4 บิ๊กรุกบีโอไอ ขอส่งเสริมจักรยานยนต์อีวี-ไฮบริด

AFP PHOTO / TOSHIFUMI KITAMURA

กลุ่มมอเตอร์ไซค์สบช่อง ก๊อบปี้แบบค่ายรถยนต์ ผนึกกำลังรุกรัฐหนุนแพ็กเกจส่งเสริมสองล้อไฮบริดและอีวี ลั่นแจ้งเกิดได้เร็วกว่า “ฮอนด้า” เอาแน่จ้องส่งทั้ง 2 ประเภทลงตลาดภายในปีนี้ “ยามาฮ่า” เผยปลายปีได้ยลโฉม “บีโอไอ” จ้องให้สิทธิประโยชน์อื่น ไม่เกี่ยวกับภาษีสรรพสามิต

ภายหลังรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผ่านฉลุยโครงการรถยนต์ไฟฟ้า 3 ประเภท ไฮบริด, ปลั๊ก-อินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สิทธิประโยชน์กับผู้ลงทุนมากมาย ทั้งภาษีเงินได้ ภาษีเครื่องจักร ภาษีวัตถุดิบ รวมทั้งปรับลดภาษีสรรพสามิต ปรากฏว่าเร็ว ๆ นี้ได้มีการรวมตัวของกลุ่มรถจักรยานยนต์ที่จะเสนอขอแพ็กเกจส่งเสริมเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรถยนต์

แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สมาชิกในกลุ่มซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์จากทั่วประเทศ ได้มีการหารือถึงโอกาสที่จะผลักดันให้รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตรถจักรยานยนต์ ทั้งประเภทไฮบริดและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ซึ่งมั่นใจว่า กระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ทำได้ง่ายกว่ารถยนต์หลายเท่าตัว ทั้งนี้จากการหารือกันหลายครั้ง คาดว่าน่าจะสามารถนำเสนอต่อบีโอไอได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้

“อย่างแรกคือเราเห็นว่าประเทศไทยเป็นฐานผลิตที่สำคัญของโลก และใหญ่สุดในภูมิภาคนี้ ประกอบกับทุกยี่ห้อตอนนี้มีเทคโนโลยีก้าวไปสู่มอเตอร์ไซค์ไฮบริดและมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแล้ว ถ้ารัฐบาลให้การสนับสนุนทุกอย่างน่าจะวิ่งได้เร็ว ภายใน 3 ปีน่าจะเห็นหน้าเห็นหลัง เพราะไม่ซับซ้อนเหมือนรถยนต์ สอดรับกับประเทศไทย 4.0 พอดี และสามารถตอบรับเทรนด์อุตสาหกรรมได้อย่างลงตัว ทั้งประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า จริง ๆ มอเตอร์ไซค์ทั้งไฮบริดและไฟฟ้า ปัจจุบันสามารถนำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่าย โดยเฉพาะญี่ปุ่นตามกรอบเจเทป้า แต่ระดับราคายังค่อนข้างสูงทำให้ไม่แพร่หลาย แต่ถ้าแต่ละยี่ห้อลงมือผลิตโดยมีรัฐบาลไทยให้การสนับสนุน จะทำให้ราคาต่ำลงมาก และน่าจะมีการใช้งานอย่างกว้างขวาง

“ล่าสุดทั้ง 4 ยี่ห้อ ยังนำเสนอว่าถ้าเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า น่าจะใช้ชิ้นส่วนวัตถุดิบรวมกันได้ โดยเฉพาะมอเตอร์ไฟฟ้า ชุดคอนโทรลต่าง ๆ รวมทั้งแบตเตอรี่ ซึ่งจะทำให้ได้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงด้วย”

ส่วนประเด็นที่ถกเถียงกันมากในการหารือ คือมอเตอร์ไซค์ไฮบริดและไฟฟ้า ปัจจุบันยังไม่มีกฎ-กติกาที่ชัดเจน ทั้งด้านมาตรฐานและความปลอดภัย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาระหว่างการใช้งาน ตัวอย่างเช่น มาตรฐานสายไฟ, แบตเตอรี่ เพราะจุดติดตั้งน่าจะอยู่ใต้เบาะ หากเกิดการชน หรือล้มอาจระเบิดเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ง่าย

