกัน ซึ่ง 6 เดือนแรกไม่ต้องจ่ายทั้งต้นและดอก ส่วนเดือนที่ 7 เริ่มผ่อนจ่ายยาวไปเป็นเวลานานถึง 24 เดือน หรือผ่อนชำระไม่ถึง 500 บาทต่อเดือน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนที่เดือดร้อน ป้องกันการเป็นหนี้นอกระบบ โดยมอบให้ธนาคารออมสินและ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ดูแล ส่วนสินเชื่อพิเศษ วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน อัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.35% แต่ต้องมีหลักประกันคือสลิปเงินเดือน ส่วนเงื่อนไขการผ่อนชำระขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคล โดยโครงการนี้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ดูแล สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ สามารถติดต่อทั้ง 3 หน่วยงานนี้ผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19


“เราไม่ทิ้งกัน” นายชาญกฤช กล่าวปิดท้าย