นายโยอิจิ มิซึทานิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด กล่าวว่าปีนี้ฮอนด้ามีแผนแนะนำรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ถึง 10 รุ่น และในจำนวนนั้นจะมีรถจักรยานยนต์ไฮบริดและจักรยานยนต์ไฟฟ้ารวมอยู่ด้วย ซึ่งทั้ง 2 ประเภทฮอนด้าอวดโฉมให้เห็นแล้วในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมาซึ่งสอดคล้องกับนายสุชาติ อรุณแสงโรจน์ รองประธานกรรมการบริหาร ที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ฮอนด้าจะนำรถจักรยานยนต์ไฮบริดและจักรยานยนต์แบบอิเล็กทริก (อีวี) เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย เป็นประเทศแรก ๆ ส่วนจะขึ้นไลน์ผลิตในประเทศไทยหรือไม่ยังไม่สามารถระบุได้

“เราเคยเข้าไปคุยกับทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะผลิตรถจักรยานยนต์ไฮบริดและจักรยานยนต์ไฟฟ้า เหมือนเช่นเดียวกับการสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนที่ให้กลุ่มรถยนต์ แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน”

สำหรับมาตรการหลักที่ผู้ประกอบการเสนอไปยังภาครัฐ เน้นให้ความช่วยเหลือทั้งการสนับสนุนยกเว้นภาษีแบตเตอรี่ รวมทั้งการสนับสนุนผู้ใช้นำรถเก่ามาเปลี่ยนเป็นรถจักรยานยนต์ไฮบริด หรือไฟฟ้า เหมือนในต่างประเทศ ซึ่งฮอนด้าเองอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดต่าง ๆ

ด้านนางสาวจินตนา อุดมทรัพย์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่า จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ยามาฮ่าพร้อมแนะนำรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าไฮบริดออกสู่ตลาด 1 รุ่น และต้องการทำตลาดอย่างจริงจัง ขณะที่แผนผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้านั้นอยู่ในแผนงานระยะกลาง 3-5 ปี จากนี้หากยามาฮ่าตัดสินใจลงทุนแน่นอนว่าจะต้องพร้อมขึ้นไลน์ผลิตในโรงงานยามาฮ่าประเทศไทยแน่นอน

“ตอนนี้เราหารือกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิดว่าทั้งไฮบริดและไฟฟ้าจะส่งเสริมไปในทิศทางใด จะคล้าย ๆ กับผู้ผลิตรถยนต์ได้หรือไม่ เรื่องผลิตไม่ใช่เรื่องยาก เพราะทุกคนต่างมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง และเดินหน้าพัฒนากันอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว” นางสาวจินตนากล่าว

ไม่ต่างจากผู้บริหารจากไทยซูซูกิ ซึ่งยอมรับว่ากำลังศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ยังกังวลเรื่องความปลอดภัยและแหล่งพลังงาน อย่างไรก็ตาม หากมีการสนับสนุนและผลักดันรถจักรยานยนต์ทั้ง 2 ประเภทจริงจัง บริษัทแม่น่าจะมีนโยบายขับเคลื่อนได้ทันที

ปัจจุบันอัตราจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ขนาดไม่เกิน 150 ซีซี เก็บอัตรา 2.5%, ขนาด 150-500 ซีซี เก็บอัตรา 4%, ขนาด 500-1,000 ซีซี เก็บอัตรา 8% และขนาดมากกว่า 1,000 ซีซีขึ้นไป เก็บอัตรา 17% ส่วนของรถจักรยานยนต์ประเภทอื่น ๆ นั้นไม่มีการจัดเก็บหรือจัดเก็บในอัตรา 0% เช่นเดียวกับการนำเข้ารถจักรยานยนต์ไฮบริดและไฟฟ้าทั้งคันจากจีนที่ไม่ต้องเสียภาษี

“มอเตอร์ไซค์ต่างจากรถยนต์ เพราะไม่ได้เก็บตามค่าการปล่อยไอเสีย แต่ภาครัฐบาลมีแนวคิดจะเดินตามกรอบรถยนต์ ส่วนภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งใช้กับมอเตอร์ไซค์ไฮบริดและมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ปัจจุบันเสียภาษี 2 สเต็ป คือ ภาษีแบตเตอรี่ 10% และภาษีนำเข้าชิ้นส่วนอีกประมาณ 20-30%”

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีจำหน่ายในประเทศราว ๆ 1,000 คันต่อปี และทั้งหมดเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ยังไม่มีรายใดผลิตเพื่อขายในประเทศหรือส่งออก และยังพบว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายอดขายลดลง เนื่องจากใช้เวลาในการชาร์จนานเกินไป อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่ประเทศไทยจะผลิตเองได้เช่นกัน เพราะเบื้องต้น บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ที่ลงทุนทำสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แล้ว ซึ่งในอนาคตเขาน่าจะสามารถพัฒนาไปสู่สถานีชาร์จรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้เช่นกัน ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาส่งเสริมให้เหมือนแพ็กเกจรถยนต์

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้